45 วัน ‘ชัชชาติ’ ทั้งสะสาง-เริ่มใหม่ เมกะโปรเจ็กต์

สกู๊ปหน้า 1 : 45 วัน‘ชัชชาติ’ ทั้งสะสาง-เริ่มใหม่ เมกะโปรเจ็กต์

เมื่อ “เวลามีค่า” ทำให้ตลอด 45 วัน ของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ หลังนั่งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) นับจากวันที่ 1 มิถุนายน 2565 ทุกจังหวะก้าว จึงมีแต่ทำงาน ทำงาน ทำงาน แบบเรียลไทม์ รายวัน รันงานน้อยใหญ่ อย่างไม่กลัวแดด กลัวฝน จนได้ใจคนกรุงเทพฯ

หนึ่งในภารกิจสำคัญของ ชัชชาติ คือ การสะสางปัญหาโครงการขนาดใหญ่ ภายใต้การกำกับดูแลของบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) วิสาหกิจของ กทม. ด้วยการสร้างปรากฏการณ์เปลี่ยนคณะกรรมการบริหารหรือบอร์ดยกแผง ดึงคนหลากวงการร่วมทีมบอร์ดชุดใหม่ มี ธงทอง จันทรางศุ อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีและผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ เป็นประธานบอร์ดคุมการบริหารเบ็ดเสร็จ

งานแรกประเดิมสางปม สัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว มีบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี เป็นคู่สัญญาที่ยังคาราคาซังมานานแรมปี งานนี้ ชัชชาติ คลี่ปัญหาทีละเปลาะ เพราะเป็นปัญหาใหญ่ มีความชับซ้อน ระหว่างสัมปทานเดิมเป็นเส้นทางไข่แดงจะสิ้นสุดในปี 2572 และส่วนต่อขยายที่จ้างบีทีเอสเดินรถล่วงหน้าถึงปี 2585

เมื่อไล่เรียงปัญหา ชัชชาติ เริ่มแก้โจทย์จาก หนี้ก้อนโต กว่า 1 แสนล้านที่ กทม.ต้องแบก

Advertisement

ก้อนแรกเป็นค่าก่อสร้างส่วนต่อขยายช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการและหมอชิต-คูคต กว่า 6 หมื่นล้านบาท ที่รับโอนจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)

ก้อนที่สองค่าติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกลกว่า 2.3 หมื่นล้านบาท และก้อนที่สามค่าจ้างบีทีเอสเดินรถส่วนต่อขยาย 1.2 หมื่นล้านบาท

ชัชชาติ เปิดแนวทางบริหารจัดการหนี้ว่า กทม.จะจ่ายหนี้ให้ รฟม.ทั้งค่าก่อสร้างพร้อมดอกเบี้ย ส่วนค่าจ้างเดินรถกับบีทีเอสต้องดูว่าการรับโอนหนี้ทำถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ และจะแก้ไขสัญญาให้สิ้นสุดพร้อมกับสัมปทานในปี 2572 ส่วนสัญญาสัมปทานเดิม ยังมีเวลาพิจารณาเพราะเหลืออีก 7 ปี

Advertisement

พร้อมกับย้ำว่าไม่ต้องการให้นำเรื่องภาระหนี้มาเป็นเงื่อนไขในการตัดสินใจในระยะยาว หรือเร่งรัดการต่อสัญญา ต้องดูอย่างรอบคอบและทำตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ให้เกิดการแข่งขัน ซึ่งเรื่องขยายสัมปทานยังค้างอยู่คณะรัฐมนตรี เป็นการเจรจาภายใต้คำสั่ง ม.44 เกินอำนาจหน้าที่ของ กทม.

