กาชาดรวมพลัง BLOOD HERO ปี 3 รับเหรียญบรมครูแพทย์ชีวกโกมารภัจจ์ ตลอดเดือน ก.ค.

กาชาดรวมพลัง BLOOD HERO ปี 3 รับเหรียญบรมครูแพทย์ชีวกโกมารภัจจ์ ตลอดเดือน ก.ค.

เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม รศ.พญ.ดุจใจ ชัยวานิชศิริ ผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงต้นปี 2565 ที่ทำให้จำนวนผู้บริจาคโลหิตลดลงอย่างมาก โรงพยาบาล (รพ.) ทุกแห่งทั่วประเทศ ขาดแคลนโลหิตสะสมยาวนานกว่า 6 เดือน โดยในภาวะปกติจะต้องมีโลหิตบริจาครักษาผู้ป่วยเดือนละ 200,000 ยูนิต แต่ปัจจุบันได้รับโลหิตทั้งประเทศเพียง 150,000-160,000 ยูนิต ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยที่รอรับการผ่าตัด นอกจากนี้ โลหิตยังมีความจำเป็นที่ต้องใช้กับผู้ป่วยที่มีภาวะสูญเสียโลหิตเฉียบพลัน และผู้ป่วยโรคเลือดที่ต้องใช้โลหิตเป็นประจำ จึงจัดโครงการ Blood Hero ปี 3 เพื่อกระตุ้นและรณรงค์สร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการบริจาคโลหิต ทำให้มีการบริจาคอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ มีผู้บริจาคโลหิตรายใหม่เพิ่มมากขึ้น ให้มีปริมาณโลหิตคงคลังที่เพียงพอ

“ผู้บริจาคโลหิตตลอดเดือนกรกฎาคม 2565 ทั่วประเทศ รับเหรียญบรมครูแพทย์ชีวกโกมารภัจจ์ โดยผ่านพิธีมังคลาภิเษก ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 โดยเจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ประธานฝ่ายสงฆ์ และ ศ.เกียรติคุณ นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี และประธานคณะกรรมการอำนวยการกลุ่มบริการโลหิต อวัยวะ และผลิตภัณฑ์ชีววัตถุ ประธานฝ่ายฆราวาส” รศ.พญ.ดุจใจ กล่าว

สำหรับความเชื่อและความศรัทธาต่อบรมครูแพทย์ชีวกโกมารภัจจ์ มีดังนี้

Advertisement

-บรมครูแพทย์ชีวกโกมารภัจจ์ นับเป็นบุคคลสำคัญครั้งพุทธกาล เป็นหมอหลวงประจำราชสำนักของพระเจ้าพิมพิสารกษัตริย์แห่งแคว้นมคธ และเป็นหมอประจำพระพุทธองค์ มีบทบาทถวายคำแนะนำให้พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติ พระวินัยและระเบียบปฏิบัติหลายข้อ ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงเทศนาเรื่องความสามารถของท่าน 4 ประการ คือ ฉลาดในโรค ฉลาดในการรักษาโรค ฉลาดในการกำจัดโรคที่เกิดขึ้นแล้ว และฉลาดในการสังเกตอาการของโรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นแล้ว เปรียบเทียบกับหลักอริยสัจ 4 คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

-เป็นที่รักใคร่ เป็นคนดี มั่นคงในศีลธรรม ซื่อสัตย์ สุจริต สร้างบรรทัดฐานวิธีการรักษา และส่วนประกอบตำรายา ขึ้นเป็นแบบแผนไว้มากมาย

-เป็นพระบิดาแห่งการแพทย์และเภสัชกรรมที่ยิ่งใหญ่เทียบเท่าบุคคลสำคัญที่วงการแพทย์ทั่วโลกนับถือ เป็นที่เคารพของประชาชนทั่วไปตราบจนทุกวันนี้

Advertisement

ที่มา: วารสารศึกษาศาสตร์ มมร ปีที่ 5 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มิถุนายน 2560) / บทความวิชาการ โดย พระมหาฉัตรชัยสุฉตฺตชโย หัวหน้าภาควิชาภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image