สธ.-กทม.ทำแผนเผชิญเหตุโควิดในกรุง สต๊อกยา 10 วัน หนัง-ดนตรี มีคลัสเตอร์พร้อมงด!

สธ.-กทม.ทำแผนเผชิญเหตุโควิดในกรุง สต๊อกยา 10 วัน หนังกลางแปลง-ดนตรี มีคลัสเตอร์พร้อมงด!

บ่ายวันนี้ (18 กรกฎาคม 2565) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ.พร้อมด้วย พญ.วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) และ นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม.ร่วมแถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการอำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด-19 (ศปค.สธ.) ครั้งที่ 5/2565 โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ สธ. เข้าร่วมสังเกตการณ์และรับฟังด้วย

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า มีการประชุมร่วมกับ กทม. ครั้งสุดท้ายคือ ช่วงเดือนเมษายน 2565 และเมื่อช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เริ่มมีการติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้น เพราะเชื้อโอมิครอน BA.4 และ BA.5 ประกอบกับเดือนมิถุนายน 2565 ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โรคโควิด-19 (ศบค.) ชุดใหญ่ ยกเลิกคำสั่ง ศบค.กทม. เพื่อคืนพื้นที่ให้ กทม.ทำให้องค์ประกอบ เช่น คณะอนุกรรมการต่างๆ หมดวาระไป แต่ด้วยปัญหาการติดเชื้อมากกว่าครึ่งหนึ่งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ สธ.จึงต้องสนับสนุน กทม.ดูแลปัญหาติดเชื้อ รวมถึงผู้ป่วยหนัก อย่างไรก็ตาม สธ.ไม่มีโรงพยาบาล (รพ.) ในสังกัดสำนักปลัด สธ.อยู่ในกรุงเทพฯ มีแต่ รพ.สังกัดกรมการแพทย์ แต่สามารถทำงานร่วมกันได้ โดยมี กทม.เป็นกำลังหลัก ร่วมกับ รพ.เอกชน รพ.โรงเรียนแพทย์ ทั้งนี้ จำนวนเตียง การติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น จึงมีการเชิญทาง กทม. เข้าร่วม

“วันนี้รองปลัด กทม. และผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม. ร่วมประชุมพร้อมด้วย น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. ประชุมผ่านออนไลน์ โดยการดูแลในกรุงเทพฯ สธ.จะสนับสนุน 3 ด้าน คือ 1.การป้องกัน 2.วัคซีนโควิด-19 แม้กรุงเทพฯ ฉีดเกิน 100% แล้ว แต่ยังมีปัญหาการติดเชื้อ จึงต้องหาสาเหตุว่าเกิดจากอะไร มีกิจกรรมอย่างไร และจะดำเนินการอย่างไร และ 3.การรักษา ยา เตียง เอากระเป๋ามาเปิด ดูว่า 2 กระเป๋านี้ เหมือนกันหรือไม่ ซึ่งใกล้เคียงกัน พบว่า สถานการณ์เตียงอยู่ในระดับดูแลได้ โดยเฉพาะเตียง 2.1 2.2 และ 2.3 ยังมีปริมาณใช้เตียงไม่มาก เราสามารถดูแลได้ แต่ที่มากคือ เตียงระดับ 1 หรือสีเขียวมีถึงร้อยละ 98 แต่ก็ไม่ได้เต็ม เพราะเตียงสีเขียวสามารถขยายได้ ดังนั้น จึงมีเตียงเพียงพอในกรุงเทพฯ ทั้งนี้ สธ.จะร่วมทำแผนกับ กทม.ว่า หากผู้ป่วยอยู่ระดับใด แล้ว กทม.จะทำอะไร สธ.จะทำอะไรบ้าง ซึ่งเราจะต้องไปทำแผนกัน” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

Advertisement

ปลัด สธ. กล่าวว่า สำหรับการดูแลรักษาจะใช้กลไกคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ที่มีผู้ว่าฯ กทม. เป็นประธาน ส่วนเรื่องยา ทาง กทม.ขอให้ สธ.สนับสนุนให้เพียงพอ ขณะนี้เหลือใช้ได้เพียง 7 วัน ก็ต้องบริหารจัดการให้เหมาะสมไม่ให้ขาดแคลน

