‘ชัชชาติ’ เชื่อ ไม่นานเห็นการเปลี่ยนแปลง กทม.รวมพลัง สสน. ‘พัฒนาระบบคลอง’ แก้ปมน้ำในพื้นที่

‘ชัชชาติ’ เชื่อ ไม่นานเห็นการเปลี่ยนแปลง กทม.รวมพลัง สสน. ‘พัฒนาระบบคลอง’ แก้ปมน้ำในพื้นที่ แนะ ทำให้เมืองเย็น ลดฝน-ฝุ่น

เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ที่บริเวณห้องโถง ชั้น 1 สถานีโทรมาตรอัตโนมัติ และชมระบบคอมพิวเตอร์สมรรถะสูงสำหรับประมวลผลข้อมูลสารสนเทศทรัพยากรน้ำและสภาพภูมิอากาศ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นำทีม กทม. ได้แก่ นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายสุราษฏร์ เจริญชัยสกุล ผู้ตรวจราชการกรุงเทพมหานคร และนายอาษา สุขขัง ผู้อำนวยการกองสารสนเทศระบายน้ำ สำนักการระบายน้ำ กทม. ประชุมหารือความร่วมมือกับ ดร.รอยล จิตรดอน ประธานกรรมการ และผู้บริหาร สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. พร้อมเยี่ยมชม สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ ชมนิทรรศการ “จากนภา ผ่านภูผา สู่มหานที”

โดยวันนี้ ทั้ง 2 หน่วยงานได้หารือในประเด็น

1. การวิเคราะห์กรณีน้ำท่วมที่ผ่านมา
2. พื้นที่ดำเนินงานของ สสน. ในกรุงเทพมหานครและพื้นที่ใกล้เคียง
3.ตัวอย่างการปรับโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำในเขตเมือง เทศบาลเมืองทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช
4. “Hydrogence” แพลตฟอร์มการบริหารจัดการน้ำท่วมในเมือง
5. หารือแนวทางการดำเนินงานร่วมกัน

Advertisement

ภายหลังการหารือ นายชัชชาติ, ดร.รอยล และดร.สุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการ สถาบันฯ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเกี่ยวกับภาพรวมประเด็นการหารือในครั้งนี้

ดร.รอยลกล่าวว่า จากการหารือครั้งนี้ มี 3 ประเด็นที่ได้พูดคุยกัน คือ 1.ข้อมูลที่สถาบันฯมี อ.ชัชชาติจะสามารถนำไปใช้งานได้อย่างไร 2.การ Set โครงการต้นแบบที่จะทำร่วมกัน และ 3.ก่อนที่น้ำเหนือจะมา และจะมีปริมาณฝนมากขึ้นในเดือกันยายนจะสามารถเตรียมการเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำในภาคกลางของประเทศได้อย่างไรบ้าง รวมทั้งวันนี้ได้นำ อ.ชัชชาติไปชมระบบการทำน้ำใสในคลอง เป็นหลักการง่ายๆ ที่ใช้อิฐหักใส่ก้นคลอง

Advertisement

ทั้งนี้ ทุกคนจะเห็นว่าคลองใน กทม.ส่วนใหญ่มีการทำกำแพงเป็นคอนกรีตแล้ว หากมีการดูดเลนเพื่อทำให้น้ำใสจะทำให้กำแพงทรุดตัวลง แต่วิธีนี้จึงจะสามารถช่วยได้และเหมาะกับ กทม.มากกว่า นอกจากนี้การเลี้ยงปลาก็ช่วยได้ ซึ่งกรมประมงก็ช่วยทดลองปล่อยปลา พบว่าสามารถลดวัชพืชได้อย่างชัดเจน ซึ่งอยากเห็น กทม.นำวิธีดังกล่าวไปทดลองใช้

