2ปี เอ็มโอยู ‘คนไทยไร้สิทธิ’ ความก้าวหน้าและความหวัง

เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม ถือได้ว่าเป็นวันครบรอบ 2 ปี ของการลงนามในบันทึกความร่วมมือ (เอ็มโอยู) “การดำเนินงานพัฒนาการเข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพของคนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน” ระหว่าง 9 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย เป้าหมายสำคัญของเอ็มโอยู เพื่อบูรณาการความร่วมมือดูแลประชาชนกลุ่มที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียนโดยเฉพาะคนไทยตกหล่น หรือ “คนไทยไร้สิทธิ” ให้เข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพมากยิ่งขึ้น

คนไทยไร้สิทธิ คือ ใคร?
“คนไทยตกหล่น” หรือ “คนไทยไร้สิทธิ” เป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทย แต่ยังไม่ได้รับการกำหนดสถานะบุคคลที่ถูกต้องทำให้ไม่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานและสิทธิพลเมือง เนื่องจากไม่มีชื่อในระบบทะเบียนราษฎรที่ถูกต้อง หรือได้รับการจัดทำทะเบียนราษฎรแล้วแต่ถูกจำหน่ายรายการบุคคลออกจากทะเบียนบ้านกลางตามเงื่อนไขของกฎหมายว่าด้วยเรื่องทะเบียนราษฎร หรือเป็นคนไทยที่อยู่ระหว่างการเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎร

กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ เป็นบุคคลที่เกิดและเติบโตในประเทศไทย มีสายสัมพันธ์กับบุคคลที่มีสัญชาติไทย หากแต่ตกหล่นจากการมีสถานะทางทะเบียน ทั้งจากการตกหล่นจากกระบวนการแจ้งเกิด และทั้งจากการประสบปัญหาในการยืนยันสิทธิสถานะ เนื่องจากพยานเอกสารที่ใช้ประกอบการยืนยันตัวบุคคลสูญหาย หรือพยานใกล้ชิดที่อาจล้มหายตายจาก รวมทั้งสาเหตุจากการเจ็บป่วยทางกายและทางจิตที่ทำให้ความทรงจำเกี่ยวกับภูมิหลังของตนเองพร่าเลือน ทำให้บุคคลนั้นไม่ได้รับการกำหนดสถานะบุคคลที่ถูกต้อง ส่งผลต่อการได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานและสิทธิพลเมือง เนื่องจากไม่มีชื่อในระบบทะเบียนราษฎรอย่างถูกต้องนั่นเอง

Advertisement

ปัจจุบันแม้ยังไม่มีตัวเลขที่ยืนยันอย่างแน่ชัดถึงจำนวนของ “คนไทยไร้สิทธิ” หากแต่มีการคาดการณ์ว่า น่าจะมีพี่น้องประชาชนกลุ่มนี้อยู่ถึงหลักแสนคน และแทรกตัวอยู่อาศัยใช้ชีวิตในพื้นที่ชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ ทั้งในเขตเมืองและเขตชนบท ทั้งนี้ ข้อมูลจากการทำงานของทางภาคประชาสังคมและภาครัฐที่เกี่ยวข้องยังได้ชี้ให้เห็นอีกว่า “คนไทยไร้สิทธิ” ส่วนใหญ่มีฐานะยากจนและมีแนวโน้มที่จะส่งต่อความยากจนไปยังรุ่นต่อไปหากมิได้รับการแก้ไขปัญหา เพราะการไม่มีสิทธิสถานะทางทะเบียนส่งผลให้ไม่สามารถเข้าถึงงานและอาชีพที่มีความมั่นคงทางรายได้ ตลอดจนสวัสดิการทั้งทางสังคม สุขภาพ และการศึกษาที่เหมาะสม

