เตรียมรับมือ! สธ.คาดโควิดพีคหลัง 12 ส.ค. ป่วยหนักเพิ่มเท่าตัว เริ่มในกรุงกระจายเข้าภูมิภาค
วันที่ 15 กรกฎาคม 2565 นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยรอบนี้ ว่า ขณะนี้สถานการณ์โควิด-19 ระดับความรุนแรงยังอยู่ที่ระดับ 2 ยังเป็นสีเขียว หากเทียบกับสถานการณ์ตอนที่สายพันธุ์เดลต้าระบาดเมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นสีแดง ยังต่างกันอยู่มาก ข้อมูลที่ติดตามเป็นหลัก คือ ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล (รพ.) ที่มีปอดอักเสบและผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ โดยขณะนี้ผู้ป่วยที่ใส่ท่อช่วยหายใจใกล้จะถึง 400 รายแล้ว สถานการณ์ที่เพิ่มขึ้นในตอนนี้เป็นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล
นพ.จักรรัฐกล่าวว่า ช่วงนี้ที่ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจเพิ่มขึ้น เป็นผลพวงจากการติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นเมื่อ 3-4 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะ 2 สัปดาห์ที่แล้ว ที่ตัวเลขเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก ส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม 608 ช่วงนี้จึงต้องปรับรูปแบบการรักษาให้เร็วขึ้น เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยหนักให้น้อยลง รวมถึงต้องเร่งฉีดวัคซีนให้มากขึ้น หากถึงกำหนดฉีดเข็มกระตุ้น (บูสเตอร์โดส) ต้องไปฉีด เพราะหลังฉีดแล้วต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ภูมิคุ้มกันถึงจะขึ้นและป้องกันเชื้อได้
“ฉีดวัคซีนตอนนี้ อีก 2 สัปดาห์น่าจะพอดี เนื่องจากคาดการณ์ว่า สถานการณ์ระบาดรอบนี้จะสูงสุดช่วงหลังวันแม่ หรือวันที่ 12 สิงหาคม 2565 ตัวเลขข้อมูลในส่วนต่างๆ จะมากขึ้นกว่าปัจจุบันราว 1 เท่าตัว โดยผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นก่อนจำนวนมาก จากนั้น จะมีผู้ป่วยอาการหนักเพิ่มขึ้นตามมา โดยสถานการณ์ขึ้นสูงสุด จะเริ่มที่กรุงเทพฯก่อน แต่ไม่ได้อยู่ที่กรุงเทพฯอย่างเดียว จะกระจายไปจังหวัดอื่นด้วย สถานการณ์สูงสุดจะค่อยๆ ขึ้น และอาจจะเร็วกว่านี้ได้” นพ.จักรรัฐกล่าว
นพ.จักรรัฐกล่าวว่า สำหรับในช่วงหยุดยาว แม้การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นไม่ยังไม่มากเพียงพอที่ต้องการร้อยละ 60 แต่ฉีดไปกว่าร้อยละ 40 แล้ว และประชาชนเข้าใจวิธีการป้องกันตนเองหลังจากมีประสบการณ์มา 2 ปีครึ่ง หวังว่าการเดินทางในรอบหยุดยาว คงจะมีมาตรการป้องกันส่วนบุคคลค่อนข้างดี หวังว่าการติดเชื้อไม่กระจายไปในจังหวัดที่ไปท่องเที่ยวมากนัก อีกทั้งมาตรการต่างๆ ของขนส่งสาธารณะยังคงความเข้มข้นอยู่ แม้ว่าบางสายการบินจะผ่อนคลายเรื่องการสวมหน้ากากอนามัยไปบ้างแล้ว แต่ก็ยังอยากจะให้ทุกคนช่วยกัน ยังอยากให้สวมหน้ากากอนามัยต่อไปก่อน รวมถึงเว้นระยะห่าง
นพ.จักรรัฐกล่าวว่า การปรับการรักษาให้เร็วขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่ม 608 ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว และหญิงตั้งครรภ์ หลายคนอาจจะคิดว่าอาการไม่มาก ฉีดวัคซีน 2 เข็มแล้ว รอก่อนได้ ค่อยไปหาแพทย์ หรือค่อยตรวจ ATK จะต้องขอให้ตรวจเร็วขึ้น ทันทีเมื่อเริ่มมีอาการ เช่น ไข้ ไอ เจ็บคอ แน่นหน้าอกมากขึ้น หายใจไม่ค่อยสะดวก หายใจลำบาก และถ้าเจอ 2 ขีดติดเชื้อ กลุ่มวัยทำงานอาจจะรักษาตัวที่บ้านได้ แต่กลุ่ม 608 ขอให้ทุกรายไป รพ.เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยอาการก่อนว่า จะมีแนวทางการรักษาอย่างไร เช่น หากเชื้อลงปอดแล้วอาจจะต้องนอนรักษาใน รพ.
