ทช.ชี้เคส CSR สัตหีบ ‘ปลาการ์ตูน’ บางสายพันธุ์ไม่พบในไทย ไม่ช่วยอนุรักษ์ ซ้ำระบบนิเวศทางทะเลพัง

‘กรมทะเล’ ชี้แจงข้อมูลวิชาการ กรณีปล่อยปลา CSR สัตหีบ

เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวถึงดราม่าอินฟลูเอนเซอร์ร่วมกิจกรรมปล่อยปลาฉลาม กับหน่วยนาวิกโยธิน ในเขต ทร.สัตหีบ จ.ชลบุรี โดยมีการปล่อยปลาการ์ตูน ที่คนมองว่าจะเป็น alien species และมีนักอนุรักษ์สายสิ่งแวดล้อม มาที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งขอให้ช่วยตรวจสอบข้อเท็จจริงทางวิชาการนั้น

กรม ทช.ขอชี้แจงว่าการจัดกิจกรรม CSR ในพื้นที่ของกองทัพเรือดังกล่าวมีรายละเอียด ดังนี้

(1) ได้มีการปล่อย ฉลามกบ ที่สามารถพบได้ทั้งฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน จึงมิใช่ alien species แต่อย่างใด

(2) ได้มีการปล่อย ปลาการ์ตูน ซึ่งในประเทศไทยพบ 7 ชนิด ในอ่าวไทยพบเพียง 3 ชนิด ได้แก่ ปลาการ์ตูนอินเดียนแดง ปลาการ์ตูนลายปล้อง และ ปลาการ์ตูนอานม้า ในภาพมีพันธุ์ปลาที่ไม่ใช่ปลาประจำถิ่นของอ่าวไทย เช่น ปลาการ์ตูนส้มขาว ปลาการ์ตูนอินเดียน นอกจากนี้ ยังมี ปลาการ์ตูนมะเขือเทศ ที่เป็นสายพันธุ์นำเข้าและไม่พบในประเทศไทย การปล่อยเช่นนี้ นอกจากจะไม่ช่วยในการอนุรักษ์แล้ว ยังจะทำให้ระบบนิเวศทางทะเลเสียหายได้

Advertisement

ปลาการ์ตูนในธรรมชาติจำเป็นต้องอาศัยอยู่ร่วมกับซีแอนนีโมน ในบริเวณที่เป็นแนวปะการัง การปล่อยปลาการ์ตูนจากชายฝั่ง ทำให้โอกาสที่จะรอดชีวิตมีน้อยมาก และการปล่อยชนิดพันธุ์ต่างถิ่นมีโอกาสที่จะไปรุกรานแก่งแย่งถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำประจำถิ่น ทำให้เกิดการสูญพันธุ์ หรือแทนที่ด้วยสายพันธุ์ใหม่ได้ นอกจากนี้ ปลาการ์ตูนมีการปรับตัวตามถิ่นที่อยู่อาศัย การนำสายพันธุ์ภายนอกอาจเป็นทำให้เกิดลูกผสมที่อ่อนแอทำให้ประชากรเดิมลดลงได้

แนวทางการอนุรักษ์ จึงไม่ควรปล่อยสัตว์น้ำต่างถิ่น ในกรณีของการเพาะพันธุ์เพื่อปล่อย ควรทำเฉพาะสายพันธุ์ที่มีอยู่เดิมในแหล่งธรรมชาติ อนึ่ง ปลาการ์ตูนไม่จัดเป็นสัตว์คุ้มครองการเพาะพันธุ์เพื่อเลี้ยงเป็นสัตว์สวยงามสามารถทำได้

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image