จุดเริ่มต้นของการทำงาน‘คนไทยไร้สิทธิ’
การสำรวจสถานการณ์คนไร้บ้านเชิงลึกในกรุงเทพมหานคร และในเมืองใหญ่ของประเทศไทยช่วงปี 2559-2560 ของมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สสส. และภาคีเครือข่าย ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มสำคัญของการทำงานคนไทยไร้สิทธิ ในการสำรวจ พบว่าคนไร้บ้านประมาณร้อยละ 30 ในเกือบทุกพื้นที่เข้าไม่ถึงหลักประกันทางสุขภาพและสวัสดิการพื้นฐาน อันเนื่องมาจากการตกหล่นจากสิทธิสถานะ จากข้อมูลดังกล่าวมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ได้เริ่มสำรวจในชุมชนเมืองจำนวนหนึ่งและพบว่าในหลายชุมชนมีคนไทยไร้สิทธิอยู่อาศัยและใช้ชีวิตอยู่ และเป็นข้อมูลที่พิสูจน์ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าปัญหาด้านสิทธิสถานะหรือคนไทยตกหล่นมิได้เป็นสิ่งที่มีอยู่แต่ในพื้นที่เขตชนบทหรือพื้นที่ห่างไกลเท่านั้น หากแต่ชุมชนเมืองหรือใจกลางเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ ก็มีผู้คนที่ประสบปัญหาดังกล่าวเช่นกัน

จากข้อมูลสถานการณ์ตั้งต้นดังกล่าว ได้นำมาสู่การผลักดันข้อเสนอในการเข้าถึงระบบหลักประกันสุขภาพของคนไทยไร้สิทธิหรือคนไทยที่ตกหล่นจากสถานะทางทะเบียน ในวันที่อยู่อาศัยโลก เมื่อปี 2561 อันนำไปสู่การจัดตั้ง “คณะทำงานพัฒนาการเข้าถึงบริการระบบหลักประกันสุขภาพของกลุ่มคนไทยที่มีปัญหาสถานะ” ภายใต้คณะอนุกรรมการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการสร้างหลักประกันสุขภาพของทุกภาคส่วนของ สปสช. ที่เปรียบเสมือนเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเด็นการเข้าถึงหลักประกันทางสุขภาพของคนไทยไร้สิทธิจนถึงปัจจุบัน

Advertisement

การขับเคลื่อนของคณะทำงานฯ และเครือข่าย ได้ทำให้เห็นภาพของ “คนไทยไร้สิทธิ” ที่ชัดเจนขึ้น และทำให้ปัญหาของคนไทยไร้สิทธิถูกพูดถึงทั้งในระดับปฏิบัติการและระดับนโยบายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในหน่วยบริการทางสาธารณสุข หรือสถานพยาบาลจำนวนมาก ที่เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาคนไทยไร้สิทธิอันเนื่องมาจากการแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาคนไทยกลุ่มนี้โดยไม่สามารถเบิกจ่ายจากงบประมาณหรือกองทุนใดได้ บางสถานพยาบาลที่ช่วยเหลือกลุ่มคนไทยไร้สิทธิอาจต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายถึงหลักล้านบาท

การขับเคลื่อนเพื่อสิทธิสวัสดิการของ‘คนไทยไร้สิทธิ’
เป้าหมายร่วมสำคัญในการทำงาน “คนไทยไร้สิทธิ” ของหน่วยงานและเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง คือ การทำให้คนไทยไร้สิทธิหรือคนไทยตกหล่นจากสิทธิสถานะเหล่านี้ สามารถเข้าถึงหลักประกันทางสังคมและสุขภาพได้อย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ ทั้งผ่านการพัฒนาสิทธิสถานะในแนวทางและรูปแบบต่างๆ เพื่อให้ได้สิทธิสถานะทางทะเบียนที่เหมาะสม การพัฒนากลไกและทรัพยากรให้คนไทยที่ยังตกหล่นหรืออยู่ระหว่างรอการพิสูจน์สถานะสามารถเข้าถึงหลักประกันทางสุขภาพทั้งผ่านกองทุนให้สิทธิ (คืนสิทธิ) ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขให้กลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิหรือการจัดตั้งกลไกใหม่ในรูป “กองทุนรักษาพยาบาลคนไทยรอพิสูจน์สถานะ”

ปัจจุบัน หลังการลงนามเอ็มโอยู “คนไทยไร้สิทธิ” หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขปัญหาทั้งในเชิงปฏิบัติการและในเชิงนโยบายเพื่อให้เกิดการเข้าถึงหลักประกันทางสุขภาพและสวัสดิการ อันเป็นพื้นฐานที่จะทำให้คนไทยไร้สิทธิสามารถเข้าถึงคุณภาพชีวิตและการมีสุขภาวะที่ดี ดังพอสรุปได้ ดังนี้