นพ.จักรรัฐกล่าวด้วยว่า การปรับระดับความรุนแรงและการเตือนภัยสูงขึ้นนั้น ขณะนี้ตัวแปรต่างๆ ยังไม่ครบ โดยในส่วนของจังหวัดอื่นๆ ยังไม่ได้แตกต่างกันมากนัก ที่เพิ่มขึ้นในส่วนของกรุงเทพฯและปริมณฑล ซึ่งทุกระลอกพื้นที่เหล่านี้จะเพิ่มขึ้นก่อนเสมอ หากสามารถควบคุมโรคได้ดี คน 608 มีอาการไม่รุนแรงมากนักและจำนวนไม่มาก ก็อาจจะควบคุมโรคได้เร็ว ไม่กระจายต่อทั่วประเทศ ทั้งนี้ จะมีการปรับมาตรการป้องกันควบคุมโรค 1.เมื่อผู้ป่วยรายใหม่เข้ารักษาใน รพ. เกิน 4,000 รายต่อวัน อาจต้องให้สวมหน้ากากอนามัย 100% หรือเว้นระยะห่างมากขึ้น 2.ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ เกิน 400-500 รายต่อวัน อาจต้องปรับมาตรการรักษา ให้ยาเร็วขึ้น ป้องกันโรคอื่นด้วย และ 3.ผู้เสียชีวิต เกิน 40 รายต่อวัน ถ้าเกินต้องมีมาตรการเพิ่มเติม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเกณฑ์การพิจารณาระดับความรุนแรงของการระบาดโควิด-19 มี 5 ระดับ ประกอบด้วย
1.สีขาว โรคประจำถิ่นที่ควบคุมได้ดี จำนวนผู้ป่วยรับการรักษาใน รพ.เฉลี่ยต่อวัน น้อยกว่า 2,000 ราย อัตราป่วย-ตาย น้อยกว่าร้อยละ 0.1 อัตราการครองเตียงสำหรับผู้ป่วยอาการหนัก/จำนวนผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ น้อยกว่าร้อยละ 5 และการกระจายของโรคตามลักษณะทางระบาดวิทยา ระบาดเป็นกลุ่มก้อนขนาดเล็กที่ไม่มีการแพร่เชื้อต่อ
2.สีเขียว ที่เป็นระดับปัจจุบัน จำนวนผู้ป่วยรับการรักษาใน รพ.เฉลี่ยต่อวัน 2,000 ราย อัตราป่วย-ตาย ร้อยละ 0.07 จำนวนเสียชีวิตเฉลี่ยต่อวัน 20 ราย อัตราการครองเตียงสำหรับผู้ป่วยอาการหนัก ร้อยละ 10 จำนวนผู้ที่ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 200-400 ราย และการกระจายของโรคตามลักษณะทางระบาดวิทยา ระบาดในวงจำกัด (คลัสเตอร์ขนาดเล็ก)
3.สีเหลือง รุนแรงน้อย จำนวนผู้ป่วยรับการรักษาใน รพ.เฉลี่ยต่อวัน 4,000-6,000 ราย อัตราป่วย-ตาย มากกว่าร้อยละ 0.10 จำนวนเสียชีวิตเฉลี่ยต่อวัน 40-60 ราย อัตราการครองเตียงสำหรับผู้ป่วยอาการหนักร้อยละ 20-40 จำนวนผู้ที่ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 400-500 ราย และการกระจายของโรคตามลักษณะทางระบาดวิทยา ระบาดในวงจำกัด (คลัสเตอร์ขนาดใหญ่)
4.สีส้ม รุนแรงปานกลาง จำนวนผู้ป่วยรับการรักษาใน รพ.เฉลี่ยต่อวัน 6,001-8,000 ราย อัตราป่วย-ตาย มากกว่าร้อยละ 0.5 จำนวนเสียชีวิตเฉลี่ยต่อวัน 61-80 ราย อัตราการครองเตียงสำหรับผู้ป่วยอาการหนัก ร้อยละ 41-75 จำนวนผู้ที่ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 501-600 ราย และการกระจายของโรคตามลักษณะทางระบาดวิทยา ระบาดในวงกว้าง ขนาดใหญ่ และมีความเชื่อมโยงกัน
และ 5.สีแดง รุนแรงมาก จำนวนผู้ป่วยรับการรักษาใน รพ.เฉลี่ยต่อวัน 8,001-10,000 ราย อัตราป่วย-ตาย มากกว่าร้อยละ 1 จำนวนเสียชีวิตเฉลี่ยต่อวัน มากกว่า 80 ราย อัตราการครองเตียงสำหรับผู้ป่วยอาการหนักมากกว่าร้อยละ 75 จำนวนผู้ที่ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ มากกว่า 600 ราย และการกระจายของโรคตามลักษณะทางระบาดวิทยา มีการระบาดกลุ่มก้อนขนาดใหญ่ ในวงกว้าง กลไกระดับจังหวัดไม่สามารถควบคุมโรคได้