ด้วยพระราชปณิธาน สืบสาน รักษา ต่อยอด อนุรักษ์-พัฒนาทรัพยากร-สิ่งแวดล้อม

ด้วยพระราชปณิธาน สืบสาน รักษา ต่อยอด

อนุรักษ์-พัฒนาทรัพยากร-สิ่งแวดล้อม

“…ให้ดำเนินการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าบริเวณป่าสงวนแห่งชาติกุยบุรี โดยใช้รูปแบบในการฟื้นฟูเช่นเดียวกับการดำเนินงานโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี และโครงการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดราชบุรี…”

จากพระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2540 สืบต่อด้วยพระราชเสาวนีย์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2555 ความว่า

“…ช้างเป็นสัตว์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรัก ทรงห่วงใย โดยเฉพาะช้างทางกุยบุรี และแก่งกระจาน ทรงห่วงใยมาตลอด ทรงช่วยหาที่อยู่ที่กินให้ช้าง จะได้ไม่รบกวนคน คนกับช้างจะได้มีปัญหากันน้อยที่สุด เช่น ที่กุยบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ช้างมีความสำคัญมาแต่ครั้งประวัติศาสตร์ เคยช่วยรักษาบ้านเมือง กู้บ้านกู้เมือง ดังนั้น ขอให้ช่วยกันดูแลมิให้ช้างถูกฆ่าอย่างทารุณเยี่ยงนี้ เพื่อจะได้ไม่ผิดพระราชประสงค์ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตั้งพระราชหฤทัย ที่จะให้มีการอนุรักษ์ช้าง ให้เป็นสัตว์คู่แผ่นดินสืบไป…”

Advertisement

นับเป็นจุดเริ่มต้นพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงมีต่อ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในอันที่จะสืบสาน รักษา ต่อยอด แนวพระราชดำริของทั้ง 2 พระองค์ ในการแก้ไขปัญหาการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้างป่า รวมทั้งการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก

โดยทรงรับโครงการการอนุรักษ์ช้างป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยพระราชทานชื่อโครงการว่า “โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์” และทรงรับเป็นประธานที่ปรึกษาโครงการ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ เป็นประธานกรรมการโครงการ เพื่อดำเนินงานแก้ไขปัญหาการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้างป่า รวมทั้งการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดความสมดุล มีการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรน้ำ ทรัพยากรป่าไม้ และสัตว์ป่า ให้มีความอุดมสมบูรณ์ ควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก ให้อยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างเกื้อกูล

Advertisement

และจากพระราชปณิธานสืบสาน รักษา และต่อยอดงานในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ยังทรงพระราชทานแนวทางการดำเนินงานเกี่ยวกับคนและป่า เพื่อสืบต่อแนวพระราชดำริในการที่จะรักษาความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้อย่างยั่งยืน และจะต้องทำให้คนในชุมชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับป่าและช่วยกันดูแลรักษาป่าให้ดำรงความอุดมสมบูรณ์ไว้ได้ตลอดไป

โดยทรงมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งคณะกรรมการโครงการพัฒนาชุมชนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และอุทยานแห่งชาติ จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2562 เพื่อช่วยพัฒนาให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างสมดุล และต่อมาสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ ในฐานะทรงเป็นประธานคณะกรรมการโครงการพัฒนาชุมชนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และอุทยานแห่งชาติ จังหวัดกาญจนบุรี ได้ทรงประชุมวางแผนการดำเนินงานเป็นระยะ และเสด็จลงพื้นที่เพื่อทรงช่วยร่วมปฏิบัติงานในหลายๆ เรื่องด้วยพระองค์เอง ซึ่งทำให้ผู้ปฏิบัติงานในทุกระดับได้รับทราบถึงแนวทางตามพระราโชบายในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการที่จะทำให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้ ภายใต้กฎระเบียบ กฎหมายของหน่วยงาน และความเป็นพื้นที่ของมรดกโลกที่ต้องอนุรักษ์วัฒนธรรม ประเพณี และกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง

ผลจากการทำงานในด้านต่างๆ ทำให้ประชาชนในชุมชนมีรายได้จากการทำเกษตรที่ไม่ต้องใช้พื้นที่มากแต่สามารถทำรายได้ให้กับชุมชน ถือเป็นตัวอย่างที่ดีของการอยู่ร่วมกับป่าและรักษาผืนป่าที่ควรค่าแก่การบันทึกไว้เพื่อเป็นแนวทางต่อยอด และขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกัน

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า นับเป็นความปลาบปลื้มปีติต่อข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่องค์พระมหากษัตริย์ของปวงชนชาวไทยทรงมีความห่วงใยต่องานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่า ตลอดจนการส่งเสริมให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน และไม่เพียงเท่านั้น ยังทรงมีความห่วงใยต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ประสบภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมรับโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้ง ไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2564 และเสด็จฯเป็นประธานเปิดโครงการด้วยพระองค์เอง พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2565 ณ พื้นที่ตำบลหนองฝ้าย อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี

นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อพสกนิกรชาวไทยเป็นล้นพ้น ในการบรรเทาความเดือดร้อนแก่ราษฎรจากภาวะวิกฤตภัยแล้ง ในพื้นที่วิกฤตที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน จำนวน 15 แห่ง ใน 11 จังหวัดของประเทศไทย ได้มีน้ำกินน้ำใช้กว่า 37,600 ครัวเรือน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image