กว่าจะมาเป็นสิทธิประโยชน์ “ผ้าอ้อมผู้ใหญ่”

หากบ้านไหนที่ต้องดูแลผู้สูงอายุติดเตียง คงจะทราบดีว่า ผ้าอ้อมผู้ใหญ่Ž และแผ่นรองซับเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก และเมื่อรวมๆ ปริมาณที่ใช้ทั้งปีแล้ว ก็คิดเป็นเงินจำนวนไม่น้อย อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2565 คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้มีมติให้ผ้าอ้อมผู้ใหญ่/แผ่นรองซับ เป็นสิทธิประโยชน์

หมายความว่า ต่อจากนี้ผู้ที่มีความจำเป็นต้องใช้ ก็จะได้รับการจัดสรรผ้าอ้อมผู้ใหญ่/แผ่นรองซับจากรัฐฟรีในเร็วๆ นี้

ที่สำคัญคือ สิทธินี้เป็นการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ดังนั้น คนไทยทุกคน ทุกสิทธิจึงสามารถรับสิทธินี้ได้โดยไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ใช้สิทธิบัตรทองเพียงอย่างเดียว

อย่างไรก็ดี กว่าจะมาเป็นสิทธิประโยชน์ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ในวันนี้ได้ ต้องใช้เวลาผลักดันนานกว่า 13 ปี เลยทีเดียว


Advertisement

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารีŽ เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เล่าว่า กว่าจะเป็นสิทธิประโยชน์ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ มีการศึกษามานานนับสิบปีแล้ว จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นในปี 2553 ซึ่งโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ได้ศึกษาความเป็นไปได้ในการให้ผ้าอ้อมผู้ใหญ่เป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพ

ประเด็นสำคัญในการศึกษาพบว่า ส่วนมากผู้ที่จำเป็นต้องใช้ผ้าอ้อมผู้ใหญ่หรือแผ่นรองซับ มักเป็นผู้พิการ มีปัญหาการขับถ่าย หรือเป็นผู้สูงอายุที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเอง ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ หากรัฐสนับสนุนผ้าอ้อมผู้ใหญ่ จะช่วยประหยัดรายจ่ายครัวเรือนได้ประมาณ 21,664 บาทต่อปี ตามราคาตลาดในขณะนั้น

หลังจากนั้น มีผลการศึกษานี้ออกมา เครือข่ายภาคประชาชนก็เริ่มผลักดันให้เรื่องนี้เป็นสิทธิประโยชน์ มีการเสนอผ่านเวทีรับฟังความคิดเห็นของ สปสช.ทุกปี จนในที่สุด สปสช.ก็เริ่มศึกษาตัวอย่างรูปแบบการดำเนินงานในต่างประเทศ เช่น อังกฤษ มีการจัดตั้งหน่วยงานระดับชาติหรือท้องถิ่น ทำหน้าที่จัดซื้อและแจกจ่ายให้กับคนพิการและผู้สูงอายุ ผ่านกองทุนท้องถิ่น ผู้ที่ได้รับจะต้องผ่านการประเมินและได้รับการรับรองจากเจ้าหน้าที่ของกองทุนก่อน หรือ สวีเดน รัฐให้การสนับสนุนวัสดุทางการแพทย์ประเภทใช้แล้วทิ้ง รวมถึงวัสดุซึมซับปัสสาวะและอุจจาระไว้เป็นส่วนหนึ่งของเบี้ยเลี้ยงคนพิการ

Advertisement

ขณะที่ญี่ปุ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของญี่ปุ่น สนับสนุนวัสดุซึมซับปัสสาวะและอุจจาระเพื่อเป็นสวัสดิการผู้พิการและผู้สูงอายุใน 3 รูปแบบ คือ 1.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรับผิดชอบจัดหาและจ่ายผ้าอ้อมผู้ใหญ่แก่ผู้พิการและผู้สูงอายุ 2.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้คูปองแก่ผู้พิการและผู้สูงอายุเพื่อใช้แลกซื้อผ้าอ้อมผู้ใหญ่สำเร็จรูป 3.สนับสนุนเป็นเงินช่วยเหลือรายเดือน หรือจ่ายเงินคืนเมื่อผู้พิการหรือผู้สูงอายุเอาใบเสร็จมาแลก

