“อนุทิน” ร่วมพิธีลงนามสัญญาแลกวัคซีนแอสตร้าฯ กับ LAAB ประหยัดงบฯ 125 ลบ. เล็งใช้เสริมภูมิบางกลุ่ม

“อนุทิน” ร่วมพิธีลงนามสัญญาแลกวัคซีนแอสตร้าฯ กับ LAAB ประหยัดงบฯ 125 ลบ. เล็งใช้เสริมภูมิบางกลุ่ม

เวลา 08.45 น. (วันนี้ 6 กรกฎาคม) ที่ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีสาธารณสุข เป็นประธานพิธีลงนามสัญญาจัดหาแอนติบอดีสำเร็จรูป แบบ Long Acting Antibodies (LAAB) เพื่อการป้องกันโควิด-19 ระหว่าง นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และนายเจมส์ ทีก ประธานบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด โดยมี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และผู้บริหารทั้ง 2 หน่วยงานเข้าร่วมเป็นสักขีพยาน

นายอนุทิน กล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรคได้จัดหาวัคซีนโควิด มาฉีดสร้างภูมิคุ้มกันแก่คนไทย อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนทุกชนิด มีประสิทธิภาพที่ป้องกันโรคได้ดี แต่ก็ยังมีประชากรบางกลุ่มที่รับวัคซีนแล้ว ร่างกายไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ดีหรือภูมิคุ้มกันตกลงอย่างรวดเร็ว ทำให้มีความเสี่ยงติดเชื้อโควิดแล้วป่วยอาการหนักและเสียชีวิต ได้แก่ 1.กลุ่มผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง 2.ปลูกถ่ายอวัยวะ หรือปลูกถ่ายไขกระดูกและ 3.ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่มีการเสียชีวิตจากโรคโควิดทุกวัน ดังนั้น ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) มอบหมายให้ สธ.ดำเนินการจัดหาแอนตีบอดีสำเร็จรูป แบบ Long Acting Antibodies (LAAB) มาใช้ในการดูแลกลุ่มเสี่ยงดังกล่าว เพื่อป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตจากโควิด จึงเป็นที่มาของการลงนามความร่วมมือกับบริษัทของแอสตร้าเซนเนก้าในวันนี้ เพื่อปรับสัญญาเดิม เปลี่ยนวัคซีนแอสตร้าฯ บางส่วนมาเป็น ยา LAAB จำนวน 2.5 แสนโดส ภายในกรอบวงเงินงบประมาณเดิมที่ ครม.อนุมัติ

นายอนุทิน กล่าวเพิ่มเติมว่า LAAB ถ้าเทียบเป็นภาษาทั่วไปคือ ยารักษาโรคโควิดที่ใช้การฉีดเข้าสู่ร่างกายมีคุณสมบัติเป็นทั้งเสริมภูมิคุ้มกันและรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด โดย LAAB มีประโยชน์ต่อผู้ป่วยโควิดที่มีโรคประจำตัว , กลุ่ม 608 โดยเฉพาะผู้สูงอายุมาก ไตวายเรื้อรัง เปลี่ยนอวัยวะ และกลุ่มผู้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน เพราะภูมิฯ จากวัคซีนขึ้นไม่มาก ทั้งนี้ เราจัดหาวัคซีนบูสเตอร์โดสไว้สำหรับปี2565 จนถึงปีหน้า และได้รับบริจาควัคซีนจากนานาประเทศ ทำให้เราฉีดบูสเตอร์โดสได้อย่างเพียงพอ จึงหารือกับแอสตร้าฯ เพื่อขอแลกเปลี่ยนด้วยการลดจำนวนวัคซีนลดแล้วเพิ่ม LAAB โดยไม่ต้องเพิ่มงบประมาณ