ด้าน นายชัชชาติกล่าวว่า ดร.รอยล ถือเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำอันดับต้นๆ ของประเทศไทย และ สสน.ก็มีข้อมูล จาก 50 กว่าหน่วยงาน ซึ่งข้อมูลถือเป็นพลังอย่างหนึ่ง หากสามารถนำมาทำเป็นโมเดลคาดการณ์ปริมาณน้ำฝน และน้ำท่วมได้ จะทำให้เราสามารถเตรียมตัวรับมือกับปัญหาน้ำได้ดี รวมถึง สสน.ยังมีผู้เชี่ยวชาญ และการประสานงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ได้ดี องค์ความรู้ทั้งหมดนี้จะเป็นประโยชน์มาก ซึ่งแนวคิดหลายอย่างก็ตรงกับของ กทม. อาทิ เรื่องของการพัฒนาระบบคลองให้เข้มแข็งขึ้น ต่อไปอาจต้องมีโครงการร่วมกันเพื่อเพิ่มการส่งน้ำในคลองให้มากขึ้น ซึ่งจริงๆ อุโมงค์มีประสิทธิภาพจริงแต่ต้องลงทุนเยอะและใช้เวลานานมาก การปรับปรุงคลองในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งมีมากกว่า 2,000 กิโลเมตรให้ดี มีประสิทธิภาพ การเพิ่มหน้าตัด ฝังท่อ หรือทำทางด่วนน้ำใต้คลอง เชื่อว่าจะสามารถเห็นการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วในระยะเวลาไม่ไกล ซึ่งจะคัดเลือกเส้นทางเพื่อทดลองทำร่วมกันต่อไป รวมถึง ดร.รอยล ได้เสนอให้มีการกระจายอำนาจให้เขต เนื่องจากในอนาคตฝนจะตกกระจายมากขึ้น หากในอนาคตมีการกระจายข้อมูลและกระจายอำนาจการบัญชาการจะทำให้การบริหารจัดการ แบ่งคลองให้เขตดูแลอย่างทั่วถึงจะทำให้มีประสิทธิภาพขึ้น สนน.มีทั้งบุคลากร ข้อมูล และฐานการคำนวณที่มีพลัง การร่วมมือกันระหว่างทั้งสองหน่วยงานจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนได้

“อีกเรื่องหนึ่งที่ อ.รอยล ให้ข้อสังเกตว่า ทำไมฝนเมื่อเข้ามาในพื้นที่กรุงเทพฯ ต้องชะลอตัว ทำให้ฝนตกนิ่งในพื้นที่ กทม. เนื่องจากใน กทม.มีความร้อนสูง มีตึกที่ดูดความร้อนไว้ เมื่อลมมาปะทะทำให้ชะลอตัวลง เมื่อเราเห็นฝนเคลื่อนที่มาด้วยความเร็ว แต่เมื่อมาถึงพื้นที่ กทม.ก็ชะลอตัว รวมถึงฝุ่นที่เป็นความร้อน ก็กระตุ้นให้เกิดฝนด้วย เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหาคือการทำให้เมืองเย็นลง คือการปลูกต้นไม้และเพิ่มพื้นที่สีเขียว รวมถึงการเอาสายสื่อสารลงดิน เพื่อให้ต้นไม้ได้แผ่กิ่งก้านสร้างร่มเงาให้มากขึ้น ทำให้เมืองเย็นลง ลดมิติของฝนและฝุ่น ถือว่าเป็นแนวคิดที่ดี สอดคล้องกับนโยบายของ กทม. และจะก่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชน” นายชัชชาติกล่าว

ด้าน ดร.สุทัศน์ กล่าวว่า สสน.ทำหน้าที่ดูแลคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ มี 52 หน่วยงานช่วยกันให้ข้อมูล เพื่อทำให้เกิดประโยชน์ต่อทั้ง กทม.และประเทศ เพราะข้อมูลที่ได้จากการจดบันทึกทั้งหมดก็มาจากเงินภาษีของประชาชน เมื่อก่อนระบบอาจจะช้า แต่ตอนนี้เร็วมากขึ้นเพราะมีการเชื่อมต่อด้วยระบบอัตโนมัติ ทั้งนี้ สสน.ยินดีร่วมงานกับ กทม.เพื่อให้เกิดประโยชน์ และเป็นพลังในการเปลี่ยนแปลง กทม.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image