‘ทวิดา’ นำเครือข่าย อุดช่องว่างการแพทย์-เทคโนโลยี ดันแอพพ์-บริการใหม่ให้พร้อมรับเคสฉุกเฉิน

‘ทวิดา’ นำเครือข่ายหาคำตอบ อุดช่องว่างการแพทย์-เทคโนโลยี ให้พร้อมรับ ‘เคสฉุกเฉิน’ เดินหน้าสู่มืออาชีพ แห่งโลกอนาคต

เมื่อวันที่ 5 กันยายน ที่ห้องอมรินทร์ ชั้น 3 โรงแรมเอส ดี อเวนิว เขตบางพลัด ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดโครงการประชุมวิชาการการแพทย์ฉุกเฉิน ประจำปี 2565 ในหัวข้อ “การแพทย์ฉุกเฉินแห่งโลกอนาคต Metaverse in BangkokEMS” ซึ่งจัดโดย ศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) สำนักการแพทย์ โดยมี พญ.วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร, นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์, เรืออากาศเอก นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ และคณะ พร้อมด้วยผู้บริหารสำนักการแพทย์ ตลอดจนผู้แทนจากหน่วยงานเครือข่ายในระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร ร่วมพิธี

ผศ.ดร.ทวิดา รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า บุคลากรทางการแพทย์และการแพทย์ฉุกเฉิน เป็นบุคคลที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเมืองหลวงและมีความสลับซับซ้อนมาก ความพยายามในการแก้ปัญหาและกำหนดว่าเราจะทำอะไรต่อไปในโลกอนาคตเป็นสิ่งที่ดี ในอนาคตเราจะมีหนทางที่ทำให้ชีวิตปลอดภัยขึ้น และมีความสุขขึ้นกับการได้รู้ว่าหากมีสิ่งที่จำเป็นที่สุดในชีวิตของคนในสังคม ยิ่งในเฉพาะสังคมที่มีความยาก ทั้งด้านกายภาพ ความเชื่อมโยงของหลายๆ หน่วยงาน ดังที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครพูดอยู่เสมอว่า “เรายังสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้อีกมาก ทั้งในเรื่องของการช่วยชีวิตคน การให้บริการได้รวดเร็วขึ้น การอำนวยความสะดวก แต่อย่าทำให้เทคโนโลยีฉลาดเกินไป จนคนกลัวที่จะอยู่ในสังคม” ซึ่งบางครั้งเทคโนโลยีอาจทำให้เกิดความเลื่อมล้ำในการเข้าถึงการรักษาโดยไม่รู้ตัว

Advertisement

“ดังนั้น ในการประชุมทางวิชาการ ได้มีการพยายามหาคำตอบของช่องว่างที่เกิดขึ้นสำหรับอนาคตอันใกล้ จะทำให้เกิดปัญหาใดกับอนาคตที่จะมาถึงหลังจากนั้น โอกาสนี้ ขอให้กำลังใจทุกท่านที่ทำงานหนักในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หวังว่าการประชุมวันนี้จะสำเร็จ หาคำตอบที่อยากได้ เรียนรู้เพิ่มเติมในสิ่งที่อยากรู้ และสร้างความสัมพันธ์และความผูกพันในวงการเครือข่ายการแพทย์และสาธารณสุขฉุกเฉินให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป เพื่อในวันหนึ่งเราจะพูดได้ว่ากรุงเทพฯ ของเราปลอดภัย และน่าอยู่” ผศ.ดร.ทวิดา กล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบันความก้าวหน้าทางวิชาการด้านการแพทย์และสาธารณสุข มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาและส่งเสริมบุคลากรให้มีความรู้ ความเข้าใจ ส่งเสริมงานวิจัยและสร้างสรรค์นวัตกรรมทางการแพทย์สมัยใหม่ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้รับบริการ และสอดคล้องกับนโยบาย 9 ดี มิติสุขภาพดี ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

Advertisement

สำนักการแพทย์ โดยศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) จึงได้จัดโครงการประชุมวิชาการการแพทย์ฉุกเฉิน ประจำปี 2565 ในหัวข้อ “การแพทย์ฉุกเฉินแห่งโลกอนาคต Metaverse in BangkokEMS” ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายเป็นแพทย์ พยาบาล และผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์ฉุกเฉินจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และมูลนิธิ จำนวน 200 คน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ผู้ปฏิบัติการเครือข่ายในระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร ได้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่าน เข้าสู่สังคมยุคดิจิทัลและเทคโนโลยีในอนาคต รวมทั้งได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น และประสบการณ์ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาให้เกิดองค์ความรู้ที่ทันสมัย และเป็นประโยชน์ อันจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพมาตรฐานของระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินและบุคลากร สู่ความเป็นมืออาชีพในการปฏิบัติการทางการแพทย์ฉุกเฉินที่มีประสิทธิภาพสูงสุด

โดยขณะนี้ สำนักการแพทย์ ได้พัฒนาระบบเทคโนโลยีดิจิทัล ผ่านระบบโทรเวชกรรม หรือ Telemedicine เชื่อมโยงกับระบบสารสนเทศของโรงพยาบาล เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการติดต่อสื่อสารกับผู้ป่วยผ่านแอพพลิเคชั่น “หมอ กทม.” ที่สามารถส่งข้อมูลภาพและเสียงระหว่างคนไข้กับแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น

นอกจากนี้ ในด้านการให้บริการการแพทย์ฉุกเฉิน ศูนย์เอราวัณก็ได้มีการพัฒนาแอพพลิเคชั่น “Erawan 1669” สำหรับให้ประชาชนแจ้งเหตุฉุกเฉิน โดยแอพพลิเคชั่นดังกล่าวสามารถประเมินอาการบาดเจ็บของผู้ป่วยฉุกเฉิน คัดแยกรหัสอาการของผู้ป่วย และให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวเบื้องต้นแก่ญาติหรือผู้ป่วยทางโทรศัพท์ ก่อนที่ทีมปฏิบัติการจะไปถึง ทั้งนี้ หากผู้ป่วยหรือญาติสามารถปฏิบัติตามคำแนะนำได้อย่างรวดเร็วและถูกต้อง จะสามารถช่วยลดอัตราการเสียชีวิต หรือความพิการจากการเจ็บป่วยฉุกเฉินที่จะเกิดขึ้นได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image