Advertisement

“การลงนามในสัญญาวันนี้ผ่านขั้นตอนจาก ครม.แล้ว ซึ่งเป็นความใส่ใจในการจัดหาเวชภัณฑ์ที่ดีที่สุดมาเพื่อประชาชน อย่างไรก็ตาม การแลกเปลี่ยนจะเป็น LAAB จำนวน 2.5 แสนโดสโดยประมาณ เป็นการปรับงบประมาณจากกรอบจัดหาวัคซีนเดิมที่ผ่าน ครม.แล้ว ซึ่งหลังจากแลกเปลี่ยนทำให้งบในกรอบเดิมลดลง 125 ล้านบาทจากสัญญาจัดซื้อวัคซีนแอสตร้า ถือว่าวินวินทั้งสองฝ่าย” นายอนุทินกล่าวและว่า ล็อตแรกจะเข้ามาถึงไทยจำยวน 7,000 โดสภายในเดือน ก.ค. ขณะที่กรมควบคุม จะมีการกำหนดคุณสมบัติของผู้รับ LAAB และกระจายไปยังแต่ละพื้นที่

เมื่อถามว่าหากมีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนสัญญาเป็นวัคซีนจะสามารถทำได้หรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า สำหรับการปรับเปลี่ยนสัญญานั้นก็จะขึ้นอยู่กับการเจรจาในอนาคต

สำหรับ LAAB เป็นแอนติบอดีที่ออกฤทธิ์ยาว มีส่วนประกอบ 2 ชนิด คือ Tixagemab 150 มิลลิกรัม และ Cilgavimab 150 มิลลิกรัม ผ่านการรับรองใช้แบบในภาวะฉุกเฉินที่สหรัฐอเมริกาและอังกฤษแล้ว ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของประเทศไทยได้อนุมัติให้ใช้ในภาวะฉุกเฉินเช่นกันเมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2565 มีข้อบ่งใช้ในผู้ที่ภูมิคุ้มกันต่ำ ตั้งแต่อายุ 12 ปีขึ้นไป มีน้ำหนักตัวไม่น้อยกว่า 40 กิโลกรัม โดยให้ก่อนการสัมผัสโรค ด้วยการฉีดเข้ากล้ามเนื้อทุก 6 เดือน มีประสิทธิผลร้อยละ 83 ในการลดความเสี่ยงอาการรุนแรงของโควิด และจากการศึกษาพบว่ามีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์

Advertisement

ด้าน นพ โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ทางกรมควบคุมโรค โรงเรียนแพทย์ และผู้เชี่ยวชาญได้หารือกันว่าจะมีการให้ LAAB ในกลุ่มใด เดิมทีเราศึกษาการให้ในกลุ่มผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่ต้องฟอกไต หรือผู้ที่เปลี่ยนไต เพราะมีความคุ้มค่ากับเศรษฐศาสตร์ แต่ผู้เชี่ยวชาญจากโรงเรียนแพทย์ ได้ขอเพิ่มในกลุ่มที่ปลูกถ่ายอวัยะด้วย ทั้งนี้ กลุ่มเป้าหมายดังกล่าวก็สามารถเพิ่มได้ตามความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ

นพ.โอภาสกล่าวว่า จากนั้น ก็จะขอรายชื่อผู้ป่วยโรคไตที่มีประวัติการรักษาในทุกจังหวัดทั้ง รพ.ใหญ่ หรือ รพ.ศูนย์ จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เพื่อที่จะมีการส่ง LAAB ไปให้จังหวัดเป็นผู้บริหารจัดการ อย่างไรก็ตาม LAAB เป็นทั้งป้องกันและรักษาโรค แต่ขณะนี้มีการขึ้นทะเบียนกับ อย.เพื่อป้องกันโรค ขณะเดียวกัน ทางอาจารย์จากโรงเรียนแพทย์ขอศึกษาประสิทธิภาพที่ใช้ในการรักษาเพิ่มเติม

เมื่อถามถึงสัดส่วนการแลกเปลี่ยนกับวัคซีนแอสตร้าฯ นพ.โอภาสกล่าวว่า เปลี่ยนเป็น LAAB จำนวน 2.5 แสนโดส ในกรอบวงเงิน 6 พันกว่าล้านบาท ทำให้เราประหยัดงบประมาณในกรอบเดิมที่ขอ ครม.ไปได้ถึง 100 กว่าล้าน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image