อัตราการคลอดในวัยรุ่นแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง เหลือ 19.6 ต่อพันประชากร

อัตราการคลอดในวัยรุ่นแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง เหลือ 19.6 ต่อพันประชากร

เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ. เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นครั้งที่ 1/2565 โดยมี นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เป็นกรรมการและเลขานุการ พร้อมด้วย ผู้แทนกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน เข้าร่วมประชุม

นายสาธิตกล่าวว่า ขณะนี้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 ได้มีการตรากฎหมายลูกครบถ้วนแล้ว ขอให้คณะกรรมการได้ช่วยกันกำกับติดตามความก้าวหน้าของการบังคับใช้กฎกระทรวง เพื่อให้วัยรุ่นได้รับสิทธิตามกฎหมาย และขอบคุณทุกภาคส่วนที่ได้ร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงาน จนสามารถทำให้อัตราคลอดในวัยรุ่นลดลงอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะบรรลุเป้าหมายที่เคยตั้งไว้ไม่เกิน 25 ต่อพันประชากร ก่อนเวลาที่กำหนด ซึ่งจากข้อมูลสถิติสาธารณสุข ปี 2533-2563 อัตราคลอดมีชีพในวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี เปรียบเทียบปี 2563 กับปี 2564 พบว่า ในปี 2564 อัตราคลอดในวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี มีแนวโน้มต่ำกว่า 25 ต่อพันประชากร และมีแนวโน้มลดลงในทุกเขตสุขภาพ ในภาพรวมลดลงเท่ากับ 19.6 ต่อพันประชากร ส่วนอัตราคลอดมีชีพเท่ากับ 23.1 ต่อพันประชากร

“ซึ่งในวันนี้คณะกรรมการจะได้พิจารณาปรับค่าเป้าหมายของยุทธศาสตร์ในระยะครึ่งหลัง (ปี 2566-2570) ให้เหมาะสมสอดคล้องกับการดำเนินงานและสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยในที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบ ปรับค่าเป้าหมายอัตราคลอดในวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี จากเดิม ไม่เกิน 25 ต่อพันประชากร ภายในปี 2569 เป็น ไม่เกิน 15 ต่อพันประชากร ภายในปี 2570 และให้คงค่าเป้าหมาย อัตราคลอดในวัยรุ่นอายุ 10-14 ปี ไว้ที่ ไม่เกิน 0.5 ต่อพันประชากร ภายในปี 2570 และเห็นชอบให้มีคณะทำงานบูรณาการฐานข้อมูล กำหนดแนวทางการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพพร้อมจัดทำรายละเอียดชุดข้อมูลแม่วัยรุ่น ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกระทรวงสาธารณสุข ให้เป็นฐานข้อมูลในการขับเคลื่อนกลไกช่วยเหลือแม่วัยรุ่น” นายสาธิตกล่าว

Advertisement

ด้าน นพ.บุญฤทธิ์ สุขรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กล่าวว่า สถานการณ์ในภาพรวมการท้องไม่พร้อมลดลงทุกภูมิภาค แต่ยังมีบางพื้นที่ที่ยังมีปัญหา คือ พื้นที่ห่างไกล เข้าไม่ถึงสถานพยาบาล กลุ่มชาติพันธุ์ เช่น พื้นที่เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน เป็นต้น นอกจากนี้ อีกสาเหตุที่ยังพบว่ามีปัญหาท้องไม่พร้อมอยู่คือการป้องกัน หรือการเลือกใช้วิธีการคุมกำเนิด ซึ่งการฝังยาคุมถือว่าเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพ แต่มีจำนวนมากที่เลือกใช้การนับวันตกไข่, หลั่งนอก, ซึ่งมีโอกาสพลาดสูง ขณะที่การใช้ถุงยางอนามัยมากขึ้น แต่กลับไม่ได้ใช้ทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ ทำให้เกิดปัญหาท้องไม่พร้อมตามมา อย่างไรก็ตาม ตามที่ภาครัฐพยายามส่งเสริมให้คุมกำเนิดด้วยการฝังยาคุม ทำให้หลายคนละเลยไม่สวมถุงยางอนามัย ทำให้ขณะนี้พบโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้น ขอเตือนว่าแม้จะฝังยาคุมกำเนิดแล้ว ทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ขอให้สวมถุงยางอนามัยด้วย เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image