อึ้ง! แม่วัยรุ่นครึ่งหนึ่งตั้งใจปล่อยท้อง กรมอนามัยเผย น.ร.ป่องได้เรียนต่อสูงขึ้น

อึ้ง! แม่วัยรุ่นครึ่งหนึ่งตั้งใจปล่อยท้อง กรมอนามัยเผย น.ร.ป่องได้เรียนต่อสูงขึ้น

เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2565 นพ.บุญฤทธิ์ สุขรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นว่า อัตราการคลอดของวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง โดยปี 2562 อยู่ที่ 31.3 ต่อพันประชากร ปี 2563 ลดลงเหลือ 28.7 ต่อพันประชากร เช่นเดียวกับวัยรุ่นอายุ 10-14 ปี ก็ลดลงจากปี 2562 อยู่ที่ 1.1 ต่อพันประชากร ปี 2563 ลดลงเหลือ 0.9 ต่อพันประชากร

“อย่างไรก็ตาม จากการดูอาชีพของวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์พบว่า กลุ่มนักเรียน นักศึกษา ในระบบโรงเรียนจากเดิมที่สถานการณ์เคยลดลงจากปี 2562 อยู่ที่ร้อยละ 39.5 ปี 2563 ลดเหลือร้อยละ 28 แต่ปี 2564 กลับสูงขึ้นเป็นร้อยละ 47.5 ทั้งนี้ จากการขับเคลื่อนร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภายใต้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 ทำให้นักเรียน นักศึกษาที่ตั้งครรภ์ได้เรียนต่อในสถานศึกษาเดิมมีแนวโน้มสูงขึ้น จากเดิมปี 2559 ได้เรียนต่อ ร้อยละ 13.7 ให้ออก หยุดเรียน หรือลาออกเกินครึ่ง ร้อยละ 53.5 แต่ล่าสุด ปี 2564 ได้เรียนต่อที่เดิมเพิ่มเป็นร้อยละ 33.8 ให้ออก หยุดเรียน หรือลาออกลดลงเหลือ ร้อยละ 36.1 แต่กลุ่มนักเรียน นักศึกษาที่คลอดแล้วในปี 2564 พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 52.6 อยู่บ้านเลี้ยงลูก” นพ.บุญฤทธิ์กล่าว

ทั้งนี้ นพ.บุญฤทธิ์กล่าวว่า สำหรับปัญหาการตั้งครรภ์ซ้ำในวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี อัตราลดลงต่อเนื่องเช่นกัน จากปี 2559 อยู่ที่ร้อยละ 12.2 ล่าสุดปี 2563 ลดลงเหลือ ร้อยละ 8.1 ซึ่งในการแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ซ้ำนั้น เมื่อวัยรุ่นตั้งครรภ์และมาคลอดในระบบสาธารณสุข เราพยายามให้เขาคุมกำเนิดแบบกึ่งถาวร คือ ยาฝังคุมกำเนิด ซึ่งมีประสิทธิภาพดีที่สุด โอกาสพลาดน้อยที่สุด แต่มีบางส่วนอาจจะฝังแล้วมีผลข้างเคียงบ้างจึงเปลี่ยนวิธีไป หรือบางคนยืนยันว่าจะเลือกวิธีอื่น ซึ่งประสิทธิภาพก็ลดลงไป ทำให้มีโอกาสพลาด

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามว่า ต้องมีการติดตามวัยรุ่นหลังคลอดในระยะยาวด้วยหรือไม่ เพื่อป้องกันการใช้ชีวิตที่ทำให้เสี่ยงตั้งครรภ์ซ้ำ นพ.บุญฤทธิ์กล่าวว่า มีข้อมูล Teen Pregnancy Surveillance สำนักอนามัยเจริญพันธุ์ที่ถามกลุ่มวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์และมาคลอดว่า ที่มาที่ไปเป็นอย่างไร มีการเรียนก่อนตั้งครรภ์หรือไม่ ตั้งครรภ์แล้วโดนไล่ออกหรือไม่ หลังคลอดแล้วจะกลับไปเรียนหรือเลี้ยงลูก