“ประเด็นสำคัญคือ อังกฤษและญี่ปุ่น ใช้รูปแบบของการให้ท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการ เพราะมีความใกล้ชิดกับประชาชน”Ž นพ.จเด็จ กล่าว

ทั้งนี้ ในส่วนของรูปแบบการดูแลผู้สูงอายุในประเทศไทย จะมีกองทุนที่ชื่อกองทุน Long Term Care ทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงหรือผู้มีภาวะพึ่งพิง โดยรัฐเป็นผู้จัดสรรงบประมาณผ่าน สปสช.ให้ 100% ซึ่งในกระบวนการจัดสรรงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2566 สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) มีความเห็นประกอบมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ค่าใช้จ่ายผู้ป่วย Long Term Care ที่ สปสช.จัดสรรอยู่ อาจจะส่งผลกระทบต่อภาระการคลังในอนาคต จึงควรพิจารณาให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมจัดสรรงบประมาณ

ประกอบกับหลังจากนั้น ในวันที่ 4 เมษายน 2565 นายอนุทิน ชาญวีรกูลŽ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ไปร่วมงานรับข้อเสนอของกรมอนามัยให้ผ้าอ้อมผู้ใหญ่สำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะติดเตียงเป็นของขวัญในวันผู้สูงอายุ จึงมีดำริมอบหมายให้ สปสช.จัดทำข้อเสนอด้านสิทธิประโยชน์และงบประมาณรองรับ

หลังจากนั้น สปสช.ได้ดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ จนสามารถเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อเห็นชอบข้อเสนอการจัดสรรผ้าอ้อมผู้ใหญ่ให้เป็นสิทธิประโยชน์ในวันที่ 2 พฤษภาคม 2565

เมื่อฝ่ายการเมืองมีนโยบายชัดเจน สิ่งที่เรียกร้องกันมานานกว่า 10 ปี ก็เกิดขึ้นได้ภายในระยะเวลาสั้นๆ เพียง 1 เดือนเท่านั้นเอง

ทั้งนี้ สาระสำคัญของมติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ วันที่ 2 พฤษภาคม 2565 คือ ให้ผ้าอ้อมผู้ใหญ่และแผ่นรองซับ เป็นสิทธิประโยชน์สำหรับคนไทยทุกคนที่มีภาวะติดบ้านติดเตียง ที่มีค่า ADL ต่ำกว่า 6 หรือกลุ่มที่มีปัญหาการกลั้นอุจจาระปัสสาวะไม่ได้ โดยให้หน่วยบริการสาธารณสุข ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดทำโครงการของบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ (กปท.) ให้แก่กลุ่มเป้าหมายจำนวนไม่เกิน 3 ชิ้นต่อคนต่อวัน ส่วนราคากลางให้เป็นไปตามที่ สปสช. กำหนดภายใต้คำแนะนำของกรมอนามัย

ส่วนความคืบหน้าหลังจากบอร์ด สปสช.มีมติจนถึงปัจจุบัน สปสช. อยู่ระหว่างหารือกรมอนามัยเพื่อออกแบบการค้นหาเป้าหมาย ออกแบบ Care Plan หรือแผนการดูแลสุขภาพรายบุคคล มีการจัดทำร่างสิทธิประโยชน์อยู่ระหว่างรอการลงนามจากรัฐมนตรีว่าการ สธ. การเตรียมโปรแกรมฐานข้อมูล และเสนอโครงการตัวอย่าง

