ร่างกม. ‘ฉีดให้ฝ่อ’ แก้ข่มขืนได้จริงหรือ

ร่างกม. ‘ฉีดให้ฝ่อ’ แก้ข่มขืนได้จริงหรือ

ประเด็น ฉีดให้ฝ่อ ผู้กระทำความผิดทางเพศ ถูกพูดถึงอีกครั้ง ภายหลังที่ประชุมวุฒิสภาโหวตเห็นชอบผ่านร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. … ในวาระ 3 จากนี้เตรียมส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป

แง้มดูภายในร่างกฎหมายนี้มี 43 มาตรา สาระสำคัญคือ การเพิ่มมาตรการติดตามผู้กระทำความผิดทางอาญาเกี่ยวกับเพศ หรือการใช้ความรุนแรง เช่น การฆาตกรรม การข่มขืนกระทำชำเรา ความผิดทางเพศเกี่ยวกับเด็ก การทำร้ายผู้อื่นจนถึงแก่ความตาย แม้จะพ้นโทษไปแล้ว แต่หากมีแนวโน้มจะกระทำผิดซ้ำในรูปแบบเดิมอีกก็ต้องได้รับการจัดการดูแล เป็นที่มาของร่างกฎหมายนี้

แนวทางการฉีดให้ฝ่อ คือ การใช้ยากดฮอร์โมนเพศชายแก่ผู้กระทำผิด โดยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชและอายุรศาสตร์อย่างน้อย 2 คน เห็นพ้องกันและได้รับความยินยอมจากผู้กระทำผิด และให้นำผลการใช้มาตรการทางการแพทย์ดังกล่าวเป็นเงื่อนไขพิจารณาลดโทษ พักการลงโทษ หรือให้ผู้กระทำผิดได้รับการปล่อยตัวก่อนกำหนดได้

ด้วยประเทศไทยยังเกิดปัญหาข่มขืนอยู่เรื่อยๆ จึงไม่แปลกที่คนในสังคมบางส่วนแสดงความเห็นด้วยกับร่างกฎหมายนี้ แต่บางส่วนก็มองว่าอาจไม่คุ้มค่า เพราะฉีดให้ฝ่อต้องทำทุก 3 เดือน ใช้เงินต่อครั้งเป็นหลักแสนบาท อาจไม่คุ้มค่าในเชิงการใช้งบประมาณ

Advertisement

จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า ส่วนตัวไม่เห็นด้วย เพราะเป็นการแก้ไขปัญหาปลายเหตุ ทั้งที่รากของปัญหาเรื่องการข่มขืนที่แท้จริงคือทัศนคติของผู้กระทำ รวมไปถึงคนในสังคม ได้รับอิทธิพลมาจาก ‘แนวคิดชายเป็นใหญ่’ เมื่อเราจะแก้ไขปัญหาดังกล่าวเราควรจะแก้ที่ต้นเหตุ ไม่ใช่ปลายเหตุ

“การใช้กฎหมายมาขู่ให้คนกลัว ต่อให้ใช้กฎหมายแรงสักเท่าไหร่แต่หากคนเหล่านั้นยังไม่ได้เห็นว่ามนุษย์ทุกคน เพศทุกเพศเท่าเทียมกัน เราก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ อีกทั้งตัวกฎหมายของไทยที่มีลักษณะของการยอมความ ประนีประนอม ทำให้มองว่าเรื่องของการเพิ่มโทษนั้นจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้”

จะเด็จขยายความระบบชายเป็นใหญ่ คือ การที่ผู้กระทำผิดคิดว่าตนเองมีอำนาจเหนือกว่า นึกอยากจะคุกคามทางเพศ หรือข่มขืนใครก็ทำได้ โดยเฉพาะผู้มีอำนาจน้อยกว่า เช่น พ่อกับลูก ครูกับนักเรียน หัวหน้ากับลูกน้อง หรือแม้แต่พระสงฆ์

Advertisement

ฉะนั้น ต้องแก้ด้วยการปรับทัศนคติ เริ่มตั้งแต่การบ่มเพาะในครอบครัวไปจนถึงกระทรวงการศึกษาต้องเข้ามามีส่วนในการปลูกฝังให้ทุกคนเคารพซึ่งกันและกัน และต้องทำความเข้าใจว่า ไม่ว่าจะเป็นเพศไหนก็ต้องเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน เมื่อแก้ไขปัญหาโครงสร้าง สังคมจะดีขึ้นในอนาคต มีความเท่าเทียมกัน ทุกเพศให้ความเคารพกัน เป็นโจทย์ใหญ่ควรจะแก้ และต้องใช้เวลา

ถามถึงบทลงโทษ จะเด็จกล่าวว่า การลงโทษจำเป็นต้องมี แต่ลงโทษต้องสร้างสรรค์ อย่างศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก จัดตั้งโดยกระทรวงยุติธรรม มีการฝึกอบรมให้เด็กเข้าไปอยู่ ได้เรียนรู้ และยอมรับความผิดของตนเอง ทำความเข้าใจและไม่กระทำผิดซ้ำ และเคารพความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน เราควรจะมุ่งเน้นและส่งเสริมวิธีการแก้ไขปัญหาในลักษณะนี้มากกว่าการเพิ่มบทลงโทษ

