กทม.พบหอการค้า จ่อตั้งคณะผสาน ‘การท่องเที่ยว’ วางแฮปปี้โมเดล 4 ด้าน เชื่อมผ่านแอพพ์ ‘ทักทาย’

กทม.พบหอการค้า จ่อตั้งคณะทำงานผสาน ‘การท่องเที่ยว’ วาง ‘แฮปปี้โมเดล’ 4 ด้าน เชื่อมโยงผ่านแอพพ์ ‘ทักทาย’

เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม ที่ห้องประชุมชั้น 15 อาคารใบเรือ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เขตดินแดง นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เข้าพบ นายกลินท์ สารสิน ประธานอาวุโส หอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อหารือเรื่องการท่องเที่ยวและ 12 เทศกาล โดยมี นายสมบูรณ์ หอมนาน ผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว ผู้บริหารจากหน่วยงานต่างๆ อาทิ หอการค้าไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สมาคมโรงแรมไทย ทีมงาน TAGTHAi (ทักทาย) และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมหารือ พร้อมเปิดการประชุมผ่านระบบออนไลน์

โดยในที่ประชุมได้หารือถึง Happy Model หรือ โมเดลอารมณ์ดี มีความสุข ซึ่งเป็นแนวทางในการพัฒนาสินค้าและบริการท่องเที่ยว เพื่อตอบสนองกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพ ตามเป้าหมายยกระดับการท่องเที่ยวไทยไปสู่การท่องเที่ยวคุณภาพสูง ผ่านกิจกรรมท่องเที่ยว 4 ด้าน ได้แก่ กินดี (Eat Well) อยู่ดี (Live Well) ออกกำลังกายดี (Fit Well) และแบ่งปันสิ่งดีๆ (Give Well) เพื่อตอบสนองต่อสุขภาพกายใจให้ดีขึ้นของนักท่องเที่ยว และให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์ร่วมกัน โดยมุ่งปรับเปลี่ยนแนวคิดปัจจุบันไปสู่แนวคิดใหม่ (Happy Model) ดังนี้

เปลี่ยนจากการมองต้นทุนในการดูแลธรรมชาติและวัฒนธรรม เป็นการสร้างรายได้จากวัฒนธรรมและธรรมชาติอย่างยั่งยืน เน้นการท่องเที่ยวคุณภาพมากกว่าปริมาณนักท่องเที่ยว สร้างรายได้จากคุณค่าของประสบการณ์ ยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ทั้งในส่วนของนักท่องเที่ยวและประชาชนในพื้นที่ พัฒนาพื้นที่จากเมืองน่าเที่ยวเป็นเมืองน่าอยู่ เน้นการกระจายรายได้เป็นกลไกสร้างความร่วมมือ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างให้ประชาชนในพื้นที่และคนรุ่นใหม่รักและภูมิใจในถิ่นเกิด

Advertisement

สำหรับกิจกรรมท่องเที่ยวด้าน “กินดี” หมายถึง อาหารต้องมีความอร่อย สะอาด มีประโยชน์ ปลอดภัย ด้าน “อยู่ดี” หมายถึง ที่พักจะต้องได้มาตรฐาน ดูแลสิ่งแวดล้อม รวมถึงขยะ น้ำเสีย และสิ่งอำนวยความสะดวกที่พร้อม อาทิ Wifi และมีกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพกายและใจ อาทิ นวด/สปาของท้องถิ่น นั่งสมาธิ เป็นต้น

ด้าน “ออกกำลังกายดี” หมายถึง มีกีฬาและกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวได้ทำ เช่น ขี่จักรยาน วิ่ง เดิน ว่ายน้ำ ดำน้ำ ปีนเขา มวยไทย ระบำรำฟ้อน และด้าน “แบ่งปันสิ่งดีๆ” หมายถึง แบ่งปันความรู้ แนะนำสินค้าและสถานที่ Unseen ในท้องถิ่น ทำกิจกรรมกับชุมชน อาสาสมัครเรียนรู้จากปราชญ์ชาวบ้าน แบ่งกิจกรรมเป็น 4 รูปแบบ คือ สายศรัทธา (มู) สายธรรมชาติและเกษตร สายวัฒนธรรม และสายแอดเวนเจอร์ โดยกิจกรรมท่องเที่ยวจะต้องมีเรื่องราวที่เป็นเอกลักษณ์ (Storytelling) มีความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงต้องมีคุณภาพและรักษามาตรฐานที่ดีด้วย

จากนั้น ที่ประชุมได้หารือถึงการนำแอพพลิเคชั่นทักทาย (TAGTHAi) ซึ่งเป็น Digital Tourism Platform ที่ใช้เป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน รวมถึงเป็นที่รวบรวมคอนเทนต์ และเป็นช่องทางในการประชาสัมพันธ์และการขายสินค้าและบริการ Happy Model โดยปัจจุบันมี 48 หน่วยงาน/องค์กร จากภาครัฐและภาคเอกชน ที่เข้าร่วมกับแอพพลิเคชั่นนี้ ซึ่ง TAGTHAi จะมีฟีเจอร์ต่างๆ ได้แก่ All-in-one Travel Pass ที่ครอบคลุมทั้งการเชื่อมต่อ (internet/wifi) อาหาร การเดินทาง สถานที่ท่องเที่ยว และกิจกรรม เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าถึงสินค้าและบริการจากร้านค้าและร้านอาหารต่างๆ ด้วย Pass หลากหลายรูปแบบ และ redeem ผ่าน QR Code มีข้อมูลสถานที่เที่ยวต่างๆ (Travel-guide) สามารถจองโรงแรม หรือตั๋วเครื่องบินกับผู้ให้บริการด้านการจองที่พักโรงแรม รวมถึงบริการด้านการท่องเที่ยวต่างๆ (Online Travel Agency หรือ OTA) สัญชาติไทย เพื่อใช้เดินทางไปยังจังหวัดอื่นๆ ได้ และสามารถติดต่อตำรวจท่องเที่ยวเพื่อขอความช่วยเหลือได้อย่างสะดวก (SOS)

