‘หมอปิยะสกล’ น้อมนำพระบรมราโชวาท เปลี่ยนความเศร้าเป็นพลัง

หมายเหตุ – นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ในฐานะหนึ่งในทีมแพทย์ถวายการรักษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ให้สัมภาษณ์ “มติชน” ถึงการเปลี่ยนความโทมนัสเป็นพลัง โดยยึดแนวพระบรมราโชวาทของพระองค์มาปรับใช้ เฉกเช่นคนใน สธ.ที่น้อมนำมาปฏิบัติตาม

นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร

นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)

ณ ขณะนี้ความเศร้าโศกเสียใจของปวงพสกนิกรยังไม่จางหาย และจะอยู่ในจิตใจไปอีกนานแสนนาน แต่จะทำอย่างไรให้ความเสียใจที่เกิดขึ้น เปลี่ยนเป็นพลัง โดยมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช อยู่ในใจของพวกเราตลอดไป

Advertisement

ไม่ว่าใครก็ตาม ที่เคยทำงานถวายพระองค์ ใกล้ชิด หรือไม่ใกล้ชิด แต่หากได้เห็นพระราชจริยวัตร สิ่งที่พระองค์ทรงทำตลอดพระชนม์ชีพ ทำให้เห็นว่าทุกอย่างที่พระองค์ทรงทำ เพื่อประชาชนจริงๆ สิ่งนี้คือ กำลังใจที่พวกเราควรยึดและนำไปปฏิบัติต่อ อย่างโครงการหลายๆ อย่าง ซึ่งพวกเราก็เห็น จะใช้คำว่าพระองค์ปลูกฝังสิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้นกับประชาชนตลอดมา แต่เราเองกลับไม่ค่อยน้อมนำสิ่งที่ทำให้เกิดประโยชน์ จนเมื่อพระองค์จากไป ทุกอย่างก็ปรากฏชัด

แต่ยังมีอีกหลายเรื่องต้องเดินต่อ และนี่คือสิ่งที่พระองค์ฝากให้พวกเรารับไปปฏิบัติ โดยแปรเปลี่ยนความทุกข์ ความเศร้า เป็นพลังเพื่อน้อมนำพระบรมราโชวาท พระราชดำรัสมาใช้

ผมจำได้ดี เมื่อครั้งที่ผมเข้าถวายงาน เป็นหนึ่งในทีมแพทย์ประจำพระองค์ พระองค์เคยดำรัสว่า “กำลังใจสำคัญมากนะหมอ” ดังนั้น การจากไปของพระองค์ เราไม่ควรเสียกำลังใจ แต่ต้องน้อมนำทุกสิ่งที่พระองค์ทรงทำให้ประชาชน มาเป็นกำลังใจทั้งหมด

Advertisement

อย่างทุกคำสอน ยากที่จะหาใครสอนเหมือน อย่างการปลูกป่า พระองค์ทรงสอนว่า “ต้องปลูกป่าในใจคน” เพื่อให้คนรักป่า รักต้นไม้ก่อน ป่าจึงจะอยู่ได้ นี่คือปรัชญาของพระองค์ที่ลึกซึ้งมาก สิ่งเหล่านี้สั้นๆ แต่กินใจ ความหมายลึกซึ้ง ก่อให้เกิดกำลังใจในการทำงานเพื่อส่วนรวมได้

พระองค์ทรงให้กำลังใจกับทุกคนเพื่อที่จะให้ทำงานในหน้าที่ของตนเองให้ประสบความสำเร็จอย่างดี มีอยู่ครั้งหนึ่งพระองค์เข้ารับการผ่าตัดถวายเกี่ยวกับเรื่องต่อมลูกหมาก ซึ่งมีแถลงการณ์สำนักพระราชวังออกมา ขณะนั้นผมเป็นคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล พอดี ซึ่งมารับหน้าที่นี้ก็มีความเครียด เพราะศิริราชต้องรับถวายการดูแล

วันหนึ่งก็เฝ้าฯรับเสด็จ เข้าใจว่าเป็นพระราชทานรางวัลมหิดล พระองค์เสด็จฯ พระราชทานรางวัล ก่อนเสด็จฯกลับ ผมก็ไปส่งเสด็จฯ โดยก่อนพระองค์จะลงลิฟต์ ได้หยุดและหันกลับมาและตรัสว่า “หมอ ได้ยินว่าเครียดมากใช่มั้ย…” ผมก็คุกเข่า และตอบพระองค์ว่า “ใช่พ่ะย่ะค่ะ” พระองค์ตรัสตอบว่า “เราไม่เครียดเลย” และพระองค์ก็แย้มพระสรวล และเสด็จลงลิฟต์ แค่นั้น ก็เป็นกำลังใจมหาศาลสำหรับผมมาก ว่าพระองค์ทรงไว้ใจ ซึ่งเป็นกำลังใจมหาศาลให้ยิ่งทำทุกอย่างเต็มที่ จากความจริงก็เต็มที่อยู่แล้ว และคิดว่าพระองค์ไม่ได้ให้เฉพาะผม แต่ทุกครั้งที่พระองค์เสด็จฯไปทรงงาน พระองค์ก็ให้กำลังใจตลอด

