จับตา! โอมิครอน BA.2.75 สธ.เผยพบในไทยแล้ว 5 ราย 1 เคส โคม่าเพราะไม่ฉีดวัคซีน

จับตา! โอมิครอน BA.2.75 สธ.เผยพบในไทยแล้ว 5 ราย 1 เคส โคม่าเพราะไม่ฉีดวัคซีน

วันที่ 8 สิงหาคม 2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงอัพเดตสถานการณ์สายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย ว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา มีการตรวจสายพันธุ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทย จำนวน 382 ตัวอย่าง พบว่าส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ย่อยโอมิครอน BA.4 และ BA.5 จำนวน 322 ตัวอย่าง เป็น BA.1 เพียง 1 ตัวอย่าง เป็น BA.2 จำนวน 58 ตัวอย่าง และ BA.2.75 อีก 1 ตัวอย่าง

“อย่างไรก็ตาม การติดเชื้อในกลุ่มคนที่เดินทางมาจากต่างประเทศส่วนใหญ่ ก็ยังเป็น BA.4 และ BA.5 เช่นกัน เมื่อแยกเป็นพื้นที่ พบว่าในกรุงเทพมหานคร เป็น BA.4 และ BA.5 ร้อยละ 91.5 ที่เหลือเป็นสายพันธุ์ BA.1 และ BA.2 ส่วนภูมิภาค BA.4 และ BA.5 ร้อยละ 80 เป็น BA.1 และ BA.2 อีกร้อยละ 20 อย่างไรก็ตาม เมื่อถอดรหัสแยกสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 พบว่าเป็น BA.5 ร้อยละ 77 เป็น BA.4 ร้อยละ 22 ฉะนั้น สายพันธุ์ย่อย BA.5 มีความเร็วกว่า BA.4 แน่นอน ส่วนความรุนแรง ไม่มีความแตกต่างกันกับ BA.1 และ BA.2” นพ.ศุภกิจกล่าว

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังพบสายพันธุ์อื่นๆ ที่โผล่ขึ้นมา คือ BA.2.75 ที่เป็นประเด็นในประเทศอินเดีย และรายงานไปยังจีเสด (GISAID) จำนวน 1,434 ราย วันนี้ในประเทศไทยพบ 5 รายแล้ว รายแรก เป็นชายไทย อายุ 53 ปี ที่ จ.ตรัง ตามที่มีการรายงานข่าวไปก่อนหน้านี้ รายที่ 2 เป็น ชายไทยอายุ 62 ปี มีอาการไอ มีเสมหะ คาดว่าติดจากลูกสาวที่กรุงเทพฯ รายที่ 3 เป็น นักเรียนมัธยมปลาย อายุ 18 ปี ที่โรงเรียนมีคลัสเตอร์เกิดขึ้น ซึ่งรายนี้ตรวจเป็นสายพันธุ์ BA.2.75 ส่วนรายที่ 4 เป็นชาย จ.สงขลา อายุ 62 ปี ไม่ได้รับวัคซีน เป็นรายเดียวใน 5 รายที่อาการหนัก อยู่ในไอซียู ใส่ท่อช่วยหายใจ ซึ่งเจ้าตัวบอกว่าแพ้ง่ายเลยไม่ฉีดวัคซีน น่าจะเป็นความเข้าใจผิด นี่ไม่ได้เป็นข้อห้ามฉีดวัคซีน แต่ถ้าไม่ฉีด เมื่อเกิดการติดเชื้อแล้วจะมีอาการหนัก ส่วนรายสุดท้าย เป็นหญิงสูงอายุ ติดเตียง ต้องติดตาม

“ทั้งนี้ ก็ต้องเฝ้าระวังกันต่อไป หากสายพันธุ์นี้เร็วจริง ก็จะมีสัดส่วนเปอร์เซ็นต์สูงขึ้นเรื่อยๆ แต่หากไม่เร็วจริงก็จะขึ้นมาสักพักแล้วหายไป” นพ.ศุภกิจกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image