Advertisement

นายศานนท์ รองผู้ว่าฯกทม. กล่าวถึงจุดเริ่มต้นนโยบายต่างๆ ของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งเกิดจาก 3 คำถาม ประกอบด้วย 1.เราเชี่ยวชาญอะไร 2.เราเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับโลกจริงๆ อยู่หรือไม่ และ 3. เราสนุกกับการทำอะไรซึ่งเมื่อพิจารณาดูแล้ว กทม.ไม่ได้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ แต่บทบาทของ กทม.คือเป็นผู้เชื่อมโยง เป็น Host เป็นผู้จัดทำโครงสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกและสร้างความร่วมมือ จึงออกมาเป็นนโยบายที่แตะในทุกมิติของคน และแบ่งออกเป็น 9 มิติ หรือ 9 ดี ซึ่งตรงกับ Happy Model ที่ใช้คำว่า “ดี” เหมือนกัน และกรุงเทพมหานครมีเป้าหมายในการทำ “เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน” สอดคล้องกับ Happy Model ที่เปลี่ยน “เมืองน่าเที่ยว” ให้เป็น “เมืองน่าอยู่” เช่นกัน

ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครใช้ดัชนีชี้วัดเมืองน่าอยู่ (The Global Liveability Index) ของ Economist Intelligence Unit (EIU) เป็นเกณฑ์ในการจัดทำนโยบาย โดยปี 2018 กรุงเทพมหานครอยู่ในอันดับที่ 98 จาก 140 เมืองทั่วโลก และได้ตั้งตัวชี้วัดเพื่อให้อยู่อันดับ 1 ใน 50 เมืองน่าอยู่ ภายใน 4 ปีนี้

นายศานนท์กล่าวด้วยว่า ในส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว จะมี 12 เทศกาลตลอดทั้งปี ที่เปิดเป็นกิจกรรมฟรีเพื่อให้สามารถเข้าถึงได้ทุกคน โดยให้ร้านต่างๆ เปิดบูธขายของได้ฟรีในเทศกาล นอกจากนี้ ยังรวมถึงกิจกรรมดนตรีในสวนที่เปิดพื้นที่สาธารณะให้คนมาใช้ด้วย ซึ่งในปี 2565 นี้ กรุงเทพมหานครได้เริ่มต้นที่เดือนมิถุนายน จัดเทศกาลแห่งความหลากหลาย Pride Month และเดือนกรกฎาคม จัดเทศกาลกรุงเทพกลางแปลง ส่วนในเดือนสิงหาคมนี้ ได้จัดเทศกาลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่จะเปิดกรุงเทพฯ ให้เป็นห้องเรียนวิทยาศาสตร์ขนาดใหญ่ ซึ่ง กทม.จะเป็นผู้ชี้เป้าให้ประชาชนได้ทราบว่าจะเข้าถึงพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ได้ที่ใดบ้าง สำหรับเดือนกันยายน 2565 จะเป็นเทศกาลเด็กและเยาวชน เดือนตุลาคม 2565 จะเป็นเทศกาลกีฬากรุงเทพฯ เดือนพฤศจิกายน จะเป็นเทศกาลศิลปะสร้างสรรค์ และเดือนธันวาคม 2565 จะเป็นเทศกาลแสงสี

นอกจากนี้ ยังมีนโยบายดึงอัตลักษณ์ สร้างเศรษฐกิจ 50 ย่านทั่วกรุงเทพฯ ปัจจุบันเริ่มต้นด้วย 15 ย่านสร้างสรรค์ โดยปีนี้ตั้งเป้าไว้ที่ 20 ย่านสร้างสรรค์ และครบ 50 ย่านสร้างสรรค์ ภายใน 4 ปี ซึ่งที่ประชุมได้ให้ข้อคิดเห็นว่า “Storytelling” ก็เป็นสิ่งสำคัญในการทำย่านสร้างสรรค์ด้วย

ที่ประชุมได้มีการแลกเปลี่ยนและเสนอแนะไอเดีย เพื่อต่อยอดพัฒนา 12 เทศกาล ในปี 2566 ให้มีความน่าสนใจและสอดคล้องกับช่วงเดือนนั้นๆ มีการเสนอแนะกิจกรรมที่ควรมีเพิ่มเติม สิ่งที่ควรนำมาเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยว รวมไปถึงการแนะนำการปรับปรุงสวนลุมพินี เช่น ควรหาผู้เชี่ยวชาญมาดูแลต้นไม้แทนการตัดทิ้ง การตั้งเก้าอี้ในสวนให้หันหน้าเข้าหาวิวต้นไม้/ทะเลสาบ หรือเพิ่มกิจกรรมต่างๆ ที่สามารถทำให้สวนลุมพินีเป็นอีก 1 แหล่งท่องเที่ยวที่ผู้คนจะหลั่งไหลมาจำนวนมาก โดยในช่วงท้ายของการประชุม

นายศานนท์ ยังได้มอบหมายสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว จัดทำร่างคณะทำงานด้านการท่องเที่ยวระหว่างกรุงเทพมหานครและหอการค้าไทย เพื่อเปลี่ยนความร่วมมือให้เป็นรูปธรรมต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image