แม้กระทั่งพรปีใหม่ พระองค์ยังทรงให้กำลังใจโดยการให้คนเราอยู่กับปัจจุบัน ทำสิ่งที่ดี มีความเพียร ไม่เกียจคร้าน ยกตัวอย่าง พรปีใหม่ 2540

“พรุ่งของวาน เรามุ่งดี ไม่หมกมุ่น วานของพรุ่ง เราเพียรดี ไม่เกียจคร้าน พรุ่งทั้งวาน ก็ย่อมดี มีสุขสันต์” หมายถึงให้อยู่กับปัจจุบัน ทำดี มุ่งดี เพียรดี แต่อยู่กับปัจจุบัน แทนที่เราจะเสียใจไปตลอด เราควรแปรเปลี่ยนเป็นพลัง และน้อมนำคำสอนของพระองค์จากพระราชกรณียกิจต่างๆ และนำมาปรับใช้ในชีวิตเราดีกว่า

อย่างไรก็ตาม สำหรับเรื่องทางการแพทย์นั้น จากการที่มีโอกาสได้ตามเสด็จฯ พระองค์ทรงเห็นว่าคุณภาพชีวิตที่ดีต้องประกอบด้วยสุขภาพ อย่างในยุคต้นๆ พระองค์มีรับสั่งให้แพทย์ประจำพระองค์ แทนจะไปดูแลพระองค์อย่างเดียว ให้ออกไปดูแลประชาชนด้วย โดยเฉพาะประชาชนที่อยู่ห่างไกล

พอตอนหลังพระองค์เห็นว่า ประชาชนมีความทุกข์ยากจากปัญหาสุขภาพมาก จึงกลายเป็นทีมแพทย์พระราชทาน ตามเสด็จฯไปทุกที่ โดยเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทุกด้าน ทั้งกุมารแพทย์ ศัลยแพทย์ ทันตแพทย์ ไปเพื่อให้การดูแลรักษา และนำข้อมูลในเรื่องการป้องกันโรคด้วย เช่น ไอโอดีน ภาคอีสานจะมีเด็กคอพอกมาก พระองค์ไม่ได้ให้แค่การรักษา แต่ยังให้หาสาเหตุเพื่อป้องกันโรคด้วย จึงเกิดเป็นโครงการไอโอดีนขึ้น

จนถึงปัจจุบัน ได้มีการเติมไอโอดีนในน้ำปลา ในอาหารต่างๆ ทำให้ปัจจุบันคอพอกเกือบไม่พบในประเทศไทยแล้ว แม้จะมีโรคขาดไอโอดีนอยู่บ้าง แต่น้อยลงมาก สืบเนื่องจากโครงการที่พระองค์สร้างไว้ และเป็นสิ่งที่พระองค์สร้างค่านิยมให้กับแพทย์ว่า อย่าดูแค่การรักษา แต่ต้องดูการส่งเสริมป้องกันโรคด้วย

สธ.ก็จะน้อมนำพระราชกรณียกิจของพระองค์ เดินหน้าต่อไป ซึ่งหลายเรื่องดีขึ้นมาก ยกตัวอย่าง การจัดการโรคเรื้อน สมัยก่อนโรคเรื้อนคนรังเกียจมาก แต่พระองค์ไม่เคยรังเกียจ และมีโรงพยาบาลรักษาผู้ป่วยโรคเรื้อน กระทั่งก่อตั้งเป็น “สถาบันราชประชาสมาสัย” จนในที่สุดโรคเรื้อนเกือบหายไปในประเทศไทยแล้ว ขณะนี้ยังเหลืออยู่บ้างเล็กน้อย ทาง สธ.ก็ติดตามอยู่

ในนามของ สธ.จะน้อมนำพระราชกรณียกิจ และพระราชดำรัสที่อยากให้ประชาชนมีสุขภาพดีในทุกด้าน โดยจะเสริมสร้างก่อนซ่อมแซม แต่เมื่อป่วยเป็นโรคก็จะดูแลให้ดีที่สุด

นอกจากนี้ ประเด็นที่หลายคนมองว่าปัจจุบันความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และคนไข้ไม่ค่อยดีมากนัก ก็อยากให้น้อมนำอีกเช่นกัน อย่างพระกิริยาวัตรของพระองค์ที่เสด็จฯไปทรงเยี่ยมประชาชนในแต่ละพื้นที่ จะเห็นพระราชอัธยาศัย พระองค์นิ่มนวล แย้มพระสรวล อย่างบางคนบอกว่า King never smile ซึ่งไม่จริง หากเราตามเสด็จฯ จะเห็นว่าพระองค์ทรงยิ้มตลอด ดังนั้น ไม่ใช่แค่แพทย์ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ ประชาชนทุกคนก็ควรน้อมนำพระราชจริยวัตรที่นุ่มนวลของพระองค์มาปรับใช้ในการทำงาน การดำเนินชีวิตประจำวันด้วย โอภาปราศรัย สร้างมนุษยสัมพันธ์ ค่านิยมดีๆ ให้เกิดขึ้น

