ชัชชาติ หนักใจ ‘คลองประเวศ’ ทางไกล-ระบายน้ำช้า เจอปัญหาบึงหนองบอนซ้ำ กำชับ 17 เขตริมเจ้าพระยาเข้ม

ชัชชาติ หนักใจ ‘คลองประเวศ’ ทางไกล-ระบายน้ำช้า เจอปัญหาบึงหนองบอนซ้ำ กำชับ 17 เขตริมเจ้าพระยาเข้ม

เมื่อเวลา 07.00 น. วันที่ 3 สิงหาคม ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯกทม.) เป็นประธานประชุมการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยมีผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักการระบายน้ำ สำนักงานเขต 50 เขต สำนักงานประชาสัมพันธ์ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ผ่านระบบการประชุมทางไกล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุม สำนักการระบายน้ำได้รายงานการพยากรณ์อากาศโดยกรมอุตุนิยมวิทยา ในช่วงเดือนสิงหาคม ซึ่งจะมีฝนตกต่อเนื่อง โดยเฉพาะ 6-8 สิงหาคมนี้ ในกรุงเทพฯจะมีฝนตก 60-80% ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีปริมาณฝนสะสม 200-250 มิลลิเมตร ซึ่งขณะนี้มีปริมาณฝนสะสมอยู่ที่ 99 มิลลิเมตร และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้น เนื่องจากจะมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง จึงจำเป็นต้องเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอันเนื่องมาจากน้ำฝน น้ำเหนือ และน้ำทะเลหนุน อย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ นายชัชชาติได้กำชับสำนักงานเขตพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา 17 เขต ประกอบด้วย 1.เขตบางซื่อ 2.เขตดุสิต 3.เขตพระนคร 4.เขตสัมพันธวงศ์ 5.เขตบางรัก 6.เขตสาทร 7.เขตบางคอแหลม 8.เขตยานนาวา 9.เขตคลองเตย 10.เขตพระโขนง 11.เขตบางนา 12.เขตบางพลัด 13.เขตบางกอกน้อย 14.เขตธนบุรี 15.เขตคลองสาน 16.ราษฎร์บูรณะ และ 17.เขตบางกอกใหญ่ เฝ้าระวังจุดอ่อนริมแม่น้ำเจ้าพระยา เสริมกระสอบทรายบริเวณจุดฟันหลอ ทั้งในจุดที่ยังก่อสร้างเขื่อนถาวรไม่แล้วเสร็จ และบริเวณแนวที่รั่วซึม ซึ่งขณะนี้ทุกสำนักงานเขตได้วางกระสอบทรายเสร็จแล้ว คงเหลือบริเวณจุดฟันหลอชุมชนศาลเจ้าเขตสัมพันธวงศ์ขอให้เสร็จสิ้นงานเทกระจาดก่อนจะเร่งวางกระสอบทรายให้แล้วเสร็จ นอกจากนี้ ยังจัดเก็บผักตบชวาเปิดทางน้ำไหล ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมเพื่อเร่งสูบน้ำออกกรณีเกิดการท่วมขัง และให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม เช่น ทำสะพานไม้ชั่วคราว จัดเทศกิจช่วยบริการช่วยเหลือให้เกิดทางเข้าออกในชุมชน โดยให้ประสานขอกำลังสนับสนุนพร้อมเครื่องมืออุปกรณ์จากสำนักการระบายน้ำหากจำเป็น

