ไทยพร้อมให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่น จัดกิจกรรมเพิ่มเชื่อมั่น อนุทิน ขอ ปชช.บูสต์วัคซีน

ไทยพร้อมให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่นแม้ยอดขึ้น จัดกิจกรรมเพิ่มเชื่อมั่น อนุทิน ขอ ปชช.บูสต์วัคซีน 

วันนี้ (4 กรกฎาคม 2565) ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จ.สมุทรปราการ นายอนุทิน ชาญวีรกูล
รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานเปิดงาน Meet & Greet “Thailand Moving Together : กอด กิน บิน เที่ยว ใช้ชีวิตใกล้ชิดอีกครั้ง” พร้อมเยี่ยมให้กำลังใจและมอบสัญลักษณ์แสดงความมั่นใจให้กับเจ้าหน้าที่สนามบิน เจ้าหน้าที่สายการบิน ผู้ประกอบการรถเช่า พนักงานขับรถแท็กซี่ พนักงานรักษาความปลอดภัย และแม่บ้าน โดยมีนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และผู้ประกอบการภาคเอกชนเข้าร่วมงาน

นายอนุทิน กล่าวว่า รัฐบาล และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้เตรียมความพร้อมในการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้าประเทศ ยกเลิกไทยแลนด์ พาส (Thailand Pass) ภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยและเป็นไปตามมาตรการด้านสาธารณสุขของประเทศปลายทางทั่วโลก เพื่อให้เกิดการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ภาคธุรกิจการท่องเที่ยวและคมนาคม ช่วยกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศ ตนในฐานะรองนายกฯ ที่กำกับดูแล สธ. กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงคมนาคม ได้ให้ความสำคัญในการสื่อสารสร้างความเข้าใจและเตรียมความพร้อมของทุกภาคส่วนในการเปลี่ยนผ่านโรคโควิด-19 เข้าสู่โรคประจำถิ่นของประเทศไทย (Endemic Approach) พร้อมทั้งจะสนับสนุนให้แผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมสามารถดำเนินการให้เกิดผลตามที่คาดหวัง เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างการควบคุม ป้องกันโรค และการขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจของประเทศ

Advertisement

“โดยที่ผ่านมา ได้ขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ ในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่โรคประจำถิ่น ทั้งกิจกรรม Meet the Press: Move on จากโควิด-19 ใช้ชีวิตแบบมั่นใจ ที่ช่วยสร้างความเข้าใจให้สื่อมวลชนนำข้อมูลที่ถูกต้องไปสื่อสารกับประชาชน และ Meet & Greet Thailand Moving Together: กอด กิน บิน เที่ยว ใช้ชีวิตใกล้ชิดอีกครั้ง ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี ซึ่งมีการรับฟังความคิดเห็นจากตัวแทนสมาคม หน่วยงานผู้ประกอบการภาคท่องเที่ยว ร้านอาหาร โรงแรม นำมาวางแผนจัดทำมาตรการด้านสาธารณสุขต่างๆ เช่น การสนับสนุนวัคซีนเข็มกระตุ้นให้กับผู้ประกอบการและประชาชน, ยกเลิกไทยแลนด์ พาส, จัดให้มีแพทย์อาสาสนามบินสุวรรณภูมิ เป็นต้น รู้สึกดีใจ ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิกลับมามีชีวิตชีวาเหมือนเดิม นักท่องเที่ยว ผู้เดินทางจำนวนมากกลับมาใช้บริการด้วยรอยยิ้ม เจ้าหน้าที่ บุคลากร และผู้ประกอบการ พร้อมทำหน้าที่อำนวยความสะดวกอย่างเต็มที่ ทั้งหมดนี้เกิดจากการการร่วมแรงร่วมใจกันของทุกภาคส่วน อาทิ ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคงประจำท่าอากาศยาน (ศปม.ทย.) ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง ตำรวจท่องเที่ยว บริษัท ท่าอากาศยานไทยฯ สายการบิน ตลอดจนผู้ประกอบการ ที่ให้ความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขอย่างดีเสมอมา จากนี้เชื่อมั่นว่า หากมุ่งพัฒนาด้านสาธารณสุขควบคู่กับการพัฒนาประเทศ จะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม ให้มีความเข้มแข็ง สร้างความมั่นใจให้กับคนไทย และชาวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวได้” นายอนุทิน กล่าว

รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการ สธ. กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถดำเนินชีวิตได้ใกล้เคียงปกติและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่สิ่งสำคัญขอให้ทุกคนยังต้องปฏิบัติตามมาตรการ 2 U คือ Universal Prevention เว้นระยะห่าง ล้างมือ และสวมหน้ากาก โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในสถานที่อากาศปิด สถานที่แออัด และเป็นกลุ่มเสี่ยง ซึ่งจะช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อได้ และ Universal Vaccination เข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้น (บูสเตอร์ โดส) หรืออย่างน้อยได้รับวัคซีน 3 เข็ม แต่เนื่องจากมีการพบเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน BA.4 และ BA.5 ในกลุ่มผู้เดินทางจากต่างประเทศในสัดส่วนสูงกว่าผู้ติดเชื้อในประเทศ จึงขอให้ผู้ที่ทำงานใกล้ชิดกับนักท่องเที่ยวเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นทุก 4-6 เดือน เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันให้มีความปลอดภัยมากขึ้น