เห็นได้จากค่านิยมองค์กรที่เราเพิ่งรวบรวมกันเอง ออกเป็น 4 คำ คือ M O P H คือ

1.Mastery คือ บุคลากรต้องมีภาวะผู้นำ เป็นนายของตัวเอง ที่ต้องเอาชนะโลภ โกรธ หลง ให้ได้ การเป็นนายคนอื่นไม่เกิดประโยชน์ แต่หากเราเป็นนายตัวเองได้ นี่คือผู้นำที่ดี ซึ่งปรากฏว่าตรงกับพระบรมราโชวาทของพระองค์ อย่าง M : Mastery เป็นนายตัวเอง มีพระราชดำรัสพระราชทานเพื่อเชิญไปอ่านในพิธีเปิดการประชุมยุวพุทธิกสมาคมทั่วประเทศ ครั้งที่ 12 ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2513

“ในการดำเนินชีวิตของเรา เราต้องข่มใจไม่กระทำสิ่งใดๆ ที่เรารู้สึกด้วยใจจริงว่าชั่ว ว่าเสื่อม เราต้องฝืน ต้องต้านความคิด และความประพฤติทุกอย่างที่รู้สึกว่าขัดกับธรรมะ เราต้องกล้าและบากบั่นที่จะกระทำสิ่งที่เราทราบว่าเป็นความดี เป็นความถูกต้อง และเป็นธรรม ถ้าเราร่วมกันทำเช่นนี้ให้ได้จริงๆ ให้ผลของความดีบังเกิดมากขึ้นๆ ก็จะช่วยค้ำจุนส่วนรวมไว้มิให้เสื่อมลงไป และจะช่วยให้ฟื้นคืนดีขึ้นได้เป็นลำดับ…”

2.Originality สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ด้วยการกำหนดนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน

3.People Centered Approach เอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง

4.Humility บุคลากรต้องอ่อนน้อมถ่อมตน โดยเรื่องการอ่อนน้อมถ่อมตนนั้น เราต้องทำให้ประชาชนปฏิบัติตามในเรื่องการดูแลสุขภาพ การไปสั่งจะไม่เกิดประโยชน์ เราต้องทำให้เขารับรู้และตระหนักให้ได้ ดังนั้น การพูดจาที่ดี อ่อนน้อมถ่อมตนจึงเป็นเรื่องที่พึงปฏิบัติ

ค่านิยมของ สธ.4 ข้อ เป็นไปตามพระบรมราโชวาทครบถ้วน ดังนั้น หากคนของ สธ.หรือผู้ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับสุขภาพของประชาชน ได้น้อมนำพระบรมราโชวาททั้งหมดไปปฏิบัติ ทุกคนจะมีความสุขในการทำงาน ความขัดแย้งระหว่างแพทย์ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขก็จะน้อยลง

ตอนนี้อยู่ในช่วงที่ทุกคนอยากปฏิบัติตัวตามที่พระองค์ทรงทำ และอยากให้สิ่งนั้นยั่งยืน ไม่ต้องไปบอกใครให้ทำ แต่ให้ทำจากตัวเอง ทำจนติดเป็นนิสัย โดยใช้ช่วงเวลาแห่งความเศร้าสลด สร้างความเข้มแข็งขึ้น เพื่อให้เกิดความยั่งยืนขึ้น โอกาสนี้สำคัญที่สุดแล้ว จงทำให้ปลูกฝังอยู่ในจิตวิญญาณของเรา หากคนไทยทำได้หมดก็จะดีมาก แต่สิ่งสำคัญ ผู้นำต้องเป็นตัวอย่าง เพราะหากจะปรับเปลี่ยนอะไร ต้องอยู่ที่ผู้นำด้วย

แต่ละพระราชจริยวัตร แต่ละพระบรมราโชวาท แต่ละโครงการพระราชดำริ มีสิ่งที่เป็นเลิศ ดีที่สุดอยู่ในนั้นทั้งสิ้น พวกเราต้องไปหากัน และสกัดออกมาเอง เพราะแต่ละคนจะถูกจริตแต่ละเรื่องไม่เหมือนกัน

อย่างปิดทองหลังพระ จำได้เสมอว่า ผมเป็นคนหนึ่งที่เวลาไหว้พระ ผมจะปิดทองหลังพระเสมอ เหมือนเรารับพระบรมราโชวาทมาและใส่ไว้ในใจ

อีกสิ่งสำคัญที่ผมได้น้อมนำพระราชดำริของพระองค์มาปรับใช้ในการบริหาร สธ. คือ ความสามัคคี ลดความขัดแย้ง พระองค์ทรงเป็นตัวอย่างของการให้เกิดการบูรณาการในทุกภาคส่วน โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และเมื่อเกิดปัญหา พระองค์จะเสด็จฯมาแก้ปัญหาด้วยพระองค์เอง สิ่งเหล่านี้ได้น้อมนำมาปฏิบัติเสมอมา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image