สธ.เผย ฮูขอความเห็นประชาคมโลก เปลี่ยนชื่อฝีดาษลิงลดตีตรา ยันไทยยังพบแค่ 5 ราย

สธ.เผย ฮูขอความเห็นประชาคมโลก เปลี่ยนชื่อฝีดาษลิงลดตีตรา ยันไทยยังพบแค่ 5 ราย

เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศขอความคิดเห็นจากประชาคมทั่วโลก ในการเปลี่ยนชื่อไวรัสฝีดาษวานร หรือฝีดาษลิง (Monkeypox) ว่าการเปลี่ยนชื่อของไวรัสที่เกิดขึ้นก็เป็นกระบวนตามปกติ อย่างเช่น ไวรัสโคโรนา (SARS-CoV-2) ก็มีการตั้งชื่อเป็น โควิด-19 (Covid-19) เพราะก่อนหน้านี้มีการเรียกชื่อสายพันธุ์ไวรัส เป็นชื่อประเทศ หรือชื่อเมือง ที่ตรวจเจอผู้ติดเชื้อประเทศแรก ซึ่งจริงๆ ก็อาจไม่ใช่ประเทศแรกที่มีผู้ป่วยรายแรกก็ได้ เช่น บราซิล แอฟริกา อังกฤษ ทำให้เกิดการตีตรา (stigma) ประเทศนั้นๆ อย่างกรณีที่ไทยเคยตรวจเจอสายพันธุ์โควิด-19 ของผู้ป่วยที่มาจากบราซิล ก็จะมีการใช้คำว่า Thailand x Brazil

นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ฉะนั้น โรคฝีดาษลิงที่มีสายพันธุ์ย่อย 2 สายพันธุ์ คือ 1.สายพันธุ์ Central African หรือที่พบมากในลุ่มแม่น้ำคองโก ที่มีความรุนแรง ก็มีผู้เชี่ยวชาญเสนอใช้เคลด 1 หรือ Clade 1 และ 2.สายพันธุ์ West African ที่มีความรุนแรงน้อยกว่า เสนอใช้เคลด 2 หรือ Clade 2 ส่วนตัวชื่อว่าฝีดาษวานร ฝีดาษลิง หรือ Monkeypox ก็เป็นการตีตราลิง และดูไม่สอดคล้องกับสัตว์ที่นำโรคที่ส่วนใหญ่จะเป็นสัตว์ฟันแทะ เช่น หนู แพรี่ด็อก เป็นต้น แต่อันนี้ยังไม่มีการสรุป ทางองค์การอนามัยโลกก็ให้ทุกคนในโลกเสนอชื่อ พร้อมเหตุผลเข้าไป เพื่อให้มีคัดเลือกใช้ชื่อที่เหมาะสม

“การเสนอชื่อเป็นไปตามความสมัครใจ ซึ่งประชาชนทั่วไป นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก ก็สามารถเสนอได้ ส่วนระดับประเทศนั้น ประเทศไทยก็จะที่กรมควบคุมโรคเป็นผู้ดำเนินการเสนอต่อไป” นพ.ศุภกิจกล่าว

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับการเปลี่ยนชื่อไวรัสนั้น จะมุ่งเน้นไปที่การเรียกสายพันธุ์

Advertisement

“เดิมมีการระบุชื่อประเทศแบบเจาะจง ซึ่งจะทำให้เกิดการตีตรา ทางองค์การอนามัยโลกก็มีการเสนอให้เปลี่ยนชื่อเป็นเคลด แทนชื่อประเทศ ก็จะเหมือนในช่วงแรกที่มีการตั้งชื่อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์อู่ฮั่น เราก็เปลี่ยนเป็นโควิด-19 ทั้งนี้ ในการเสนอเปลี่ยนชื่อ ไทยก็จะติดตามความเห็นจากองค์การอนามัยโลกต่อไป” นพ.โอภาสกล่าว และว่า

อย่างไรก็ตาม สำหรับสถานการณ์โรคฝีดาษลิงในประเทศไทย ขณะนี้ยังพบผู้ป่วยยืนยัน 5 ราย ยังไม่มีรายงานเพิ่มเติมเป็นรายที่ 6 ซึ่งส่วนใหญ่ เราจะเห็นข้อมูลที่มีการเผยแพร่ในโลกโซเชียล แต่เมื่อไปตรวจสอบแล้ว ก็พบข้อเท็จจริงว่า ไม่ได้เป็นการติดเชื้อฝีดาษลิง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image