“แต่ยังมีข้อจำกัดที่ไม่สามารถติดตามระยะยาวว่า หลังออกจากหน่วยบริการสาธารณสุขในระยะยาวเป็นอย่างไร ยังตามไม่ได้ขนาดนั้น เราตามได้นานสุดคือประมาณ 6 สัปดาห์หลังคลอด” นพ.บุญฤทธิ์กล่าว

เมื่อถามต่อว่า ต้องให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) หรือกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ช่วยติดตามในระยะยาวด้วยหรือไม่ นพ.บุญฤทธิ์กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคมที่ผ่านมา ก็มีการพยายามหารือเรื่องการเชื่อมโยงฐานข้อมูลของแต่ละกระทรวงเข้าด้วยกัน ถ้าเชื่อมโยงข้อมูลกันได้จริง ก็จะตามได้ว่าแต่ละคนคลอดแล้วเกิดอะไรขึ้นบ้าง แต่ก็จะมีกระบวนการพอสมควรทั้งเรื่อง ข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ต้องดำเนินการตามกฎหมาย จึงต้องใช้ระยะเวลาสักระยะหนึ่งกว่าจะรวมข้อมูลได้

Advertisement

ต่อข้อถามว่า มีข้อมูลหรือไม่ว่าการตั้งครรภ์ไม่พร้อมของวัยรุ่นก็เกิดจากการที่แม่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมเหมือนกัน นพ.บุญฤทธิ์กล่าวว่า ความพร้อมหรือไม่พร้อมอธิบายยาก เพราะการรับรู้ว่าพร้อมหรือไม่พร้อมของแต่ละคนนั้นต่างกัน ข้อมูลของ สธ.เอง เราจะถามว่าตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ พอจะบอกได้ระดับหนึ่ง

“แต่พร้อมหรือไม่พร้อม จากประสบการณ์บางคน แม้จะมีหน้าที่การงานดี เงินเดือนสูง ครอบครัวดูดี แต่ยังไม่พร้อม แต่เราถามในวัยรุ่นอายุ 16-17 ปี เรียนยังไม่จบ รายได้ตัวเองยังไม่มี ถามว่าพร้อมไหม หนูพร้อม จึงอาจแปลผลเรื่องพร้อมไม่พร้อมของแต่ละคนยาก แต่จากการสอบถามวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ไปฝากท้องแล้วคลอด ก่อนท้องตั้งใจจะท้องหรือไม่ พบว่า ครึ่งๆ คือครึ่งหนึ่งบอกว่าตั้งใจ อีกครึ่งบอกไม่ตั้งใจ ส่วนเหตุผลอะไรที่ทำให้มีความตั้งใจจะท้องนั้น อาจจะต้องเก็บข้อมูลตรงนี้เพิ่ม สำหรับแม่วัยรุ่นที่อายุน้อยสุด เราเคยพบอายุประมาณ 11-12 ปี แต่นานๆ ถึงจะพบ” นพ.บุญฤทธิ์กล่าว

เมื่อถามอีกว่า ทารกจากแม่ที่อายุน้อยสุขภาพเป็นอย่างไร นพ.บุญฤทธิ์กล่าวว่า เรื่องสุขภาพกายไม่ค่อยมีปัญหา ถ้าคลอดมาได้ แต่ช่วงคลอด ถ้าแม่อายุน้อยมาก อาจจะคลอดยาก และช่วงฝากครรภ์ หากรับสารอาหารไม่ดี ทารกจะตัวเล็ก แต่ทั่วไป ถ้าคลอดได้โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน สุขภาพของทารกจะไม่ต่างจากที่คลอดจากแม่วัยอื่นๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image