Advertisement

นายชัชชาติกล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาขณะนี้คือศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม กทม. มีข้อมูลเฉพาะเส้นเลือดใหญ่ คือ ระบบระบายน้ำหลัก แต่ยังขาดข้อมูลเส้นเลือดฝอยในตรอกซอย ชุมชนต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่เขต ทำให้ไม่สามารถให้ความช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงทีและทั่วถึง เพราะแม้ว่าบนถนนหลักน้ำจะแห้งแล้วในซอยก็ยังต้องใช้เวลาหลังจากนั้น แม้จะเพียงแค่ 30 นาที ก็ทำให้คนที่ต้องรอและได้รับผลกระทบรู้สึกไม่ดี เขตจึงต้องลงพื้นที่เพื่อรับทราบปัญหาและพร้อมจะให้ความช่วยเหลือให้สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ประสานเจ้าหน้าที่เทศกิจและทหารซึ่งพร้อมจะให้ความช่วยเหลือ โดยขอให้เขตข้างเคียงอื่นๆ ที่น้ำไม่ท่วมมาระดมช่วยเขตที่น้ำท่วมด้วย

สำนักการระบายน้ำ รายงานเพิ่มเติมว่าขณะนี้ สำนักการระบายน้ำได้ร่วมกับสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง จัดทำแอพพลิเคชั่นสำหรับให้แต่ละสำนักงานเขตใช้กรอกข้อมูลพื้นที่เสี่ยง และจุดอ่อนน้ำท่วมในพื้นที่ เพื่อเป็นฐานข้อมูลและติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ รวมทั้งการดำเนินการแก้ไขปัญหา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาปรับปรุงคาดว่าจะสามารถให้สำนักงานเขตเริ่มทดลองใช้ภายในสัปดาห์นี้

ด้านการประชาสัมพันธ์ สำนักงานประชาสัมพันธ์แจ้งแนวทางการประชาสัมพันธ์ว่า มีรายงานสถานการณ์ฝน โดยนำข้อมูลพยากรณ์อากาศกรมอุตุนิยมวิทยาเป็นการให้ข้อมูลคาดการณ์และแจ้งเตือน และรายงานการคาดการณ์ฝนจากข้อมูลเรดาร์ของสำนักการระบายน้ำ ผ่านทางสื่อออนไลน์ของ กทม. เช่น Facebook, Twitter “กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์” และเพิ่มความถี่ในการรายงานข้อมูลในช่วงที่มีฝนตก พร้อมทั้งนำข้อมูลและภาพการทำงานของสำนักการระบายน้ำ การให้แก้ไขปัญหาและช่วยเหลือประชาชนของเขตพื้นที่ หน่วยงานสนับสนุน เช่น เทศกิจ ทหาร

Advertisement

ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้เน้นย้ำให้มีการประชาสัมพันธ์การทำงานและการให้ความช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่ กทม.มากๆ รวมทั้งในส่วนของทหารที่ส่งกำลังมาสนับสนุน เพื่อเป็นการให้เกียรติแก่ทหารด้วย รวมทั้งประชาสัมพันธ์แจ้งช่องทางให้ประชาชนสามารถแจ้งเหตุความเดือดร้อนและขอความช่วยเหลือ ผ่าน Traffy foundue ศูนย์ฯ ป้องกันน้ำท่วม 0-2248-5115 และสายด่วน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 11.40 น. ภายหลังการประชุม นายชัชชาติกล่าวถึงสถานการณ์และการบริหารจัดการปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพฯว่า จากการไปที่ศูนย์ควบคุมการระบายน้ำ สำนักการระบายน้ำ เขตดินแดง พบว่าปัญหาหลักคือ ข้อมูลในส่วนเส้นเลือดฝอย ตามตรอกซอกซอยอยู่ในเฉพาะที่เขต มีการรายงานผ่านระบบแชตไลน์ แต่ไม่สามารถนำข้อมูลขึ้นแสดงเป็นภาพรวมได้ ซึ่งในส่วนศูนย์ควบคุมฯจะมีเพียงข้อมูลของถนนใหญ่ ถนนสายหลักที่มีระบบเซ็นเซอร์ติดตั้งเพื่อตรวจวัดระดับน้ำในถนน 100 จุด เท่านั้นไม่สามารถรวบรวมข้อมูลส่วนย่อยจากรายเขตได้

