รีบ Download 162 ตำรับยากัญชา มรดกบรรพบุรุษ

ในภาวะฝุ่นตลบของการถกเถียงถึงสรรพคุณและกรอบขอบเขตในการใช้ “กัญชา” กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข เปิดตัวหนังสือชุด ตำราภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ฉบับอนุรักษ์ ตำรับยาแผนไทยของชาติที่เข้าตัวยากัญชา ฉบับแรกของประเทศไทย ที่ได้ถ่ายทอดตำรับเข้าตัวยากัญชารับรองเป็นตำรับยาแผนไทยของชาติครอบคลุมทั้งสมุดไทยดำ สมุดไทยขาว คัมภีร์ใบลาน ศิลาจารึก ทั้งสิ้น 162 ตำรับ ระบุกลุ่มโรค/อาการ 13 กลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้ประชาชนใช้กัญชาอย่างถูกต้องและเหมาะสม หนังสือชุดนี้มีการลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาว่า เป็นตำรับยาที่มีคุณค่าเป็นประโยชน์

สำหรับประชาชนที่สนใจหนังสือชุดตำราภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ฉบับอนุรักษ์ ตำรับยาแผนไทยของชาติที่เข้าตัวยากัญชาเล่มนี้ สามารถเข้าไปดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์ของกรมการแพทย์แผนไทยฯ (คลิก)

นพ.ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยฯ เล่าถึงที่มาของการจัดทำหนังสือตำรับยาแผนไทยของชาติที่เข้าตัวยากัญชา ว่าตั้งแต่ปี 2562 ที่มีการแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 7 อนุญาตให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ เป็นที่มาภารกิจของกรมการแพทย์แผนไทยฯ รวบรวมองค์ความรู้ที่มีอยู่ในคัมภีร์ ตำรายาสมุนไพรไทย รวมถึง “ตำราพระโอสถพระนารายณ์” ในสมัยอยุธยา สืบทอดมาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ว่ามีตำรับใดบ้างที่มีกัญชาผสมอยู่มากน้อยอย่างไร จึงค้นพบว่ามีมากกว่า 1,000 ตำรับ

จากนั้นก็ได้นำข้อมูลเหล่านั้นมาสังเคราะห์เพื่อแจกแจงเป็นหมวดหมู่ในการใช้ประโยชน์ ซึ่งพบว่ามีหลายกรณีที่ซ้ำซ้อน เช่น ชื่อตำรับต่างกันแต่ส่วนผสมและสูตรยาเป็นสมุนไพรตัวเดียวกัน บางตำรับไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนก็ถูกตัดออก จนเหลือตำรับที่มีความน่าเชื่อถือและไม่ซ้ำซ้อน รวมได้ 162 ตำรับ แก้ไขอาการป่วยใน 13 กลุ่มอาการ จากนั้นก็ได้ตีพิมพ์ออกมาเป็นตำรับยาแผนไทยของชาติที่มีกัญชาปรุงผสม

Advertisement

“จุดประสงค์หลักคือเพื่อให้ผู้ที่มีความรู้ด้านวิชาชีพการแพทย์ศึกษาข้อมูลเพื่อการต่อยอดวิจัยและการนำไปรักษาอาการให้กับผู้ป่วย ขณะเดียวกัน ประชาชนทั่วไปเองก็สามารถศึกษาความเป็นมาสรรพคุณของตำรับยาต่างๆ ได้ด้วย เพราะในหนังสือจะมีข้อมูลเกี่ยวกับกัญชาค่อนข้างครบถ้วน ให้ผู้อ่านรู้จักพืชกัญชาตั้งแต่เป็นพืช จนกระทั่งมาเป็นยารักษาโรค

“แท้ที่จริงมีการใช้กัญชาเป็นยารักษาโรคมายาวนานกว่า 900 ปี เพิ่งมาเป็นยาเสพติดในประเทศไทยเมื่อ 40 กว่าปีที่ผ่านมา ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ที่ห้ามนำกัญชามาใช้ เราพบว่า มีตำรับยากัญชาที่ปรากฏเด่นชัดในคัมภีร์โอสถพระนารายณ์ คือ ตำรับศุขไสยาศน์ ที่เป็นตำรับยาเข้ากัญชา แปลตามชื่อคือ ช่วยให้นอนหลับอย่างมีความสุข” นพ.ขวัญชัยกล่าว

Advertisement

แพทย์แผนไทยและแผนปัจจุบันที่ผ่านการอบรม และได้รับอนุญาตสั่งจ่ายยาเข้ากัญชาได้นำไปใช้กับผู้ป่วย ผ่านมา 2 ปี พบว่า มีข้อมูลความปลอดภัยที่ชัดเจน ไม่มีผลข้างเคียง นำมาสู่การขึ้นทะเบียน “บัญชียาหลักแห่งชาติ” ทั้งหมด 8 ตำรับ ได้แก่ 1.ยาแก้ลมแก้เส้น แก้ลมในเส้น บรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อที่มีอาการมือเท้าชา 2.ยาศุขไสยาศน์ ช่วยให้นอนหลับ เจริญอาหาร 3.ยาน้ำมันกัญชาจากช่อดอก ตามโครงการของกรมการแพทย์แผนไทยฯ 4.ยาน้ำมันจากกัญชาทั้ง 5 ส่วน ตามโครงการของโรงพยาบาล (รพ.) เจ้าพระยาอภัยภูเบศร

