แพทย์ แนะสูงวัยต้องอัดโปรตีนมากกว่าหนุ่มสาว เสริมด้วย ‘เวทเทรนนิ่ง’

แพทย์ แนะสูงวัยต้องอัดโปรตีนมากกว่าหนุ่มสาว เสริมด้วย “เวทเทรนนิ่ง” เปิดโปรแกรมอาหารเฉพาะโรค “อิ่ม” ด้วยเฮลท์ตี้บาลานซ์

เมื่อเวลา 15.50 น. (วันนี้ 2 กรกฎาคม) ที่ สามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) หรือ เครือมติชน ผนึกกำลังพันธมิตรชั้นนำ ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน จำนวน 14 แห่ง หน่วยงานสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ตลอดจนภาคเอกชน จัดมหกรรมสุขภาพเฮลท์ แคร์ 2022 ภายใต้ธีม ‘Healthcare 2022 จักรวาลผู้สูงวัย’ ตอกย้ำความแกร่งผู้นำงานแฟร์สุขภาพอันดับ 1 ของประเทศไทย ต่อเนื่องเป็นปีที่ 14 ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน – วันที่ 3 กรกฎาคมนี้

พญ.วีรนุช โรจน์ยินดีเลิศ อายุรแพทย์เฉพาะทางโภชนาศาสตร์คลินิก โรงพยาบาล(รพ.)กรุงเทพ กล่าวในเวทีทอล์กหัวข้อ “รู้เรื่องอาหารเฉพาะโรค โดยอิ่ม By BDMS” ว่า เมื่อเริ่มอายุมากขึ้นทางการแพทย์จะมีตัวเลขที่ระบุการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่วัยสูงอายุ เพื่อป้องกันความสับสน คือ อายุ 65 ปี บางคนอาจสังเกตได้เห็นชัดว่า เริ่มแขน ขาเล็กลงเพราะโกรทฮอร์โมน(Growth Hormone) ที่กระตุ้นระบบกล้ามเนื้อลดลง ซึ่งหากจะกระตุ้นการทำงานของโกรทฮอร์โมนจะต้องนอนหลับก่อนเวลา 22.00 น. ร่างกายเราก็จะเริ่มซ่อมแซมขึ้น บางคนมีปัญหาการเคี้ยว ฟันผุ รากฟันอักเสบ ใส่ฟันปลอม ไปจนถึงปัญหาการกลืน โดยสัญญาณที่สำคัญคือ เสียงเริ่มแหบ บางคนเบื่ออาหาร การรับรสเสียไป นอกจากนั้น ระบบประสาทสั่งการช้าลง ส่งผลต่อการตัดสินใจ เลือกเมนูอาหารยากขึ้น ปัญหาระบบย่อยอาหาร ทำให้ท้องผูก ก็ทำให้คนเลือกที่จะกินน้อยลง ก็จะกระทบต่อร่างกายที่ขาดสารอาหาร ความแข็งแรงน้อยลง กล้ามเนื้อน้อยลง

“กล้ามเนื้อที่หายไปจริงๆ เริ่มหายตั้งแต่อายุ 30 ปี ข้อมูลพบว่า ช่วงอายุ 30-70 ปีกล้ามเนื้อลดลงทุกวัน แม้ว่าจะใช้ชีวิตปกติ เฉลี่ยลดลง 3-8% ทุก 10 ปี แต่จะลดลงถึง 15% ตอนอายุ 70 ปี ดังนั้น ไม่ใช่รอให้ถึงอายุ 65 ปีแล้วค่อยมาใส่ใจดูแลตัวเอง แต่จุดตัดที่อายุ 65 ปีมีการเปลี่ยนแปลงไวมาก จากหน้ามือเป็นหลังมือ ปีที่แล้วยังรู้สึกดี แต่ปีนี้ข้ามมา 65 ปีร่างกายเปลี่ยนลงมาก” พญ.วีรนุชกล่าว

Advertisement

พญ.วีรนุชกล่าวว่า เราพบว่ากล้ามเนื้อมีความสำคัญต่อร่างกายมากๆ ในทุกวัย เมื่อไหร่ที่กล้ามเนื้อลดก็จะเดินไม่ได้ ผู้สูงอายุก็รู้สึกเหมือนตัวเองเป็นภาระของผู้อื่น ก็จะเกิดภาวะซึมเศร้าได้ ฉะนั้น อาหารมีความสำคัญในการชะลอวัยและสร้างกล้ามเนื้ออย่างมาก