นายชัชชาติกล่าวต่อว่า ในส่วนนี้ที่เป็นปัญหาและต้องแก้ไข เพราะ กทม.เองมีข้อมูลจากสำนักการระบายน้ำ แอพพลิเคชั่นทราฟฟี่ฟองดูว์ และสำนักงานเขต ซึ่งข้อมูลกระจัดกระจายและมีการส่งต่อผ่านไฟล์อนาล็อก ซึ่งไม่สามารถรวมมาที่จุดเดียว เรื่องนี้ กทม.อาจต้องมีการสร้างแอพพ์ หรือจุดรวมเพื่อให้ข้อมูลทุกส่วนได้ประกอบร่างรวมกันเป็นที่เดียว เพื่อการบริหารจัดการทั้งการแก้ปัญหา และการกระจายงานจะได้ทำได้อย่างรวดเร็ว

“ขณะนี้มีหน่วยงานต่างๆ เช่น กองทัพบก มาร่วมให้ความช่วยเหลือประชาชนเป็นจำนวนมาก การที่มีข้อมูลจะสามารถแก้ปัญหาในเบื้องต้นได้ ส่วนเรื่องเส้นเลือดฝอยที่จะต้องได้รับการรวบรวมข้อมูลเพื่อแก้ปัญหา และยอมรับว่ายังกังวลเรื่องของคลองรับน้ำ ที่หลายคลองน้ำเต็มทำให้ส่วนต่างๆ ไม่สามารถส่งต่อน้ำมาได้” นายชัชชาติระบุ

 

นายชัชชาติกล่าวต่อว่า หัวใจหลักของการระบายน้ำ คือน้ำจะต้องไหลลงคลองและส่งต่ออุโมงค์ไปยังแม่น้ำสายหลัก อย่างเจ้าพระยา ฉะนั้น ต้องมีการปรับปรุงระบบนี้ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เช่น การขุดลอกบ่อ ท่อ ทำจุดดักขยะที่ปลายคลองและซ่อมแซมเพิ่มเติมเครื่องสูบน้ำ อาจขยายผลไปต่อถึงเรื่องการกำหนดจุดทิ้งขยะ เพราะเมื่อน้ำท่วมขยะต่างๆ ก็กระจายตัว ส่วนหนึ่งก็จะไหลไปอุดตามช่องทางระบายน้ำ

สำหรับการประชุม 50 เขต เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ได้มีการเน้นย้ำจุดฟันหลอของคันกั้นแม่น้ำเจ้าพระยา ในช่วงที่มีน้ำทะเลหนุนและน้ำเหนือไหลมา ต้องรอ ผอ.เขตรายงานเข้ามา และรับผิดชอบกรณีที่น้ำไหลเข้าพื้นที่ ถ้าไม่มีความพร้อมให้ขอความช่วยเหลือจากส่วนกลางได้เสมอ

“หลายจุดมีน้ำท่วมในพื้นที่ก่อสร้าง ทั้งการดันลอดท่อ (Pipe Jacking) ในซอยสุขุมวิท 39, คลองลาดพร้าวที่ยังก่อสร้างเขื่อนไม่เสร็จ ขุดลอกไม่ได้, ถนนรามอินทรา มีการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู รวมไปถึงพื้นที่ที่อยู่นอกการควบคุมของ กทม. เช่น ถนนกำแพงเพชร 7 ที่เมื่อเช้าน้ำท่วมหนักมาก จุดพวกนี้ต้องปรับปรุงและเข้มงวดให้มีการเร่งระบายน้ำมากขึ้น” นายชัชชาติกล่าว

