‘รมว.คลัง’ เผยดัชนีโปร่งใสไทยแค่ 35 เต็ม 100 นายกเล็กเกาะคาโชว์โมเดล ‘ข่วงผญา’

‘รมว.คลัง’ เผยดัชนีโปร่งใสไทยแค่ 35 เต็ม 100 นายกเล็กเกาะคาโชว์โมเดล ‘ข่วงผญา’

เมื่อวันที่ 6 กันยายน ที่เวทีใหญ่ ชั้น M สถานีกลางบางซื่อ (โซนประตู 4) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นวิทยากรบรรยายงาน วันต่อต้านคอร์รัปชัน 2565 ในหัวข้อ “ผู้นำ…กับการปราบโกง!”

อ่านข่าว : ‘ชัชชาติ’ ย้อนเล่า เคยให้ผู้บริหาร ‘สารภาพบาป’ กทม.ทุจริตตรงไหนบ้าง ?

ในตอนหนึ่ง นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังกับการต่อต้านทุจริต เป็นเรื่องของการรับจ่ายเงินของภาครัฐ ต้องมีการใช้อย่างคุ้มค่า การจัดซื้อจัดจ้างต้องเป็นไปด้วยความโปร่งใส การทุจริตส่วนใหญ่มาจากตรงนี้ คะแนนดัชนีความโปร่งใสของไทยอยู่ที่ 35 เต็ม 100 อยู่อันดับที่ 110 ของโลก ซึ่งค่อนข้างต่ำอย่างมาก มาจากเรื่องระบบงานและระบบคน ถ้าคนไม่มีสำนึกความซื่อสัตย์สุจริต ทำให้กระบวนการนั้นไม่มีความโปร่งใส แม้การนำเทคโนโลยีมาใช้ ก็ยังมีข้อครหาอยู่ ส่วนในฐานะกระทรวงการคลังเป็นผู้กำกับดูแล ให้คะแนน 8 เต็ม 10 ซึ่งอยู่ในระดับกลาง

Advertisement

 

นายอาคมกล่าวต่อว่า ระบบที่กระทรวงการคลังป้องกันการทุจริต ได้แก่ 1.ระบบ GFMIS ระบบการเบิกจ่ายเงินในภาครัฐ เมื่องบประมาณผ่านรัฐสภาแล้ว ตัวเลขงบประมาณจะบันทึกในระบบโดยแก้ไขไม่ได้ ถ้าใช้งบประมาณไม่หมดในปีนั้นๆ โดยที่ไม่มีการกันเงิน ภายในวันที่ 30 กันยายน เงินจะถูกตัด ซึ่งถ้าใช้ดุลพินิจของคนจะมีการอะลุ้มอล่วยเกิดขึ้น

ต่อมา ระบบการประมูลผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) มีระบบการป้องกันความปลอดภัย โดยใช้ e-KYC ต้องมีการยืนยันตัวตน ซึ่งช่วยลดดุลยพินิจของบุคคลได้

Advertisement

 

 

ด้าน น.ส.เพ็ญภัค รัตนคำฟู นายกเทศมนตรีตำบลเกาะคา จ.ลำปาง กล่าวว่า ผู้นำต้องจริงจังกับคอร์รัปชั่น ไม่ได้ทำตามกระแส ต้องปรับปรุงกฎระเบียบ ลดขั้นตอนราชการ การเคลื่อนไหวภาคประชาชน ก็ได้ออกมาต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น เป็นพลเมืองผู้ตื่นรู้ กล้าคิด กล้าแสดงออก กล้าตรวจสอบ จะเกิดการเมืองภาคพลเมือง สังคมจะมีความเข้มแข็ง

น.ส.เพ็ญภัคกล่าวอีกว่า ผู้นำต้องเป็นต้นแบบของความโปร่งใส มีการพูดคุยในหน่วยงาน ยอมรับว่ากองช่างเป็นที่ก่อให้เกิดทุจริตจำนวนมาก ซึ่งได้มีการวางกลไกร่วมกัน เน้นการสื่อสาร 2 ทาง กับทางชุมชน มีการเปิดเผยข้อมูลสัญญาการจัดซื้อจัดจ้าง พร้อมกับให้คณะกรรมการชุมชนเข้ามาเป็นคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้าง โดยคณะกรรมการมาจากการคัดเลือกของทั้ง 7 หมู่บ้าน หมู่บ้านละ 15 คน หมุนเวียนการเป็นคณะกรรมการต่างๆ โดยผ่านการอบรมกับทางสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และกองช่าง เพื่อให้รู้ขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง

ต่อมาเป็นการร่วมตรวจสอบของคนในชุมชน โดยใช้เวที “ข่วงผญา” พูดถึงปัญหาและการแก้ไขปัญหาสาธารณะ ก่อให้เกิดความโปร่งใสของการได้มาซึ่งโครงการ ทางเทศบาลก็จะนำตรงนี้ไปบรรจุเป็นเทศบัญญัติ ทำให้คนตระหนักได้ว่าการทำงานที่โปร่งใสจะทำให้เกิดความยั่งยืน

“ทำยังไงให้ชุมชนรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ ทำยังไงให้เกิดความตระหนักร่วมกันว่าที่นี่คือบ้าน ที่นี่คือเมืองของเขา เมื่อชุมชนรู้สึกว่าเขาเป็นเจ้าของแล้ว จะก่อให้เกิดการมีส่วนร่วม น.ส.เพ็ญภัคชี้

น.ส.เพ็ญภัคกล่าวต่อไปว่า ขณะเดียวกัน ก็มีกลไกการตรวจสอบการทำงานท้องถิ่น มีช่องทางร้องเรียนการทุจริตในพื้นที่ ทั้งโทรศัพท์สายตรงผู้บริหาร, ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ โดยจะไม่มีการเปิดเผยชื่อผู้ร้องเรียน พร้อมกับกำหนดระยะเวลาการแก้ไข เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจมากขึ้น ก่อให้เกิดวัฒนธรรมของเกาะคาที่ว่า ‘วัฒนธรรมของการมีส่วนร่วม’ ทำให้คะแนน ITA ของเกาะคาเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 97.34 เป็น 99.09 ในปี 2565

สังคมไทยยังเป็นสังคมอุปถัมภ์ เป็นสังคมที่ยอมรับผู้มีอำนาจ การสร้างความเปลี่ยนแปลงต้องเริ่มที่ตัวเองก่อน ต้องสร้างความโปร่งใสให้กับคน ให้กับองค์กร ยอมรับในเรื่องของความโปร่งใส ไม่เห็นแก่เรื่องผลประโยชน์ เมื่อสร้างผู้นำต้นแบบก่อให้เกิดการยอมรับศรัทธา แล้วคนในชุมชนลุกขึ้นมาเป็นแนวร่วม

ทุกที่มีปัญหาเรื่องอิทธิพล ระบบอุปถัมภ์ สิ่งสำคัญคือการวางระบบการทำงานที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ มีคำตอบให้ชัดเจนว่า เราปฏิบัติกับทุกคนอย่างเสมอภาค ไม่เลือกปฏิบัติ ที่สำคัญใช้ภาคประชาชนเข้ามา จะเกิดวัฒนธรรมการมีส่วนร่วม” น.ส.เพ็ญภัคระบุ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image