‘ชัชชาติ’ รอฟังพรุ่งนี้ พิพากษาปม ‘สายสีเขียว’ ย้ำเงินไม่ใช่ประเด็น แต่ภาษี ปชช.ต้องคิดละเอียด

‘ชัชชาติ’ รอฟังศาล พิพากษาปม ‘สายสีเขียว’ พรุ่งนี้-ย้ำไม่มีปัญหาเอกชน เงินไม่ใช่ประเด็น แต่ภาษี ปชช.ต้องคิดละเอียด

เมื่อวันที่ 6 กันยายน ภายหลัง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมเป็นวิทยากรบรรยายงาน วันต่อต้านคอร์รัปชั่น 2565 ในหัวข้อ “ผู้นำ…กับการปราบโกง!” ที่สถานีกลางบางซื่อ (โซนประตู 4) โดยหลังจบการบรรยาย นายชัชชาติให้สัมภาษณ์ถึงกรณีรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งวันพรุ่งนี้ 7 (ก.ย.) ศาลปกครองกลาง นัดอ่านคำพิพากษา ในคดีหมายเลขดำที่ 1242/2564 ระหว่าง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (ผู้ฟ้องคดี) หรือ BTSC ผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว กับกรุงเทพมหานคร ที่ 1 กับพวก รวม 2 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง (โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว)

อ่านข่าว : ชัชชาติยัน ปมรถไฟฟ้าสายสีเขียว ต้องเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ก่อนจ่ายต้องรอบคอบ เล็งอุทธรณ์หากผลเป็นลบ

นายชัชชาติกล่าวว่า ก็ไม่เป็นไร รอผลการพิจารณา เนื่องจากเป็นกรรมการที่ดำเนินการมาหลายเดือนแล้ว ตั้งแต่ก่อนที่ตนจะเข้ามารับตำแหน่งผู้ว่าฯกทม.อีก ก็ต้องรอฟังผล

“เดี๋ยวรอฟังคำพิพากษา ก็คงพร้อมกันหมดแล้ว คงให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย มีคำพิพากษาลงมาก็ดี จะได้รู้ว่าท่านมองอย่างไร ก็ดีเหมือนกันมีคนมาช่วยดู เป็นคนนอกที่มาช่วยดูว่ามองอย่างไร ซึ่งเราต้องเคารพอยู่แล้ว ส่วนกระบวนการต่อไปเดี๋ยวคงต้องดูคำวินิจฉัยของศาลก่อนว่าท่านมองในประเด็นไหน” นายชัชชาติระบุ

Advertisement

เมื่อถามว่าทาง กทม.จะคืนเรื่องนี้ไปยังรัฐบาลหรือไม่ ให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณา?

นายชัชชาติกล่าวว่า ต้องแยกประเด็นให้ดี มีหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องเกี่ยวเนื่องกัน

“ของรัฐบาลเองมีเรื่องที่ค้างอยู่ คือการขยายสัมปทาน เอาหนี้ทั้งหมดไปแลกสัมปทาน ซึ่งอันนี้ทางกระทรวงมหาดไทยก็ถามมา เดี๋ยวเรารอคำตอบจากสภานิดนึง แล้วก็ตอบไป ส่วนเรื่องอื่นไม่มีเกี่ยวแล้ว เรื่องอื่นเป็นเรื่องหนี้ระหว่างเรา (กทม.) กับบีทีเอส ไม่ใช่ระหว่างเรากับเคที และเคทีกับบีทีเอส จะมี 3 ส่วนที่เกี่ยวข้องกัน ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับรัฐบาล ต้องค่อยๆ แยกประเด็นให้ชัดเจน” นายชัชชาติกล่าว

Advertisement

เมื่อถามว่าทาง กทม.จะดำเนินการอย่างไรต่อ จะให้รัฐบาลตัดสินใจว่าจะเดินหน้าต่อดีหรือไม่?
นายชัชชาติเผยว่า มิติของรัฐบาลก็คงมี 2 เรื่อง คือเรื่องที่ค้างอยู่ใน ครม.ว่าจะเอาอย่างไร