นายชัชชาติกล่าวว่า แผนการรับมือในฤดูน้ำหลากทำมาตลอด อย่างการขุดลอกท่อระบายน้ำ ที่คาดว่าเดือนนี้น่าจะอยู่ที่ 2,000 กิโลเมตรแล้ว ซึ่งมีรายงานตามพิกัดจีพีเอส รวมถึงขอความร่วมมือจากกรมชลประทานต่อเนื่อง ในการรับส่งน้ำจากจังหวัดโดยรอบ การมีเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ ดูประสิทธิภาพเครื่องสูบน้ำต่างๆ และแผนระยะยาวภายใน 2 ปี ต้องเพิ่มประสิทธิภาพให้มากขึ้นเรื่องอุโมงค์ จุดไหนที่จำเป็นก็ต้องเดินหน้าทำต่อไปและพัฒนาเส้นเลือดฝอยไม่ให้มีปัญหา

นายชัชชาติกล่าวว่า ส่วนปัญหาที่ คลองประเวศบุรีรมย์ (คลองประเวศ) น้ำต้องเข้าไปที่คลองพระโขนง ซึ่งประสบกับปัญหาน้ำเต็ม เพราะมีน้ำจากคลองแสนแสบเข้ามาเติมอีก อีกทั้งเส้นทางของคลองที่คดเคี้ยวทำให้น้ำไหลช้า ซึ่งวิธีการแก้คือ ต้องพยายามควบคุมน้ำที่คลองพระโขนงให้ได้ก่อนเป็นเบื้องต้น ในส่วนนี้กรมชลประทานก็เข้ามาช่วยสูบน้ำออก อนาคตข้างหน้าอาจจะต้องเพิ่มเส้นทางลัดเพื่อให้น้ำระบายได้เร็วมากขึ้น

“คลองประเวศเป็นคลองที่หนักใจ เนื่องจากมีระยะทางไกล แนวทางการระบายน้ำมันช้าอยู่แล้ว ตัวที่มาช่วยคืออุโมงค์บึงหนองบอน แต่ก่อนคิดว่าจะมาช่วย แต่ติดปัญหาการก่อสร้างล่าช้า ทำให้ตรงนี้มีปัญหา เพราะคลองประเวศวิ่งจากตะวันตกมาตะวันออก เราพยายามจะหาคลองลัดลงเหนือใต้ เอาลงที่คลองด่าน ลงไปทางปากน้ำเลยได้ไหม คลองแถวนี้ความชันน้อย มันไปช้ามากเลย คงต้องพยายามหาทางทะลวงเพื่อให้ทางเหนือใต้ได้เร็วขึ้น ไม่ต้องย้อนเข้ามาในเขตพระโขนง” นายชัชชาติกล่าว

นายชัชชาติกล่าวอีกว่า เรื่องการจัดการน้ำท่วม กทม.มีการจัดตั้งศูนย์อำนวยการ (วอร์รูม) โดยมี รศ.ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯกทม. ช่วยดูภาพรวม และแต่ละเขตเองก็จะดูในจุดย่อย ซึ่งต้องยอมรับว่าระบบการสื่อสารอาจจะใช้รูปแบบเก่า อนาคตต้องมีการเปลี่ยนแปลง ขอย้ำว่าไม่ได้ทำงานเรื่องนี้คนเดียว แต่ทุกคนทำหน้าที่ของตัวเองเต็มที่ ซึ่งจากที่ลงพื้นที่เองก็เห็นว่าน้ำระบายได้เร็วหลายจุด ตนเป็นเพียงคนเล็กๆ แต่ก็พยายามให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ เพื่อให้รู้ว่าเรารับทราบปัญหาจริงๆ คนระดับในพื้นที่ทำงานทำอย่างเต็มที่ ผู้บริหารก็ต้องลุยตาม เชื่อว่าทุกอย่างมีระบบอยู่แล้ว

ในส่วนของการเยียวยาบ้านเรือนประชาชนที่น้ำท่วมเข้าบ้าน นายชัชชาติกล่าวว่า ต้องกลับไปดูระเบียบอีกครั้งหนึ่งว่าจะทำอย่างไรได้บ้างแต่ที่ผ่านมา ยอมรับว่ายังไม่เคยมีการเยียวยาในส่วนนี้ ฉะนั้น ต้องขอกลับไปพิจารณาระเบียบอีกครั้งหนึ่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image