“เราไม่ได้มียาเหลือเฟือ เพราะยามาเป็นล็อตๆ ไม่ได้มาทุกวัน ต้องใช้เวลาผลิต สั่งออเดอร์ประมาณ 2-3 สัปดาห์ ทั้งนี้ จะมีการปรับให้เข้าถึงยามากขึ้น โดยให้ รพ.เอกชน หรือคลินิกเข้ามาร่วมในการเข้าถึงยาด้วยเรื่องยา เราได้คุยกับเมื่อเช้าว่า เมื่อป่วยก็จะหายาต้านไวรัส แต่ด้วยหลักการ หากผู้ป่วยไม่มีอาการหรือมีน้อย กลุ่มสีเขียวก็ไม่จำเป็นต้องรับยา เราก็ตกลงให้ชัดเจนว่าจะให้ยาต้านไวรัสในกลุ่มสีเหลืองขึ้นไป นอกนั้นก็จะให้ยาตามอาการ พิจารณาตามความเหมาะสมของแพทย์ ส่วนการให้ยาฟาวิพิราเวียร์ โมลนูพิราเวียร์ เรมเดซิเวียร์ แพกซ์โลวิด ก็จะขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแพทย์ ดูตามความเสี่ยง เพราะการใช้เกินความจำเป็นอาจมีผลดื้อยา มีผลข้างเคียงโดยไม่จำเป็นได้” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

Advertisement

ด้าน พญ.วันทนีย์ กล่าวว่า กทม.ตั้งใจขอบคุณ สธ. ที่สนับสนุนยา เพื่อให้ กทม.แจกจ่ายไปยังผู้ป่วยโควิด-19 ในเกณฑ์ที่ต้องได้รับ ขณะนี้เตียง กทม.ยังเพียงพอ แต่ต้องบริหารความร่วมมือระหว่างกันและกันเพื่อให้ไร้รอยต่อ การเชื่อมโยงและส่งต่อ เพราะเนื่องจากขณะนี้ไม่มีศูนย์บริหารจัดการเตียงกลาง อันเนื่องจากคำสั่งที่ยกเลิกไป ดังนั้น หากมีความจำเป็นก็จะใช้ศูนย์เอราวัณเป็นตัวจ่ายงาน ประสาน รพ.หลักๆ ใน 6 โซนของกรุงเทพฯ ขณะที่ เรื่องวัคซีนโควิด-19 ก็จะมีการขยายให้บริการศูนย์บริการสาธารณสุข ในวันเสาร์ เพื่อฉีดวัคซีนและแจกยา และทำเชิงรุกฉีดซีนวัคซีนในผู้สูงอายุและติดเตียงให้ถึงบ้าน ทั้งนี้ หลังจากมีการยกเลิกคำสั่งดังกล่าว จะใช้กลไก พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ เข้ามาช่วยที่มีคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ที่มีผู้ว่าฯ กทม.เป็นประธาน ร่วมกับหลายภาคส่วน แต่หากไม่เพียงพอ ก็จะมีการเสนอในการประชุมเร็วๆ นี้ ให้เพิ่มกรรมการอีก 1 ชุด ในการดูแลระบบสาธารณสุข ทดแทนชุดที่ยกเลิกไป และจะขอรับการสนับสนุนจาก สธ.ในด้านวิชาการ

ส่วนการจัดกิจกรรมของ กทม. จะเป็นความเสี่ยงที่น่ากังวลหรือไม่ ต้องเรียนว่า กทม.ดำเนินการตามคำสั่ง ศบค.ฉบับที่ 46 ข้อกำหนดระบุว่าสามารถปรับมาตรการผ่อนคลายได้ เพื่อบาลานซ์กิจกรรมเฝ้าระวังคุมเข้มและกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้น การจัดกิจกรรมเช่น หนังกลางแปลง ดนตรีในสวน จะมีมาตรการระดับหนึ่ง จากการติดตามยังไม่พบคลัสเตอร์ใหญ่ๆ จากกิจกรรมนี้ แต่หากมีความเสี่ยง ก็พร้อมปรับลดหรืองดไป” พญ.วันทนีย์ กล่าว

