สธ.คาดชายไทยติดฝีดาษลิงจากชาวเบลเยียม เร่งออกคู่มือรักษา-สั่งชื้อวัคซีนพันโดสแรก

สธ.คาดชายไทยติดฝีดาษลิงจากชาวเบลเยียม เร่งออกคู่มือรักษา-สั่งชื้อวัคซีนพันโดสแรก

วันนี้ (1 สิงหาคม 2565) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวประเด็นโรคฝีดาษวานร หรือฝีดาษลิง (Monkeypox) ว่า สถานการณ์ฝีดาษลิงทั่วโลกตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2565 มีผู้ป่วยยืนยัน 22,812 ราย จาก 75 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย ซึ่งขณะนี้มีรายงานติดเชื้อ 2 ราย ส่วนสถานการณ์การเสียชีวิตจากฝีดาษวานร ขณะนี้มี 3 ราย จาก สเปน 2 ราย และบราซิล 1 ราย

“อย่างไรก็ตาม แนวโน้มทั่วโลกเป็นช่วงขาขึ้น โดยเฉพาะประเทศทางทวีปอเมริกา และยุโรปในหลายประเทศ ส่วนเอเชียเริ่มมีรายงานหลายประเทศ ประเทศที่น่าจะมีผู้ติดเชื้อมากที่สุดคือ สิงคโปร์ รองลงมา เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ ส่วนใหญ่การติดเชื้อในเอเชียมีประวัติใกล้ชิดกับผู้เดินทางต่างประเทศ แต่ก็เริ่มมีแนวโน้มติดในประเทศ เช่น สิงคโปร์ มีมากกว่า 10 รายขึ้นไป ส่วนปัจจัยเสี่ยงทำให้มีผู้เสียชีวิตจากฝีดาษลิงทั้งๆที่โรคความรุนแรงค่อนข้างต่ำ จากข้อมูลที่สเปน พบว่า รายที่ 1 มีภาวะแทรกซ้อนสมองอักเสบ ส่วนรายที่ 2 มีโรคมะเร็งร่วมด้วย ก็จะคล้ายๆ กับโรคติดเชื้อหลายโรคในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง” นพ.โอภาส กล่าว

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับผู้ติดเชื้อ 2 ราย ในประเทศไทย รายแรก ที่เป็นชายไนจีเรีย มีผลตรวจยืนยันตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2565 ซึ่งไม่ได้รับความร่วมมือและหลบหนีไปประเทศกัมพูชา ขณะนี้หายดีแล้ว จากการค้นหาผู้สัมผัสเสี่ยงสูงใน จ.ภูเก็ต รวมกว่า 50 ราย ยังไม่พบผู้ป่วยใหม่ในพื้นที่ แต่ยังเฝ้าระวังต่อเนื่อง ส่วนรายที่ 2 ที่เป็นชายไทย อายุ 47 ปี มีประวัติใกล้ชิดกับชายต่างประเทศ และได้สอบสวนโรคร่วมกับหลายหน่วยงานพบว่า ทุกคนเป็นลบ แต่ก็จะเฝ้าสังเกตอาการจนครบ 21 วัน ส่วนชาวเบลเยียม ที่คาดว่าจะเป็นเหตุการติดเชื้อ เบื้องต้นน่าจะออกจากประเทศแล้ว ซึ่งกำลังติดตามจากหน่วยงานเกี่ยวข้องต่อไป

Advertisement

“สำหรับวัคซีนฝีดาษลิง ต้องย้ำว่าโรคนี้ไม่ได้รุนแรง ไม่ได้ติดต่อง่าย ซึ่งโรคจะต่างกับโควิด-19 จึงไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนให้กับคนไทยทุกคน แต่ต้องเลือกกลุ่มที่มีความเหมาะสม โดยการจะฉีดวัคซีนต้องคำนึง 4 ปัจจัย คือ 1.ประสิทธิภาพ 2.ผลข้างเคียง 3.สถานการณ์การระบาดของโรค และ 4.ความเป็นไปได้ของการจัดบริการ ขณะนี้กำลังจัดหาวัคซีนรุ่นที่ 3 โดยให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เป็นผู้ประสานเข้ามาอย่างช้าช่วงครึ่งหลังของเดือนสิงหาคมนี้” นพ.โอภาส กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า วัคซีนฝีดาษลิงที่จะนำเข้ามามีจำนวนเท่าไร นพ.โอภาส กล่าวว่า เบื้องต้น 1,000 โดส โดยฉีดคนละ 2 โดส ส่วนรายละเอียดการฉีดห่างกันเท่าไร และจะเลือกกลุ่มใดในการฉีดนั้น จะมีคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคฯ พิจารณาความเหมาะสมต่อไป

Advertisement

ด้าน นพ.บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า เดิมการตรวจเชื้อฝีดาษลิง จะต้องตรวจในห้องชีวนิรภัยระดับ 3 แต่ล่าสุดรัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ. ได้ลงนามให้สามารถตรวจเชื้อในห้องชีวนิรภัยระดับ 2 ได้ และขณะนี้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 15 แห่ง สามารถตรวจหาเชื้อฝีดาษลิงได้ด้วยวิธี RT-PCR และรายงานผลใน 24 ชั่วโมง ล่าสุดศูนย์วิทยาศาสตร์ที่ จ.สมุทรสาคร ตรวจไปแล้วเมื่อวานนี้ (31 กรกฎาคม 2565) อย่างไรก็ตาม ในเรื่องการเก็บตัวอย่างนั้นจะมีรายละเอียดว่า ต้องตรวจอย่างไรบ้าง แต่จริงๆ หากไม่สามารถตรวจได้ทั้งหมด แต่ขอให้มีการตรวจจากป้ายตัวอย่างจากช่องคอ (Throat swab) ก็สามารถส่งตรวจได้ และบุคลากรผู้ทำการตรวจขอให้สวมชุดป้องกันส่วนบุคคล (PPE) แม้จะไม่ได้ติดกันง่าย แต่การป้องกันตนเองก็เป็นสิ่งที่ดี

ด้าน พญ.นฤมล สวรรค์ปัญญาเลิศ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมการแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้มีแนวทางปฏิการวินิจฉัย การดูแลรักษาและการป้องกันการติดเชื้อกรณีโรคฝีดาษวานร ฉบับวันที่ 31 กรกฎาคม 2565 ซึ่งได้ผ่านการประชุมของศูนย์อีโอซี (EOC) เมื่อช่วงเช้าวันนี้ (1 สิงหาคม 2565) ซึ่งจะมีการแจ้งรายละเอียดต่างๆในการวินิฉัย การดูแลรักษา โดยหลักๆ หากพบการติดเชื้อ ก็จะมีการรับเข้ารักษา (Admit) ทุกรายในโรงพยาบาล (รพ.) และให้ดำเนินการรักษาในห้องแยกผู้ป่วยโรคติดเชื้อ เป็นต้น ทั้งนี้ สำหรับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดโรครุนแรง อาทิ ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ เช่นผู้ติดเชื้อเอชไอวี โรคมะเร็งอวัยวะต่างๆ ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ ได้รับการปลูกถ่ายไขกระดูกมาภายใน 2 ปี ผู้ที่เป็นโรคที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ เด็กอายุน้อยกว่า 8 ปี หญิงตั้งครรภ์ /ระหว่างให้นมบุตร เป็นต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image