อนุทิน ไฟเขียว รพ.ซื้อยาโควิดได้เอง ยันไม่เท ปชช.ยังรักษาฟรีตามสิทธิ คาดกลไกตลาดทำถูกลง

อนุทิน ไฟเขียว รพ.ซื้อยาโควิดได้เอง ยันไม่เท ปชช.ยังรักษาฟรีตามสิทธิ คาดกลไกตลาดทำถูกลง

วันนี้ (8 สิงหาคม 2565) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ สธ. ให้สัมภาษณ์กรณีประกาศที่ระบุว่าให้โรงพยาบาล (รพ.) สามารถจัดซื้อยารักษาโควิด-19 ได้เอง ว่า ขณะนี้ รพ.ทุกสังกัดทั้งรัฐและเอกชน สามารถดำเนินการจัดซื้อยารักษาโควิด-19 ได้เอง

“ซึ่งอันนี้ไม่ได้เป็นการเท แต่ด้วยก่อนหน้านี้ สธ.จะเป็นผู้ดำเนินการและกระจาย ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนเป็นต้นไป ก็จะขึ้นกับผู้ที่รับอนุญาตนำเข้าที่ขึ้นทะเบียนยากับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ถ้าหากจะขายโดยตรงให้กับ รพ.ก็ดำเนินการได้ หรือแม้กระทั่งมาร้านขายยาก็ได้ แต่ต้องมีใบสั่งแพทย์ จึงจะขายได้ แต่ก็ขึ้นกับบริษัทผู้ผลิตยาว่าจะส่งระดับไหน ก็จะสอดคล้องกับสถานการณ์ระดับโรคโควิด-19” นายอนุทิน กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า การจัดซื้อยาจะเป็นอย่างไร นายอนุทิน กล่าวว่า ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะมีการดำเนินการพิจารณาราคากลาง หรือราคาอ้างอิง โดยขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ แต่หากยามีราคาแพงมากเกินไป กรณีไปซื้อขายโดยตรง ก็ให้มาแจ้ง สธ. เราจัดซื้อและกระจายให้เหมือนเดิม

Advertisement

“สำหรับยาที่ใช้รักษาโควิด-19 นั้น ต้องย้ำว่า ไม่ใช่ยาสามัญประจำบ้าน ไม่ต้องไปซื้อติดบ้าน ซึ่งหากเรารักษาตามสิทธิ เราก็รักษาได้ แม้แต่ไปรักษาที่ รพ.เอกชน กรณีฉุกเฉิน ก็ยังสามารถใช้สิทธิยูเซ็ป (UCEP) ได้ รัฐบาลยังดูแลอยู่ จริงๆ การไปซื้อยา หากแพทย์ไม่สั่ง ก็ไม่สามารถซื้อได้ เรามีกลไกอยู่ ต้องมีใบสั่งแพทย์เท่านั้น” นายอนุทิน กล่าว

เมื่อถามว่า นี่คือลดบทบาทองค์การเภสัชกรรม (อภ.) หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า องค์การเภสัชฯ ก็เป็นผู้จัดหาอีก 1 ราย เราปล่อยให้เป็นกลไกตลาด

เมื่อถามว่า สธ.เพิ่งมาเปิดให้ รพ.ซื้อขายเอง ถือว่าช้าไปหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ไม่รู้เหมือนกัน หากฟังคนโน้นที คนนี้ที แล้ววิ่งตาม คงไม่ได้ เราต้องมีองค์ความรู้ มีการตัดสินใจของเรา ซึ่งผ่านคณะกรรมการที่ถูกต้องตามกฎหมาย การรักษา การใช้ยา เรามีคณะกรรมการวิชาการ นโยบายในการบริหารจัดการโรคระบาด เรามีคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เรามีคนจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันพิจารณา

