หมอโอภาสเผยเร่งตรวจฝีดาษลิงผู้สัมผัสหญิงรายที่ 4 อีก 2 คน ชี้โรคติดต่อทางสัมผัส ถุงยางไม่ช่วย!

หมอโอภาสเผยเร่งตรวจฝีดาษลิงผู้สัมผัสหญิงรายที่ 4 อีก 2 คน ชี้โรคติดต่อทางสัมผัสตุ่มหนอง ถุงยางไม่ช่วย!

จากกรณีที่มีรายงานพบผู้ติดเชื้อฝีดาษวานร หรือฝีดาษลิง (Monkeypox) รายที่ 4 ของประเทศไทย โดยเป็นผู้ป่วยเพศหญิงรายแรกของประเทศ ซึ่งมีประวัติเที่ยวสถานบันเทิงหลายแห่ง และมีการพบปะกับเพื่อนชาวต่างชาติ ทำให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนกนั้น

วันนี้ (5 สิงหาคม 2565) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์รายละเอียดเพิ่มเติมกับ “มติชน” ว่า กรณีผู้ป่วยรายที่ 4 ผู้หญิง อายุ 22 ปี มีประวัติเที่ยวสถานบันเทิงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในย่านที่ชาวต่างชาตินิยมไปเที่ยวเป็นประจำประมาณสัปดาห์ละครั้ง และมีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับชายชาวต่างชาติ จึงคาดว่าจะติดมาจากความเสี่ยงดังกล่าว แต่จะต้องไปซักถามรายละเอียดว่ามีการติดเชื้อมาจากใคร อย่างไร

“อย่างที่เรียนว่า เมื่อมีประวัติมีเพศสัมพันธ์ ต้องค่อยๆ ไล่ถาม เพราะส่วนใหญ่อาจบอกข้อมูลไม่ครบ เบื้องต้นผู้สัมผัสเสี่ยงจะเป็นเพื่อนผู้ใกล้ชิด 2 ราย อยู่ระหว่างการตรวจหาเชื้อ ส่วนที่เหลือ จะต้องซักถามเพิ่มเติมทั้งจากผู้ป่วยและเพื่อน” นพ.โอภาส กล่าว

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามว่า จากประวัติของผู้ป่วยไปเที่ยวสถานบันเทิงหลายแห่ง ตรงนี้มีความน่ากังวลหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า ย้ำว่า หากเที่ยวธรรมดา โอกาสติดเชื้อจะน้อย แต่หากสัมผัสใกล้ชิดมากๆ ก็ต้องไปซักประวัติเพิ่มเติม อย่างรายนี้ให้ประวัติการไปสถานบันเทิงหลายแห่ง เจ้าพนักงานสอบสวนโรคก็ต้องไปดูรายละเอียดกันอีกครั้ง

เมื่อถามต่อว่า ข้อมูลองค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานว่าพบมากในเพศชาย แต่รายที่ 4 ของไทย เป็นผู้ป่วยหญิง และนับเป็นรายแรกของประเทศไทย จะต้องระวังอย่างไร นพ.โอภาส กล่าวว่า โรคติดต่อสามารถติดได้ทั้งเพศชายและหญิง ซึ่งข้อมูลขององค์การอนามัยโลกระบุว่า มากกว่าร้อยละ 90 ติดในเพศชาย ส่วนที่เหลือก็จะเป็นเพศหญิง ซึ่งการติดเชื้อก็มาจากการสัมผัสใกล้ชิด โดยเฉพาะเรื่องของสัมผัสจากการมีเพศสัมพันธ์ ที่มีทั้งชายรักชาย (Men sexual with Men) หรือไบเซกซ์ชัวล์ (Bisexual) ดังนั้น หากมีการสัมผัสอย่างใกล้ชิดก็มีโอกาสที่จะเป็นได้

“ย้ำว่า โรคฝีดาษลิงติดต่อโดยการสัมผัส ไม่ใช่การติดต่อโดยเพศสัมพันธ์โดยตรง เนื่องจากเชื้อจะออกมาจากทางน้ำอสุจิหรือสารคัดหลังทางช่องคลอดน้อยกว่าการสัมผัสเชื้อจากตุ่มหนอง เพศสัมพันธ์จึงไม่ใช่ทางติดต่อหลัก การสวมถุงยางอนามัยเพื่อป้องกัน อาจจะป้องกันไม่ได้ ดังนั้น จะต้องมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย อย่ามีคู่นอนที่ไม่รู้จักกัน หรือถ้าอย่างไร ก็ต้องสังเกตดูตุ่มตามร่างกายด้วย เพราะ โรคฝีดาษลิงหากตุ่มหายก็ไม่แพร่เชื้อแล้ว” นพ.โอภาส กล่าว

Advertisement

เมื่อถามถึงกรณีที่หลายคนออกมาถามถึงวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษลิง นพ.โอภาส กล่าวว่า โรคฝีดาษลิงเป็นโรคที่ความรุนแรงน้อย โดยวัคซีนฝีดาษลิง ที่องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ติดต่อสั่งซื้อเข้ามาเบื้องต้น จำนวน 1,000 โดส คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน มีความเห็นว่า จะฉีดใน 2 กลุ่มเป้าหมาย คือ 1.กลุ่มที่ยังไม่ได้สัมผัสผู้ติดเชื้อ แต่มีความเสี่ยงสูง คือ บุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ (แล็บ) และ 2.กลุ่มที่สัมผัสกับผู้ติดเชื้อแล้ว แต่ไม่เกิน 14 วัน อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนมีผลข้างเคียงที่ต้องระวัง จึงต้องชั่งน้ำหนักระหว่างความรุนแรงของโรคและผลข้างเคียง ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องฉีดทุกคน

“วัคซีนไม่ได้ป้องกันได้ 100% ถึงฉีดวัคซีน แต่ไม่เปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยง ก็มีโอกาสติดเชื้อได้อยู่ดี” นพ.โอภาส กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image