เผยผลสำรวจความเข้าใจต่อสิทธิบัตรทอง ส่วนใหญ่รู้จัก แต่ยังมี 20-30% ไม่ทราบสิทธิประโยชน์ย่อย

สปสช.เผยผลสำรวจความรู้ความเข้าใจต่อสิทธิบัตรทอง 30 บาท ส่วนมากรู้จักสิทธิบัตรทองและ สปสช.แต่ผู้ที่ทราบสิทธิเกี่ยวกับบริการย่อย เช่น มะเร็งรับบริการที่ไหนก็ได้ สิทธิการรักษาโรคค่าใช้จ่ายสูง เข้ารับบริการในหน่วยปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ หรือผู้ป่วยในไม่ต้องใช้ใบส่งตัว ยังมีคนไม่ทราบสิทธิเหล่านี้ 20-30%

วันนี้ (22 กรกฎาคม 2565) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมกับ มติชน เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นความรู้ความเข้าใจต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทอง 30 บาท) ของประชาชนที่เข้าร่วมงานมหกรรมสุขภาพเฮลท์ แคร์ 2022 จักรวาลผู้สูงวัย ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน – วันที่ 3 กรกฎาคม 2565 พบว่า จากกลุ่มตัวอย่างประมาณ 500 คน ประชาชนมีความเข้าใจในระบบหลักประกันสุขภาพเป็นอย่างดี มีผู้รู้จักบัตรทอง ร้อยละ 84.3 และรู้ว่า สปสช. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบบัตรทองกว่า ร้อยละ 78 นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 74.8 ทราบว่าตัวเองมีสิทธิบัตรทองตามกฎหมาย ทราบว่า สปสช.ดูแลค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับโควิด-19 กว่าร้อยละ 72.4 และทราบว่าสายด่วน 1330 เป็นของ สปสช.อีก ร้อยละ 66.9 และอีก ร้อยละ 73.2 ทราบว่าในกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน สามารถเข้ารับบริการในสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุดได้

ในส่วนของการเข้ารับบริการนั้น กว่าร้อยละ 70.1 นั้น มีหน่วยบริการประจำแล้ว แต่ปรากฎว่ามี ร้อยละ 47.2 ไม่เคยใช้สิทธิบัตรทองในการรักษาพยาบาล ส่วนสัดส่วนผู้เคยใช้สิทธิอยู่ที่ ร้อยละ 29.9 ในจำนวนผู้ที่เคยใช้สิทธินี้ กว่าร้อยละ 37 เข้ารับบริการแบบผู้ป่วยนอก รองลงมาคือ บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ร้อยละ 16.5 ส่วนการรับบริการแบบผู้ป่วยในและบริการทันตกรรม มีสัดส่วนใกล้เคียงกันที่ ร้อยละ 7.1 และ ร้อยละ 7.9 ตามลำดับ

อย่างไรก็ดี ยังมีสิทธิประโยชน์ย่อยบางประการ ที่มีสัดส่วนผู้ที่ยังไม่ทราบสิทธิ มีมากกว่าจำนวนผู้ที่ทราบสิทธิ เช่น สิทธิในการคลอดไม่จำกัด มีผู้ไม่ทราบถึง ร้อยละ 45.7 ส่วนผู้ที่ทราบอยู่ที่ประมาณ ร้อยละ 24.4 สิทธิในการรับบริการแพทย์แผนไทย มีผู้ไม่ทราบว่าบัตรทองครอบคลุมบริการแพทย์แผนไทย ร้อยละ 37 และสัดส่วนผู้ที่ทราบสิทธิอยู่ที่ ร้อยละ 36.2 และสิทธิมะเร็งรับบริการที่ไหนก็ได้ มีผู้ไม่ทราบเรื่องนี้กว่า ร้อยละ 37.8 ส่วนผู้ที่ทราบสิทธิอยู่ที่ ร้อยละ 33.9

Advertisement

ขณะเดียวกัน ยังมีบริการบางส่วนที่แม้จำนวนผู้ที่ทราบสิทธิจะมากกว่าผู้ที่ไม่ทราบ แต่สัดส่วนผู้ที่ไม่ทราบยังมีมากกว่า ร้อยละ 20 เช่น สิทธิในการเปลี่ยนหน่วยบริการประจำได้ 4 ครั้ง/ปี มีผู้ที่ทราบสิทธินี้ ร้อยละ 43.3 แต่ก็ยังมีผู้ที่ยังไม่ทราบอีกกว่า ร้อยละ 35.4 หรือกรณีย้ายสิทธิรักษาพยาบาลแล้วเกิดสิทธิเลย ไม่ต้องรอ 15 วัน ก็มีผู้ที่ไม่ทราบกว่าร้อยละ 29.9 โดยผู้ที่ทราบเรื่องนี้มีสัดส่วนอยู่ที่ ร้อยละ 47.2 หรือกรณีการยกระดับบัตรทองให้สามารถไปรับบริการในหน่วยบริการปฐมภูมิอื่นที่ไม่ใช่หน่วยบริการประจำของตัวเอง ก็ยังมีผู้ไม่ทราบร้อยล 22.8 ส่วนผู้ที่ทราบมีประมาณ ร้อยละ 58.3 และในกรณีเข้ารับบริการแบบผู้ป่วยในโดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัว ก็มีผู้ที่ไม่ทราบ เท่ากับผู้ที่ทราบ คือ ร้อยละ 38.6

นอกจากนี้ ยังมีอีกร้อยละ 23.6 ที่ไม่ทราบว่าสิทธิบัตรทอง สามารถใช้กับการรักษา/ผ่าตัดโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงได้ เช่นเดียวกับบริการดูแลผู้ป่วยติดเตียงต่อเนื่องระยะยาวที่บ้าน ก็ยังมีคนไม่ทราบว่า สปสช. มีบริการนี้อีก ร้อยละ 28.3 ขณะที่ตัวเลขผู้ที่ทราบสิทธิทั้ง 2 ข้อนี้ มีอัตราส่วนใกล้เคียงกันคือ ร้อยละ 56.7 และ ร้อยละ 52 ตามลำดับ และในกรณีเกิดความเสียหายจากการรับบริการ กว่าร้อยละ 37 ไม่ทราบว่าสามารถยื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้ ส่วนผู้ที่ทราบเรื่องนี้มีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 45.7

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image