“สมมุติว่าฉีดยา เมื่อหมดฤทธิ์เขาก็ทำอีก เพราะไม่ได้รับการอบรมทางความคิด อีกทั้งวิธียังมีค่าใช้จ่ายสูง และต้องฉีดทุกๆ 3 เดือน ต่อปีคิดเป็นเงินหลายแสน นำงบประมาณไปทำในเชิงของบ้านกาญจนาภิเษกให้มีหลายๆ แห่งจะดีกว่าหรือไม่ เพราะเป็นการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความเท่าเทียม ปรับทัศนคติไปด้วยกัน วันนึงเขาเข้าใจว่าสิ่งที่ทำไม่ถูกต้อง เขาจะเลิกกระทำผิดไปเองบ้านกาญจนามีมาเป็นสิบๆ ปีแล้ว ได้รับการตอบรับเชิงบวก คนส่วนใหญ่ผ่านการอบรมก็จะไม่กลับมากระทำผิดซ้ำ บ้างก็ไปเป็นวิทยากร ออกมาพูดรณรงค์เกี่ยวกับเรื่องความเท่าเทียม”

จะเด็จชวนคนไทยตั้งข้อสังเกตว่า พอเกิดวิกฤต หรือมีคดีใหญ่ๆ เกี่ยวกับเรื่องข่มขืน สังคมจะชอบพูดถึงเรื่องประหาร การเพิ่มลงโทษรุนแรง เด็ดขาด แต่เรื่องการปรับทรรศนะเป็นเรื่องพูดถึงกันน้อยมาก การสร้างความกลัวจะช่วยแก้ไขปัญหาได้ในระยะสั้น แต่ในระยะยาวการปลูกฝังและปรับความคิดของคนในสังคมยั่งยืนกว่าการเพิ่มบทลงโทษ และสังคมจะสงบสุข ไม่มีความเหลื่อมล้ำ มีความเท่าเทียมกัน แต่กว่าคนจะปรับทรรศนะของคนก็ต้องใช้เวลา เราต้องทำเรื่องนี้ให้จริงจัง

ขณะที่ ‘ป้ามล-ทิชา ณ นคร’ ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก และที่ปรึกษามูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว แสดงความไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายฉีดให้ฝ่อเช่นกัน โดยให้เหตุผลว่าไม่อยากให้ประเทศไทยมีกฎหมายตอบโจทย์ความรู้สึกอยากล้างแค้น อยากโต้ตอบ กฎหมายไทยไม่ควรอยู่ในบริบทนี้

ทิชาเห็นพ้องกับจะเด็จว่า รากเหง้าปัญหาข่มขืนมาจากความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ผู้กระทำมีอำนาจเหนือกว่าผู้ถูกกระทำ ฉะนั้น หากใช้เครื่องมือฉีดให้ฝ่อแล้วปล่อยให้ระบบชายเป็นใหญ่พัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ เป็นการแก้ปัญหาไม่ตอบโจทย์ และไม่ทำให้สถานการณ์ปัญหาคลี่คลายลงได้

“หากผู้เสนอกฎหมายจะอ้างเหตุผลว่าจำเป็นต้องฉีดให้ฝ่อ เพื่อจัดการกับผู้กระทำความผิดทางเพศซ้ำๆ การเปิดประเด็นแบบนี้ถือว่ายังไม่รอบด้านพอจะอ้างว่าต้องมีกฎหมาย”

ป้ามลตั้งคำถามถึงระบบบำบัดฟื้นฟูเยียวยาผู้ต้องขังในปัจจุบันได้ปฏิบัติตามหลักวิชาการแล้วหรือไม่ เพื่อจะจัดการกับพฤติกรรมในสิ่งที่ผู้ต้องขังทำผิด เพราะหากมีระบบเยียวยานี้จริงปัญหาทางจิตของเขาจะถูกแก้ไขได้ แต่เพราะไม่ได้ทำเลย จู่ๆ มาบอกว่าเขากระทำผิดซ้ำ แล้วออกกฎหมายจัดการ จึงอดตั้งคำถามไม่ได้
ก่อนยกเคสเด็กและเยาวชนกระทำผิดคดีทางเพศเข้ามาในบ้านกาญจนาฯ พบว่าแท้จริงแล้วพวกเขาไม่ได้บ้าเซ็กซ์ ไม่ได้ง่วนกับการช่วยตัวเอง หรือหมกมุ่นกับเพศของตัวเอง พวกเขาเป็นเพียงวัยรุ่นปกติ ทำกิจกรรม เล่นซน และเรียนรู้ไปกับเรา จึงประเมินว่าพฤติกรรมส่วนใหญ่มาจากความคึกคะนอง คิดว่าตัวเองมีอำนาจเหนือกว่าผู้หญิงที่ถูกกระทำ

“ในการทำงานเราซ่อมความคิดเขา ไม่ได้ยุ่งกับกระจู๋ของเขา หรือหายามาลดความต้องการทางเพศ เราคิดว่านี่เป็นความไม่ถูกต้องทางวิธีคิด คิดว่าตัวเองมีอำนาจเหนือกว่าผู้หญิง แล้วใช้อำนาจละเมิด บังคับ คุกคามเขา โดยให้พวกเขาได้พลิกบทบาทตัวละคร คือคนในครอบครัวของเขา หากเกิดขึ้นบ้างรู้สึกอย่างไร เจ็บปวดไหม ห่วงโซ่ของผู้เสียหายจะเจ็บปวดแค่ไหน มีการพูดคุยกันตลอด

ไม่ใช่เพียงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในข่าว เรายังให้เขาดูหนังที่มีการคุกคามทางเพศ รับรู้ถึงความเจ็บปวดของผู้เสียหายในหนัง ใช้เวลาปีครึ่งขึ้นไป จนในที่สุดเขารู้สึกเศร้าหมองกับการกระทำของเขา”

ทิชายืนยันจากสถิติเด็กบ้านกาญจนาฯที่ออกไป พบว่ามี 6 เปอร์เซ็นต์ กลับไปกระทำผิดซ้ำ ทั้งหมดเป็นคดียาเสพติด ไม่มีคดีความผิดเกี่ยวกับเพศ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image