โดยหลักการของอาหารง่ายมาก คือครบ 5 หมู่ ซึ่งผู้สูงอายุสามารถปรับอาหารเพื่อสร้างกล้ามเนื้อได้เหมือนคนวัยหนุ่มสาว คู่กับการออกกำลังกายที่เหมาะสม หลักการทานอาหารจะเหมือนกันในทุกวัยเป็น “เฮลท์ตี้บาลานซ์”

Advertisement

ประกอบด้วย คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมันดี ผัก ผลไม้ และแคลเซียมธรรมชาติที่ได้จากนม ชีส โยเกิร์ต หรือแคลเซียมเสริม อย่างไรก็ตาม จะต้องมีการควบคุมสัดส่วนอาหารให้ดี เช่น การทานข้าวกับฟัก อาจทำให้คาร์โบไฮเดรตเกิน ขณะเดียวกัน โปรตีนจะมีความหลากหลายมาก เช่น อาหารทะเล หมู ไข่ ปลา นม ส่วนผักและผลไม้ ส่วนผู้ที่ไม่ทานเนื้อสัตว์ ก็สามารถใช้โปรตีนจากถั่วเหลืองได้ จะต้องสลับกันในแต่ละมื้อ หรือใช้วิธีการเปลี่ยนสี เพราะวิตามินแร่ธาตุแต่ละกลุ่มสีก็ต่างกันไป

พญ.วีรนุชกล่าวต่อว่า ผู้สูงอายุต้องการโปรตีนมากกว่าวัยหนุ่มสาวประมาณ 1.2-1.5 เท่าเมื่อเทียบกับน้ำหนักตัวที่เท่ากัน แต่ปัญหาคือผู้สูงอายุฟันลำบากขึ้น ทำให้กินได้น้อยลง

ทั้งนี้ การทานอาหารเสริม ก็ตามชื่อคือเพียงแค่เสริม ดังนั้นเรายังต้องกินอาหารปกติให้ครบถ้วนอยู่ ซึ่งจริงๆ ทางการแพทย์แทบไม่ได้แนะนำให้ใช้อาหารเสริม อย่างไรก็ตาม ในวัยสูงอายุมีความจำเป็นต้องออกกำลังกาย ซึ่งจะขึ้นอยู่กับความแข็งแรงที่เป็นทุนเดิม เช่นหากปกติออกกำลังกายอยู่แล้ว ก็ให้เสริมเรื่องการยืดเหยียด รักษาสมดุล รักษามวลกล้ามเนื้อด้วยการ “เวทเทรนนิ่ง” ส่วนคนที่ไม่ไม่ได้ออกกำลังกาย ก็ให้ใช้วิธีการจี้กง ไทเก๊ก เสริมการทรงตัว และเพิ่มความแข็งแรง หลังจากนั้นก็ไปเสริมมวลกล้ามเนื้อ

พญ.วีรนุชกล่าวว่า ปัญหาสำคัญอีกอย่างคือ เมื่อลูกออกนอกบ้าน ผู้สูงอายุต้องทำอาหารเอง ซึ่งสารอาหารจะไม่ครบ ทั้งยังส่งผลต้องการเบื่ออาหารด้วย ทาง รพ.กรุงเทพ ก็มีโปรแกรมอาหารที่จัดมาเฉพาะโรค โดยเพิ่มสีสัน เพิ่มความหลากหลายของเมนู ซึ่งแต่ละโปรแกรมจะจัดมาเฉพาะบุคคล

อย่างคนที่มีปัญหาเกี่ยวกับเลือด ก็จะมีการวัดค่าความเข้มข้นเลือดเพื่อจัดอาหาร ที่สำคัญคือหลายคนมองว่าอาหารเฉพาะโรคจะไม่อร่อย แต่ทาง รพ.กรุงเทพ จะปรับรสชาติให้มีความเหมาะสม เช่น กะเพราะไข่ดาว สำหรับโรคหัวใจ ก็จะเปลี่ยนเครื่องปรุงให้เป็นสูตรเกลือต่ำ แต่รสชาติใกล้เคียงกับเมนูทั่วไป ผู้ที่มีปัญหาการกลืนก็จะมีอาหารเนื้อสัมผัสเหลวขึ้น เพื่อลดการสำลัก