1) สปสช.ได้ปลดล็อกให้คนไทยไร้สิทธิหรือบุคคลที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านกลางและบัตรประจำตัวสูญหาย สามารถใช้สิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ โดยใช้ใบคัดสำเนารายการทะเบียนราษฎร จากฐานข้อมูลการทะเบียน (ท.ร.14/1) หรือใบคัดทะเบียนประวัติบุคคล (ทร.12) ในการขึ้นสิทธิ/ย้ายสิทธิตามระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และในกรณีที่ทราบแต่เพียงหมายเลขประจำตัวประชาชน แต่ไม่มีบัตรประชาชนหรือบัตรเอกสารอื่นใดที่ทางราชการออกให้ หากแต่มีชื่อและเลขทะเบียนในทะเบียนบ้านกลาง และมี “เหตุจำเป็น” หรือ “ฉุกเฉิน” ที่จะต้องเข้ารับบริการ สามารถที่จะเข้ารับบริการจากหน่วยบริการได้ด้วยการลงทะเบียนด้วยเลขทะเบียน 13 หลักของผู้มีสิทธินั้นคู่กับบัตรประจำตัวประชาชนของพยานบุคคลที่น่าเชื่อถือ

2) การพัฒนาเครือข่ายเพื่อแก้ไขปัญหาคนไทยไร้สิทธิใน 7 จังหวัด ที่เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างภาคประชาสังคมมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย สสส., สปสช. สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ในการพัฒนาเครือข่ายทั้งภาคประชาชนและภาควิชาชีพจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาคนไทยไร้สิทธิและคนไทยที่ตกหล่นจากสิทธิสถานะ รวมถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาทั้งการพัฒนาสิทธิสถานะ การสนับสนุนช่วยเหลือด้านการเข้าถึงสวัสดิการ และการพัฒนาความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในระดับพื้นที่ เพื่อสร้างเครือข่ายและระบบนิเวศในการทำงานด้านคนไทยไร้สิทธิที่มีความเหมาะสม

3) การนำร่องให้โรงพยาบาล (รพ.) ในพื้นที่เก็บสารพันธุกรรม (DNA) เพื่อพิสูจน์อัตลักษณ์ให้กับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ที่จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้กับกลุ่มคนไทยตกหล่นและคู่ตรวจในการตรวจ DNA และเพิ่มความครอบคลุมและประสิทธิภาพในการพิสูจน์อัตลักษณ์หรือตรวจ DNA ให้กับคนไทยตกหล่น ปัจจุบันได้มีการนำร่องในจังหวัด ได้แก่ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร รพ.ตราด และเตรียมขยายผลสู่ รพ.สรรพสิทธิประสงค์ รพ.พหลพลพยุหเสนา และ รพ.หาดใหญ่/สงขลา ในอนาคต ซึ่งการนำร่องเก็บสารพันธุกรรมดังกล่าวไม่เพียงแต่จะมีการวางระบบในการจัดเก็บและส่งตรวจจากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์เท่านั้น หากแต่ รพ.ในพื้นที่จะต้องมีการวางระบบทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการส่งต่อเรื่องของคนไทยไร้สิทธิแต่ละคนเพื่อให้เกิดการนำผล DNA มาสู่การพัฒนาด้านสิทธิสถานะที่เหมาะสมและนำไปสู่การเข้าถึงหลักประกันทางสุขภาพและสวัสดิการ

อย่างไรก็ดี แม้ความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนงานด้าน “คนไทยไร้สิทธิ” จะมีความคืบหน้าและมีรูปธรรมที่เห็นได้อย่างเด่นชัดและเข้าใกล้กับเป้าหมายในการสร้างหลักประกันและการเข้าถึงสวัสดิการ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและสุขภาพ หากแต่ความคืบหน้าดังกล่าวก็ดูเหมือนจะยังมีหนทางที่จะต้องเดินและขับเคลื่อนต่อไป เพื่อให้คนไทยไร้สิทธิทุกคนสามารถเข้าถึงหลักประกันทางสังคมและสุขภาพได้อย่างครอบคลุมและประสิทธิภาพ อันเป็นพื้นฐานสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตและลดความเหลื่อมล้ำจากรุ่นสู่รุ่น

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image