รองปลัด กทม. กล่าวว่า สำหรับเรื่องยาโควิด-19 ที่ สธ.จัดสรรให้ กทม.ก็มาตามนัด ซึ่งวันนี้ได้มีการเสนอขอเพิ่มการสำรองยาเป็น 10 วัน เพราะขณะนี้ กทม.มีอัตราการใช้ยาโควิด-19 เฉลี่ยวันละ 100,000 เม็ด สำหรับผู้ติดเชื้อวันละประมาณ 2,000 คน คนละ 50 เม็ดต่อคอร์สการรักษา และจะให้มีการช่วยเหลือกันระหว่าง รพ. ทั้งหมดนี้ หากทำให้ประชาชนเข้าถึงยาได้สะดวก หรือการให้ รพ.เอกชน หรือร้านยาเอกชนสามารถมียาสำหรับผู้ที่มีกำลัง ก็จะเพิ่มการเข้าถึงยาและช่วยรักษาควบคุมโรค

ผู้สื่อข่าวถามว่า กทม.ได้ขอสนับสนุนยาอะไรบ้าง พญ.วันทนีย์ กล่าวว่า ขณะนี้จะมีการปรับให้ยาฟาวิพิราเวียร์ในอายุต่ำกว่า 18 ปี โดยจะให้ยาโมลนูพิราเวียร์เป็นยาหลักมากขึ้น ฉะนั้น เดิมจะขอยาฟาวิพิราเวียร์ แต่ขณะนี้พยายามใช้ 2 ยา แต่ย้ำว่า เป็นการจ่ายยาตามความจำเป็นตามแนวทางของกรมการแพทย์

เมื่อถามถึงการเปิดศูนย์พักคอยในชุมชน (CI) หรือ รพ.สนาม พญ.วันทนีย์ กล่าวว่า ขณะนี้ กทม.เตรียม CI ทั้งหมด 5 แห่ง รวม 320 เตียง และ รพ.สนาม ยังเหลืออีกมาก แต่คนกรุงเทพฯ ไม่นิยมพัก รพ.สนาม แต่ด้วยเชื้อ BA.4 และ BA.5 ส่วนใหญ่อาการสีเขียว สามารถอยู่บ้านได้ ซึ่ง กทม.จะเน้นย้ำ 5+5 คือ กักตัวต้องครบ 10 วันที่บ้าน เพราะบางคนเห็นว่า ตัวเองเหลือ 1 ขีด ก็ออกจากการกักตัวก่อน นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้ควบคุมได้ไม่ดี

เมื่อถามถึงแผนแผชิญเหตุที่ กทม.จะร่วมกับ สธ. พญ.วันทนีย์ กล่าวว่า จะเน้นการจัดการเตียงก่อน ไม่ได้อยู่ที่จำนวนการติดเชื้อภาพใหญ่ เน้นในเตียงแดงและเหลือง ซึ่งสำนักการแพทย์จะหารือกับกรมการแพทย์ อย่างที่ผ่านมา หากครองเตียงเกิน ร้อยละ 80 เกิน 2-3 วัน แนวโน้มเพิ่มขึ้น ก็จะขยายเตียง ใช้เตียงเป็นหอผู้ป่วยโควิด-19

ด้าน นพ.สุขสันต์ กล่าวว่า อยากให้ประชาชนร่วมมือกันประเมินตนเอง หากไม่มีอาการหรืออาการน้อย สามารถติดต่อศูนย์บริการสาธารณสุข หรือ รพ.ใกล้บ้าน ตามสิทธิซึ่งจะมีระบบจัดส่งยาไปบ้าน ส่วนกลุ่มเหลือง ให้ติดต่อที่ รพ.ตามสิทธิได้เลย แต่หากสีแดง อาการรุนแรง ก็ประสานศูนย์เอราวัณ 1669 ที่จะส่งทีมไปประเมิน เพื่อส่งต่อไป รพ. อย่างไรก็ตาม ในการประสานกับ รพ.เอกชน รพ.โรงเรียนแพทย์ รพ.สังกัดกรมการแพทย์ มีการทำงานร่วมกันตั้งแต่สมัยเชื้อเดลต้าแล้ว หลักๆ ถ้าเป็นกลุ่มสีแดงจะไป รพ.เอกชน ตามระบบยูเซ็ป (UCEP) ได้อยู่แล้ว แต่หลักๆ เราจะบริหารเตียงจากภาค รพ.รัฐก่อน ทั้งนี้ การครองเตียงกลุ่มสีเหลืองของภาครัฐในกทม.ร้อยละ 47.8

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image