Advertisement

เมื่อถามถึงเรื่องของการควบคุมราคายาต้านไวรัส หลังจากมีการให้ รพ.จัดซื้อกันเองได้ นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ รองปลัด สธ. กล่าวว่า ตรงนี้จะเป็นไปตามกลไกการตลาด ซึ่งขณะนี้มีบริษัทมาขึ้นทะเบียนยาโมลนูพิราเวียร์ หลายราย จะทำให้เกิดการแข่งขันกันเอง เมื่อ สปสช.กำหนดราคากลางแล้ว มีคนขายราคาแพงกว่าก็ไม่มีใครซื้อ เช่น ขาย 30 บาท แต่ให้เบิก 26 บาท ก็คงไม่ซื้อ ก็ต้องลดราคาให้ถูกกว่า เป็นกลไกที่จะค่อยๆ ปรับราคาให้ลดลง ทั้งนี้ การเปิดให้ทุก รพ.ซื้อยา เพื่อรองรับการไปสู่โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ซึ่งการเข้าถึงยาก็จะง่ายขึ้น ไม่ต้องมาอยู่ที่ สธ.ที่เดียว ซึ่งการลดระดับเป็นสเต็ปเช่นนี้ก็คล้ายกับตอนไข้หวัดใหญ่ปี 2009 ยาโอเซลทามิเวียร์ช่วงแรกก็ สธ.จัดหาแล้วกระจายให้ก่อน แต่พอถึงช่วงที่มีมากก็เปิดให้ รพ.จัดซื้อเอง รูปแบบก็เป็นแบบนี้เช่นกัน แต่โอเซลทามิเวียร์ไม่ได้ขยายไปจนถึงระดับร้านขายยา ขึ้นกับว่าเราพิจารณาว่าสถานการณ์ช่วงไหนมีความเหมาะสมที่จะดำเนินการ ไม่ได้เปลี่ยนเพราะว่ามีการมาเรียกร้องอะไร

เมื่อถามถึงเรื่องการต่อรองราคาของ รพ. โดยเฉพาะ รพ.ขนาดเล็ก หากซื้อเองอาจต่อรองราคาไม่ได้ นพ.ธงชัย กล่าวว่า เรามีกลไกการจัดซื้อยารวม ทั้งระดับประเทศ สปสช.มีคณะกรรมการซื้อผ่าน อภ. โดย รพ.ราชวิถี แล้วส่งยาไป ถ้าเราดูแล้วว่าไม่จำเป็นขนาดระดับประเทศ ก็มีกลไกการซื้อรวมในระดับเขตสุขภาพ ซึ่งเขตกำหนดราคาแล้วเราต่อรองบริษัทให้ แล้วให้บริษัทถาม รพ.ว่าต้องการเท่าไรจะส่งให้ในราคาเดียวกัน มีกระบวนการเหล่านี้ในระบบอยู่แล้ว

ถามถึงการขยายยาต้านไวรัสรักษาโควิด-19 ไปที่ร้านขายยาต้องรอ อย.ปลดล็อกก่อนหรือไม่ นพ.ธงชัย กล่าวว่า ในระยะแรกยังขายในร้านขายยาไม่ได้ คือจริงๆ ถามว่าได้ไหม ก็ได้ แต่ต้องมีใบสั่งแพทย์ เพราะยายังอยู่ในภาวะฉุกเฉิน แต่ถามว่า ร้านขายยาไหนจะไปซื้อเพราะราคายังไม่ถูกมาก และต้องไปสต๊อกยา การหาซื้อถ้ายังไม่แพร่หลาย ดังนั้น เราต้องหาเจ้าให้ขายเยอะขึ้น ตอนนี้เรามี 3-4 เจ้า ถ้าเยอะขึ้นกระบวนการการตลาดจะเกิดขึ้น คือ รพ.เอกชนซื้อได้ ราคาถูกลง และยิ่งถูกลง มีมากขึ้น ความต้องการประชาชนมากขึ้น ร้านขายยาก็อาจเข้ามาร่วมจัดซื้อได้ แต่ก็ต้องรอ อย.ไปปลดล็อกไปด้วยกันด้วย ตอนนี้คิดว่ายาต้านไวรัสน่าจะกระจายไปในระดับคลินิกก่อนเหมือนไข้หวัด 2009

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image