ขณะเดียวกัน ในส่วนของพื้นที่ที่ไม่มีกองทุน Long Term Care (กองทุนดูแลสุขภาพระยะยาวในชุมชน) หรือกองทุนใช้งบประมาณหมดไปแล้ว ก็สามารถยื่นโครงการเสนอกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัดเพื่อปิดจุดอ่อนในส่วนนี้ได้เช่นกัน

ด้าน นพ.อภิชาติ รอดสมŽ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวถึงขั้นตอนและวิธีการจัดหาผ้าอ้อมผู้ใหญ่และแผ่นรองซับว่า ในเบื้องต้นจะเน้นในส่วนที่เหลืออีก 3 เดือนของปีงบประมาณ 2565 โดยตั้งแต่วันที่ 24-30 มิถุนายน 2565 Care Manager หรือผู้จัดการระบบการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุข ในพื้นที่ได้จัดทำการปรับปรุง Care Plan หรือแผนการดูแลสุขภาพรายบุคคล แล้วระหว่างวันที่ 1-15 กรกฎาคม 2565 หน่วยบริการจะสามารถเสนอโครงการจัดหาผ้าอ้อมให้คณะกรรมการ กปท. ในพื้นที่พิจารณา และเมื่อคณะกรรมการ กปท. อนุมัติโครงการแล้ว ตั้งแต่วันที่ 18-30 กรกฎาคม 2565 คาดว่าหน่วยบริการจะจัดบริการผ้าอ้อมให้กลุ่มเป้าหมายได้ รวม 3 เดือนที่เหลือของปีงบประมาณนี้น่าจะใช้เงินในการจัดซื้อประมาณ 91.5 ล้านบาท

นพ.อภิชาติกล่าวอีกว่า การจัดสิทธิประโยชน์ผ้าอ้อมผู้ใหญ่นี้ คีย์สำคัญคือ หน่วยบริการ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่จะต้องค้นหากลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ของตัวเอง แล้วจัดทำแผนความต้องการผ้าอ้อมผู้ใหญ่เสนอของบประมาณจาก กปท. จากนั้นเมื่อคณะกรรมการกองทุน กปท. พิจารณาอนุมัติแล้ว จะมีการโอนเงินให้หน่วยบริการเพื่อนำการจัดซื้อจัดหาผ้าอ้อมผู้ใหญ่แล้วจ่ายให้แก่ผู้มีสิทธิต่อไป

“แหล่งงบประมาณจะมาจากเงินเหลือจ่ายของ กปท.ในปีนี้ รวมแล้วทั่วประเทศมีอยู่ประมาณ 2,300 ล้านบาท หรือในพื้นที่ที่ไม่มี กปท. ซึ่งมีอยู่ประมาณ 31 พื้นที่ สปสช. ก็อยู่ระหว่างจัดทำหลักเกณฑ์เพื่อให้กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัดเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณได้ด้วย”Ž นพ.อภิชาติ กล่าว

ทั้งนี้ กลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับแจกผ้าอ้อมผู้ใหญ่จะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้มีภาวะติดบ้านติดเตียงมีค่า ADL ต่ำกว่า 6 ซึ่งมีอยู่ในฐานข้อมูล สปสช. 33,893 ราย และกลุ่มผู้มีปัญหาการกลั้นอุจจาระปัสสาวะ อย่างไรก็ดี นอกจากที่มีรายชื่ออยู่ในฐานข้อมูลของ สปสช.แล้ว ในกรณีของบุคคลที่เข้าเกณฑ์ได้รับสิทธิแต่ที่ไม่มีรายชื่อในฐานข้อมูล ผู้ป่วย ญาติ หรือเครือข่ายภาคประชาชนก็สามารถแจ้งรายชื่อไปยังหน่วยบริการในพื้นที่ หรือโทรศัพท์สายด่วน 1330 หรือแจ้งที่ สปสช.เขตพื้นที่ จากนั้น สปสช.จะแจ้งไปยังพื้นที่เพื่อรวบรวมรายชื่อแล้วจัดทำ Care Plan เสนอโครงการต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image