กรมควบคุมโรคร่วมสอบสวนเคสคนงานหมดสติ-เสียชีวิตในท่อน้ำ เผยปี’64 ดับ 12 ราย

กรมควบคุมโรคร่วมสอบสวนเคสคนงานหมดสติ-เสียชีวิตในท่อน้ำ เผยปี’64 ดับ 12 ราย

วันนี้ (20 กรกฎาคม 2565) นพ.อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มอบหมายกองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) สำนักงานเขตบางนา กรุงเทพมหานคร (กทม.) และสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) ลงพื้นสอบสวนโรคกรณีคนงานหมดสติและเสียชีวิตในเวลาต่อมา จากการลงไปซ่อมระบบของท่อน้ำคอนโดมิเนียมแห่งหนึ่งในพื้นที่เขตบางนา กรุงเทพมหานคร ซึ่งล่าสุดมีรายงาน เสียชีวิตแล้ว 2 ราย คาดว่าเกิดจากไฟฟ้าดูด และขาดอากาศหายใจ

นพ.อภิชาต กล่าวว่า จากข้อมูลรายงานผู้ประสบเหตุ จำนวน 4 คน เป็นคนทำงานรับเหมา 3 คน และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย 1 คน ที่ลงไปช่วยเหลือ จากการตรวจสอบพบผู้เสียชีวิต 3 ราย สาเหตุการเสียชีวิตมาจากภาวะอันตรายที่คาดไม่ถึงจากการทำงานในพื้นที่อับอากาศ ซึ่งในปี 2564 มีรายงานเหตุการณ์บาดเจ็บและเสียชีวิต 7 เหตุการณ์ มีผู้ประสบเหตุรวม 18 ราย บาดเจ็บ 6 ราย เสียชีวิต 12 ราย อาชีพที่พบมากที่สุด คือ เกษตรกรรม 7 ราย และรับจ้างทั่วไป 5 ราย

“ภาวะอันตรายภายในบ่อพักน้ำเสียที่มีคุณภาพอากาศไม่เหมาะสมกับสภาพร่างกาย เต็มไปด้วยก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ หรือก๊าซไข่เน่า ซึ่งมีน้ำหนักเบาและระเหยอยู่ในบ่อ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ก๊าซไนโตรเจน ไดออกไซด์ ฯลฯ เมื่อลงไปในบ่อเจอกับก๊าซที่มีปริมาณความเข้มข้นสูง เป็นเวลาไม่ถึง 5 นาที จะทำให้สมองขาดออกซิเจนไปหล่อเลี้ยง ทำให้หมดสติเพราะขาดอากาศ และเสียชีวิตในที่สุด” นพ.อภิชาต กล่าว

Advertisement

ด้าน พญ.หรรษา รักษาคม ผู้อำนวยการกองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กล่าวเพิ่มเติมว่า การวางระบบการทำงานในสถานที่อับอากาศให้ปลอดภัย และการสื่อสารประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้ เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เกิดความตระหนักในการทำงาน ทำงานได้อย่างปลอดภัย และช่วยจัดการเหตุฉุกเฉินได้อย่างทันท่วงที สำหรับข้อเสนอแนะต่อการทำงานในพื้นที่อับอากาศ ควรมีการวางแผนการทำงาน และผู้ปฏิบัติงานต้องผ่านการอบรมการทำงานในพื้นที่อับอากาศ อาทิ การฝึกอบรมการทำงานที่ปลอดภัย การฝึกอบรมการกู้ภัยในภาวะฉุกเฉิน การปฐมพยาบาล และการช่วยชีวิตเบื้องต้น ต้องมีการตรวจวัดระดับก๊าซต่างๆที่อาจทำให้เกิดอันตรายก่อนเข้าไปทำงาน เช่น ก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ หรือก๊าซไข่เน่า ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ เป็นต้น มีมาตรการด้านความปลอดภัย ทางเข้า-ออกไม่มีสิ่งกีดขวาง ไม่มีสิ่งที่ทำให้เกิดประกายไฟในพื้นที่มีกริ่งฉุกเฉินเพื่อขอความช่วยเหลือ ขณะทำงานต้องมีผู้คอยช่วยเหลืออย่างน้อย 1 คน มีเครื่องมือช่วยเหลือกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น มีสายช่วยชีวิต (Life Line) เครื่องมือปฐมพยาบาล เป็นต้น ทั้งนี้หากเกิดเหตุฉุกเฉินควรรีบโทรแจ้งสายด่วน 1669 ทันที

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image