“บางคนกินอาหารไม่ถูกหลัก ทำให้เกิดโรค คุณหมออาจต้องเพิ่มยา บางคนก็กินยาจนอิ่มแทนข้าว ฉะนั้นเราก็เปลี่ยนมากินอาหารที่ดีแทนการกินยา อย่างอาหารที่มีเกลือเยอะเกินไป ก็มีความเสี่ยงที่มากกว่าไตคือ มะเร็งกระเพาะอาหาร กินน้ำตาลมากเกินไป ทำให้น้ำหนักเพิ่มเร็ว กระทบโรคหัวใจ ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน” พญ.วีรนุชกล่าว

พญ.วีรนุชกล่าวว่า สำหรับโปรแกรมอาหารเฉพาะโรค ทางรพ.กรุงเทพ ทำสดใหม่ทุกวัน คัดสรรวัตถุดิบที่ดี เช่น สายพันธุ์ข้าวที่จะสอดคล้องกับการย่อยน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือด อย่างข้าวพันธุ์ กข รวมถึงเครื่องปรุงต่างๆ ด้วย ฉะนั้น ต้นทุนก็จะต่างจากเมนูที่ทำเองที่บ้าน ตัวอย่างเมนูของ รพ.กรุงเทพ ที่จัดให้ผู้ที่สุขภาพดี เริ่มต้นที่ 109 บาทต่อมื้อ หากเป็นอาหารเฉพาะโรคก็ 250 บาทต่อมื้อ ซึ่งผู้บริโภคสามารถเลือกได้ว่า อยากทดลองทาน 1 มื้อต่อวันก่อนหรือไม่ แต่หากอยากเปลี่ยนแปลงผลสุขภาพ ก็จะแนะนำให้ทานต่อเนื่อง

ด้าน นายทนงศักดิ์ ศุภการ ดาราอาวุโส กล่าวว่า ความสำคัญของผู้สูงอายุคือ การเดิน การทรงตัวทำได้ไม่ดี ขณะที่กล้ามเนื้อ และกระดูกเริ่มลดลง ดังนั้นต้องระวังการจะลุกเดินให้มาก ตั้งสติให้ดีก่อนลุกป้องกันอาการหน้ามืด ทั้งนี้ การออกกำลังกายในผู้สูงอายุ เป็นการชะลอความเสื่อม ฉะนั้น ในตอนที่เดินได้ ก็พยายามอยากเดินไปด้วยตัวเองให้มาก เพราะในวันไหนที่ต้องนั่งรถเข็น หรือนอนติดเตียงก็อาจไม่ได้เดินไปดูด้วยตัวเอง สำหรับการออกกำลังกายที่ผู้สูงอายุมักจะบอกว่า ตัวเองไม่มีเวลาออกกำลังกาย แต่กลับกันคือ หลายคนมีเวลาไป รพ. รอคิวพบแพทย์ ซึ่งนี่เป็นจุดเปลี่ยนที่ตนหันกลับมาออกกำลังกาย เพราะไม่อยากต้องไปเห็นคนนั่งรอแพทย์ที่ รพ. แต่อยากเห็นคนไปเดินเล่นสวนลุมพินีอย่างมีความสุขมากกว่า

นอกจากนี้ สำนักพิมพ์มติชน ได้ตั้งบูธ Healthy Book Fair บริเวณโถงเข้า สามย่าน มิตรทาวน์ฮอลล์ จำหน่ายหนังสือในเครือมติชน และเพื่อนสำนักพิมพ์ ในราคาพิเศษ โดยหนังสือขายดีและหนังสือหมวดสุขภาพ ลดถึง 20 เปอร์เซ็นต์ และลดทั้งบูธสูงสุด 25 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งตั้งแต่ช่วงชาวมีผู้แวะเวียนมาเลือกซื้อไม่ขาดสาย

ร่วมสร้างสังคมผู้สูงวัยให้แข็งแรงและมีความสุขไปด้วยกัน ใน ‘Healthcare 2022 จักรวาลผู้สูงวัย’ โดยเครือมติชน จนถึงวันพรุ่งนี้ (3 กรกฎาคม) เข้างานได้ตั้งแต่เวลา 10.30 – 20.00 น. ที่สามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image