5.ยาน้ำมันสารสกัดกัญชาที่มี CBD สูง ตามโครงการของกรมการแพทย์ 6.ยาน้ำมันสารสกัดกัญชาที่มี CBD และ THC สัดส่วนเท่ากัน รักษาเสริมในผู้ป่วยมะเร็งระยะท้ายที่นอนไม่หลับ เบื่ออาหารปวดปานกลางถึงรุนแรง 7.ยาน้ำมันสารสกัดกัญชาที่มี THC สูง รักษาเสริม-ในการรักษาภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด-ผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะท้ายที่มีอาการปวดในระดับปานกลางถึงรุนแรง 8.ยาทำลายพระสุเมรุ ใช้สำหรับแก้ลมเปลี่ยวดำ เป็นยาเสริมเพื่อฟื้นฟูอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงจากโรคลมอัมพฤกษ์อัมพาต

นพ.ขวัญชัยกล่าวว่า สำหรับยาเข้ากัญชา 162 ตำรับ ที่ปรากฏในหนังสือ กรมการแพทย์แผนไทยฯจะนำมาผลิตปรุงเป็นยาเพื่อนำไปใช้จริง และติดตามข้อมูลผ่านรูปแบบพิเศษของการเข้าถึงยา (Special Access Scheme : SAS) ที่เป็นการสั่งใช้โดยแพทย์ เข้าร่วมเป็นโครงการศึกษาวิจัย ลงทะเบียนผู้ป่วย ติดตามอาการ
ผลข้างเคียงจากการใช้ยาเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นที่ตั้ง

“คาดหวังว่าจากที่เรามียากัญชาในบัญชียาหลักแห่งชาติ 8 ตำรับ ในปี 2566 อาจจะเพิ่มเป็น 10 ตำรับ 15 ตำรับ ซึ่งจะทำให้ประชาชนเข้าถึงตำรับยาที่มีกัญชาปรุงผสมได้อย่างครอบคลุม กว้างขวาง สำคัญคือมีความปลอดภัย” นพ.ขวัญชัยกล่าว

นพ.ขวัญชัยกล่าวถึงข้อจำกัดในการใช้ยาที่มีกัญชาปรุงผสมว่า ส่วนของกัญชาที่นำมาผลิตปรุงยามาจากกัญชา 5 ส่วนคือ ราก ลำต้น หรือ กิ่งก้าน และ ใบ ซึ่ง 3 ส่วนนี้มีระดับของสารสำคัญ เตตราไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol : THC) ที่มีฤทธิ์มึนเมาค่อนข้างต่ำ มีความปลอดภัยสูง แต่หากเป็นตำรับที่มีช่อดอกกัญชาและเมล็ดกัญชาผสมจะมีระดับ THC ค่อนข้างสูง ฉะนั้น กรมการแพทย์แผนไทยฯจึงต้องทำงานร่วมกับหลายภาคส่วนเพื่อควบคุมการนำช่อดอกปรุงเป็นยา กระบวนการถัดไปคือ การเผยแพร่ในรูปแบบหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-Book) เพื่อให้ประชาชนดาวน์โหลดได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

สำหรับ “ชุดตำรับภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ฉบับอนุรักษ์ ตำรับยาแผนไทยของชาติที่เข้าด้วยยากัญชา” ความหนา 415 หน้า พิมพ์ครั้งที่ 1 เมื่อตุลาคม 2564 จำนวน 650 เล่ม โดยจัดออกเป็นหมวดหมู่ เริ่มจากคำแนะนำการใช้ชุดตำราภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ความสำคัญของชุดตำรา แนวทางการถ่ายทอด ลักษณะอักขรวิธีและเครื่องหมายโบราณ พฤกษศาสตร์พื้นบ้านกัญชา การใช้ประโยชน์ และตำรับยาแผนไทยเข้ากัญชาทั้งหมด 162 ตำรับ ใน 13 กลุ่มอาการ ดังนี้ 1.กลุ่มโรคกษัย/กล่อน 2.กลุ่มโรคลม 3.กลุ่มโรคเด็ก 4.กลุ่มโรคริดสีดวง 5.กลุ่มอาการนอนไม่หลับ

6.กลุ่มยาบำรุง ยาอายุวัฒนะ 7.กลุ่มอาการท้องเสีย ท้องเดิน ท้องร่วง 8.กลุ่มโรคฝี 9.กลุ่มไข้ 10.กลุ่มอาการไอ 11.กลุ่มโรคสตรี 12.กลุ่มโรคตา และ 13.กลุ่มอื่นๆ

ย้ำอีกครั้งว่า ผู้สนใจตำรับยาแผนไทยของชาติที่เข้าตัวยากัญชาเล่มนี้ เข้าไปดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์ของกรมการแพทย์แผนไทยฯ (คลิก)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image