กรมวิทยาศาสตร์ฯ เอ็มโอยูเอกชน-วิสาหกิจชุมชน ปลูก สกัด วิจัยกัญชากัญชงเชิงพาณิชย์

กรมวิทยาศาสตร์ฯ เอ็มโอยูเอกชน-วิสาหกิจชุมชน ปลูก สกัด วิจัยกัญชากัญชงเชิงพาณิชย์

วันนี้ (9 สิงหาคม 2565) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ด้านการปลูก สกัด และวิจัยพืชกัญชากัญชงทางการแพทย์ ระหว่างกรมวิทยาศาสตร์ฯ บริษัท ซาลัส ไบโอซูติคอล (ประเทศไทย) จำกัด วิสาหกิจชุมชนแม่แตงสมุนไพรเพื่อการแพทย์ จ.เชียงใหม่ และวิสาหกิจชุมชนสมุนไพรดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ โดยมีผู้บริหารของทั้ง 4 ฝ่าย ประกอบด้วย นพ.พิเชฐ บัญญัติ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ฯ ซึ่งได้รับมอบหมายจาก นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ฯ นายธนดี พันธุมโกมล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการบริษัท ซาลัส ไบโอซูติคอล (ประเทศไทย) จำกัด นายสุธีระวัฒน์ ทองคำฟู ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่แตงสมุนไพร เพื่อการแพทย์ จ.เชียงใหม่ และ นายนพวิชัย ยิ้มถนอม ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสมุนไพรดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ ร่วมลงนาม และมีคณะผู้บริหารของทุกฝ่ายร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุมศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 1 เชียงใหม่

 

นพ.พิเชฐ กล่าวว่า ปัจจุบันกัญชา กัญชง กำลังจะก้าวสู่การเป็นพืชเศรษฐกิจทางเลือกใหม่ ของประเทศไทย ด้วยคุณค่าสรรพคุณและประโยชน์ที่ได้รับจากกัญชากัญชงในทุกส่วน ทั้งเมล็ด ช่อดอก ใบ ลำต้น เปลือก ราก และเส้นใย ปัจจุบันจัดเป็นพืชที่สามารถแปรรูปทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและ ต่อยอดทางธุรกิจได้มากมาย ทั้งนี้ สธ.มีนโยบายสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากกัญชากัญชง ทางการแพทย์ และได้ปลดกัญชากัญชงออกจากยาเสพติด ส่งผลให้สามารถนำพืชกัญชากัญชงมาพัฒนาและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องสำอาง และสมุนไพรได้ นับเป็นโอกาสที่เกษตรกรและทุกภาคส่วนจะได้ร่วมกันพัฒนาและผลักดันกัญชากัญชงให้เป็นพืชเศรษฐกิจได้อย่างแท้จริง โดยเฉพาะการปรับปรุงสายพันธุ์และเทคโนโลยี การปลูกให้เหมาะสม การผลิตสารสกัด การศึกษาวิจัยใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ และการแปรรูป เป็นผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องสำอาง ต่อยอดในเชิงพาณิชย์หรืออุตสาหกรรม

Advertisement

“ความร่วมมือกันครั้งนี้มีระยะเวลาในการดำเนินการ 5 ปี โดยมีวัตถุประสงค์ในการศึกษา วิจัย และการพัฒนาสายพันธุ์พืชกัญชากัญชงให้มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตั้งแต่การปลูก การเลือกสายพันธุ์ที่เหมาะสมกับพื้นที่และสภาวะแวดล้อมที่ปลูก การพัฒนาและรวบรวมสายพันธุ์เพื่อให้ได้สายพันธุ์ที่มีสารสำคัญสูง และเป็นแหล่งวัตถุดิบที่มีคุณภาพ การผลิตสารสกัดและแปรรูปพืชกัญชากัญชงให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดและได้มาตรฐานสากล นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินการร่วมกัน ในด้านการศึกษาและพัฒนาบุคลากร การถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีแก่บุคลากร และการใช้ทรัพยากร ของทั้ง 4 ฝ่าย เช่น ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ สถานที่ อุปกรณ์เครื่องมือ ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้โครงการตามบันทึกความร่วมมือนี้ประสบความสำเร็จ” นพ.พิเชฐ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image