ในทางคู่ขนาน ชัชชาติ ระบุว่าเพื่อเป็นการแก้ปัญหาระยะสั้น ก่อนหมดสัญญาสัมปทาน กทม.จะเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยายช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการและช่วงหมอชิต-คูคตที่เปิดใช้ฟรีในเดือนสิงหาคมนี้

โดยคิดค่าโดยสารสูงสุดทั้งสายหลักและส่วนต่อขยายไม่เกิน 59 บาท เท่ากับราคาที่เก็บในปัจจุบัน

จากนโยบายกำลังนำไปสู่การปฏิบัติ ล่าสุด ธงทอง ประธานบอร์ดเคที จะประชุมกับบีทีเอสวันที่ 18 กรกฎาคมนี้ เพื่อนำสัญญามาดูรายละเอียดว่ามีสมมุติฐานอะไรที่เปลี่ยน แปลงไปบ้างในปัจจุบัน เช่น ปริมาณผู้โดยสารที่หลังโควิด-19 ระบาด มีคนใช้บริการลดลง ระบบเทคโนโลยี

โดยทั้งหมดอาจทำให้ต้องทบทวนรายละเอียดค่าจ้างเดินรถกันใหม่ แม้ว่านัดแรกจะยังไม่มีข้อสรุปเสียทีเดียว

แต่ ธงทอง มั่นใจจะเห็นแนวทางว่าจะทำยังไงต่อไป

ไม่ใช่แค่รถไฟฟ้า ชัชชาติ ยังมีไอเดียแก้ปัญหารถเมล์ไม่พอสำหรับคนกรุง โดยมีแผนนำ รถเมล์ไฟฟ้า วิ่งบริการเสริมรถเมล์ ขสมก.ในบางเส้นทาง และเป็นฟีดเดอร์ป้อนคนให้เข้าถึงรถไฟฟ้าได้ง่าย

ล่าสุดอยู่ระหว่างกำหนดเส้นทางและระยะทางที่จะวิ่ง คาดว่าจะมีข้อสรุปออกมาอย่างเป็นทางการในเร็วๆ นี้ ซึ่งก่อนหน้านี้ ชัชชาติ เคยเปรยจะมีรถเมล์ฟรีสำหรับกลุ่มเปราะบาง ส่วนประชาชนทั่วไปอาจคิดราคาไม่เกิน 10 บาทตลอดสาย

นอกจากนี้ ชัชชาติ กำลังเดินหน้าจัดระเบียบสายไฟฟ้าและสายสื่อสารลงใต้ดินทั่วกรุง เพื่อปรับภูมิทัศน์เมือง และบรรเทาปัญหาไฟไหม้ที่เริ่มลุกลามหลายจุด จาก สำเพ็ง ล่าสุด ลาดพร้าว 111 โดยตั้งเป้าปีแรก 800 กิโลเมตร

จะว่าไปแล้วโครงการดึงสายสื่อสารลงใต้ดิน ทาง เคที เคยดึงเอกชนร่วมลงทุนเมื่อปี 2562 ระยะเวลา 30 ปี วงเงินลงทุน 2.5 หมื่นล้านบาท ระยะทางรวม 2,450 กิโลเมตร ซึ่งขณะนั้นได้เอกชนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่เพราะมีเสียงค้านมากกว่าเสียงหนุน เลยทำให้โครงการต้องล่มกลางคัน

มาถึงยุค ชัชชาติ ด้วยโครงการใช้เงินลงทุนสูง จึงต้องดึงแนวร่วมมาช่วยผลักดันรันงานให้สะดวกโยธิน

ล่าสุดผนึก ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เซตแผนจัดระเบียบสายสื่อสาร แบ่งเป็น 2 เฟส

เฟสแรกรื้อสายที่ไม่ได้ใช้งานออก ในปีนี้ตั้งเป้า 800 กิโลเมตร ส่วนเฟสสองเป็นการนำสายสื่อสารลงดิน มีค่าใช้จ่ายประมาณ 1.9 หมื่นล้านบาท โดยสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะช่วยงบประมาณ 1 หมื่นล้านบาท