“ท่านจะดำเนินการตาม ม.44 ต่อหรือไม่ หรือว่าท่านจะยกเลิก แล้วไปทำความร่วมมือ

“อีกเรื่องคือเงินที่ให้เรารับผิดชอบ เรื่องค่าโครงสร้าง ว่าท่านจะช่วยได้หรือไม่ เพราะว่าเป็นโครงสร้างซึ่งรถไฟฟ้าส่วนใหญ่รัฐบาลจะช่วยรับผิดชอบเรื่องโครงสร้าง ทำให้ภาระผู้โดยสารน้อยลง ก็เป็นเรื่องในแง่หลักการซึ่งก็คงรู้ แต่ประเด็นคือเราต้องรอสภานิดนึง เพราะมีความเกี่ยวข้องกับสภาอยู่ การใช้เงินทั้งหมดต้องให้สภารับรู้ อนาคตถ้าเกิดเป็นค่าใช้จ่ายขึ้นมา จะเกิดปัญหา เหมือนที่เกิดขึ้นในสัญญาส่วนต่อขยายที่ 2 ระหว่าง กทม.กับกรุงเทพธนาคม ซึ่งไม่ได้ผ่านสภา พอจะตั้งงบประมาณก็มีปัญหา จะไปใช้จ่ายได้อย่างไร ปีละ 5,000-6,000 ล้านบาท ต้องทำตามกระบวนการให้ถูกต้อง

ความจริง กทม.เรามีภาระกับกรุงเทพธนาคม กรุงเทพธนาคมมีภาระกับบีทีเอส บริษัทเอกชน เราต้องเอาให้ชัดว่า ถ้าเรา (กทม.) จะจ่ายเงินให้กับกรุงเทพธนาคม เราจ่ายด้วยอะไร เพราะเป็นเงินภาษีประชาชน สัญญาถูกต้องหรือไม่ รับมอบกับใคร ซึ่งรายละเอียดมี เป็นเรื่องของหลักการแล้ว เพราะเราไม่ได้ใช้เงินตัวเอง” นายชัชชาติกล่าว และว่า

อย่างที่บอก กทม.ไม่ได้มีปัญหาอะไรกับเอกชน กทม.แค่ระหว่างเรา กับกรุงเทพธนาคม เราจะจ่ายด้วยอะไร เพราะว่าสัญญาส่วนต่อขยายที่ 2 เป็นแค่หนังสือส่งมอบหมายงาน แต่พอกลายเป็นมีค่าใช้จ่ายมา 6,000 ล้านบาท ก็ต้องดูว่าอำนาจอยู่ที่ใคร ในตอนทำสัญญาหนแรก มอบหมายอำนาจครบถ้วนหรือไม่

นายชัชชาติกล่าวย้ำว่า ไม่ได้ช้า ที่ผ่านมาหลายปียังไม่มีใครกล้าจ่าย

“แล้วถ้าเกิดจะให้เรารีบจ่ายภายใน 1-2 เดือน มันก็ต้องคิดให้ละเอียด เพราะเงินไม่ใช่บาท 2 บาท ผมว่าต้องทำให้ละเอียดรอบคอบ และมีหลายมิติ ศาลน่าจะช่วยให้เราเห็นแนวทางได้ด้วย เป็นเรื่องที่ดี เหมือนศาลเป็นคนกลางเข้ามา เดี๋ยวคงดูคำวินิจฉัยอีกที” นายชัชชาติกล่าว

ถ้าศาลมีคำสั่งให้จ่าย กทม.จะดำเนินการอย่างไรต่อไป?

นายชัชชาติเผยว่า ก็คงต้องมีกระบวนการยื่นอุทธรณ์

“ความจริงแล้วเงินไม่ใช่ประเด็นหรอก เพราะระยะยาว หลังปี 2572 เงินรายได้ทั้งหมดก็เป็นของ กทม.อยู่แล้ว ผมว่าก็ค่อยๆ คิดไป อาจจะมีเงินหลายๆ รูปแบบแล้ว หนี้ทั้งหมดเราก็ไม่ได้เป็นคนก่อ มันก่อมาก่อน แล้วเป็นเรื่องระยะยาวที่เดินรถอะไรกันมา” นายชัชชาติเผย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image