Advertisement

นายอนุทิน ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์โควิด-19 ของประเทศไทย และการเตรียมพร้อมรับมือกับการระบาดของโควิด-19 ที่ยอดผู้ติดเชื้อเริ่มขยับสูงขึ้น ว่า ระบบการคัดกรองผู้ป่วยที่ติดเชื้อ การรักษาพยาบาล การดูแล ป้องกัน ยังมีประสิทธิภาพที่สูง มาตรการต่างๆ ได้ผ่อนคลายเพื่อให้เกิดความสะดวกสูงสุด ทำโดยการประเมินจากสถานการณ์และความพร้อมด้านระบบสาธารณสุขและบริการต่างๆ ประเทศต้องเดินไปแบบนี้ ซึ่งประเทศไทยยังได้รับความร่วมมือและความตระหนักจากประชาชน อยู่ระดับสูงกว่าหลายประเทศ ทำให้เรากล้าตัดสินใจเดินหน้า

“บางประเทศ หน้ากากอนามัยขายไม่ออกแล้ว ไม่มีการสวมหน้ากากอนามัย แม้มีการติดเชื้ออย่างมากมาย เขาอยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ มั่นใจในเรื่องของความรุนแรงของโรค เวชภัณฑ์ที่ประเทศมีอยู่ ซึ่งประเทศไทยก็เช่นกัน มั่นใจว่ามีศักยภาพเพียงพอในการที่จะให้การดูแล รักษาผู้ติดเชื้อได้ เพราะฉะนั้น จะพยายามทุกอย่างให้เศรษฐกิจ ได้ขับเคลื่อนไป โดยไม่เกิดสิ่งที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพประชาชน” นายอนุทิน กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงความกังวลต่อการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 นายอนุทิน กล่าวว่า มันคือโควิด-19 ซึ่งทุกสายพันธุ์ก็มีวิธีการดูแลใกล้เคียงกัน แต่ก็ต้องปรับตามสถานการณ์ เรื่องวัคซีน เป็นสิ่งที่ต้องเน้นย้ำ วัคซีน ยังมีประสิทธิภาพในการป้องกันไม่ให้ผู้ติดเชื้อมีอาการรุนแรงและเสียชีวิต ซึ่งเป็นเป้าหมายในการดำเนินงาน อย่าไปคิดว่า 3 เข็มแล้วพอ แล้วหรือตอนนี้เชื้อไม่รุนแรงมาก แล้วไม่ฉีด ซึ่ง สธ.ยังยืนยันว่าการฉัดวัคซีนเข็มกระตุ้นจะเกิดความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการที่จะลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ แม้ไม่ 100% แต่ความเสี่ยงป่วยหนักและเสียชีวิตประสิทธิภาพสูงมาก

“เราติดตามสถานการณ์ยอดผู้ติดเชื้ออยู่ตลอด ที่เราให้ความสำคัญ การประเมินผู้ป่วยอาการหนักและใช้เครื่องช่วยหายใจ ต้องใช้บริการทางการแพทย์อย่างใกล้ชิด รวมถึง ผู้เสียชีวิต ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในระดับที่เป็นสถานการณ์ทั่วไป อยู่ในสภาพที่ควบคุมได้ ตราบใดที่จำนวนผู้สียชีวิตและผู้ป่วยหนักยังอยู่สภาพควบคุมได้ คงต้องดำเนินการมาตรการต่อไป ในด้านมิติป้องกันรักษามีความพร้อมในเรื่องวัคซีนที่เพียงพอ แต่คนมาฉีดต้องให้มากกว่านี้โดยเฉพาะเข็มกระตุ้น เรื่องยา แพทย์ สถานพยาบาล เตียง เครื่องมือทางการแพทย์มีความพร้อมมาก มั่นใจว่าถ้ามีผู้ป่วยมากขึ้นสามารองรับได้ ขอให้ประชาชนเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นถ้วนหน้า ช่วงนี้ของปีที่แล้ว ที่ประชาชนยังไม่ได้รับวัคซีน การติดเชื้อแตกต่างกันจากปัจจุบันอย่างเห็นชัด แสดงว่าวัคซีนทำงานตามหน้าที่ของเขาอยู่ เมื่อมีการฉีดเข็มกระตุ้นมากขึ้น แม้ผู้ติดเชื้อไม่ลดลง ด้วยการกลายพันธุ์ของเชื้อ แต่ความุรนแรงก็น้อยลง ส่วนสำคัญ เพราะได้วัคซีน ช่วยลดอาการของโรค นี่คือความจำเป็นของวัคซีน” นายอนุทิน กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image