อีกโครงการที่คงถึงเวลาต้องทบทวนแล้วเช่นกัน สำหรับ รถโดยสารด่วนพิเศษ หรือรถเมล์บีอาร์ที สายช่องนนทรี-ราชพฤกษ์ ระยะทาง 15.9 กิโลเมตร สายแรกของประเทศไทยที่ กทม.ใช้เงินลงทุนกว่า 2,000 ล้านบาท หลังเปิดใช้บริการมา 11 ปี มีแต่ขาดทุน

สอดคล้องกับ ธงทอง ประธานบอร์ดเคทีที่บอกว่า หลังสางปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียวแล้ว มีโครงการที่ต้องนำมาพิจารณารายละเอียดอีกหลายโครงการ เช่น โครงการขนและจัดเก็บขยะมูลฝอย รถเมล์บีอาร์ที

เมื่อพลิกดูโครงการ รถเมล์บีอาร์ที มีบีทีเอสเป็นผู้รับสัมปทานเดินรถ เก็บค่าโดยสาร 15 บาท ตลอดสาย โดยสัญญาจะสิ้นสุดวันที่ 31 สิงหาคม 2566 หลังเกิดการระบาดโควิด-19 มีผู้โดยสารใช้บริการน้อยลงจากกว่า 1 หมื่นเที่ยวคนต่อวัน เหลือไม่ถึง 1 หมื่นเที่ยวคนต่อวัน

จากสารพัดปัญหา ไม่ว่าด้านกายภาพของถนนแนวเส้นทาง มีปัญหาการจราจรติดขัด และยังมีช่วงสะพานเป็นคอขวดไม่สามารถจะแยกช่องจราจรเป็นการเฉพาะได้

อีกทั้งไม่สามารถปล่อยสัญญาณไฟจราจรเพื่อให้บีอาร์ทีวิ่งได้ตลอด รวมถึงความคุ้มค่าของโครงการยังหริบหรี่ ก่อนหน้านี้ กทม. ถอดใจจะเลิกโครงการ และเปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้าสายสีเทาช่วงพระราม 3-ท่าพระแทน ซึ่งโครงการบีอาร์ทีนี้ ทาง ชัชชาติ ก็กำลังชั่งใจจะเดินหน้าต่อหรือพอแค่นี้

ขณะที่โครงข่ายถนน-อุโมงค์-ทางลอดที่ กทม.ทุ่มเม็ดเงินก่อสร้างไปจำนวนมาก ชัชชาติ ลงไซต์ก่อสร้างเอกซเรย์แผนงาน สัญญาแต่ละโครงการให้เสร็จตามแผน เพื่อคืนผิวการจราจรและแก้รถติด

ล่าสุดเตรียมปิดมหากาพย์ อุโมงค์ทางลอดแยกไฟฉาย หลังใช้เวลาก่อสร้างมาราธอนถึง 13 ปี สั่งตัดริบบิ้นเปิดใช้ในวันที่ 1 สิงหาคมนี้ เช่นเดียวกับ ถนนเลียบคลองบางเขน มีกำหนดจะเปิดใช้ในเดือนเดียวกัน

จากนั้นวันที่ 1 กันยายน เป็นคิวของ อุโมงค์รัชดา-ราชพฤกษ์ ส่วนสะพานข้ามแยกบริเวณห้าแยก ณ ระนอง จะเริ่มเปิดการจราจรบางส่วนตั้งแต่เดือนสิงหาคมและเปิดใช้ทั้งโครงการในเดือนธันวาคม 2565 นี้

เป็น 45 วันของ ชัชชาติ ที่ผลงานเริ่มผลิดอกออกผล หลังสู้อดทนกรำงานมาอย่างหนัก

ส่วนในวันพรุ่งนี้หรือวันต่อๆ ไป จะมีเซอร์ไพรส์ออกมาอีกหรือไม่ จึงน่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง!?!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image