ปลัด สธ.สั่งรับมือท่วม 19 จว. หนุนงบกลาง 10 ล.ดูแลสภาพจิตใจผู้ประสบภัย

ปลัด สธ.สั่งรับมือท่วม 19 จว. หนุนงบกลาง 10 ล.ดูแลสภาพจิตใจผู้ประสบภัย

วันนี้ (13 กันยายน 2565) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์ปริมาณน้ำฝนและน้ำขังในพื้นที่หน่วยบริการสาธารณสุข ว่าสถานการณ์อุทกภัยเป็นช่วงที่มรสุมและพายุที่พัดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) และภาคกลาง ที่ผ่านมามีการสะสมน้ำไว้ที่ภาคเหนือในปริมาณมาก ปริมาณน้ำที่เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท อยู่ที่ 18,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (ลบ.ม./วินาที)

“โดยประวัติศาสตร์ หากน้ำถึง 1,900 ลบ.ม./วินาที ก็จะทำให้น้ำท่วมที่ จ.อ่างทอง ฉะนั้น ก็จะมีโรงพยาบาล (รพ.) หน่วยบริการในภาคกลางได้รับผลกระทบ ซึ่งเช้าวันนี้ผมได้สั่งการผู้ตรวจราชการเขตสุขภาพ และหน่วยบริการต่างๆ ที่เป็นพื้นที่เสี่ยงในภาคเหนือ 12 จังหวัด ภาคอีสาน 3 จังหวัด และภาคกลาง 4 จังหวัด ก็ขอให้เตรียมความพร้อมเก็บของขึ้นที่สูง ปฏิบัติตามแนวทางในภาวะวิกฤต (BCT : Business continuity training) โดยแต่ละ รพ.จะมีแนวทางปฏิบัติตามแผนอยู่แล้ว ทั้งการบริหารบุคลากร จัดการทรัพยากร การรับมือหากต้องปิดให้บริการ” นพ.เกียรติภูมิกล่าว

ปลัด สธ.กล่าวว่า อย่างไรแล้ว หลาย รพ.ที่มีประสบการณ์ก็มีแผนรับมือที่ดีอยู่แล้ว เช่น อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท อุทัยธานี รพ.ทางภาคอีสานที่ติดกับแม่น้ำลำตะคอง ส่วนภาคกลางก็จะเป็น รพ.ที่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี เป็นต้น

Advertisement

“ขณะนี้ยังไม่มีวิกฤตขนาดนั้น เราก็วางแผนไว้ ตอนนี้น้ำอยู่ในระดับเขื่อน แต่ถ้าฝนตกหนักอีกต่อเนื่องที่ทำให้น้ำมีปริมาณมากขึ้น เราก็ต้องเตรียมการ ซึ่งเรามีงบกลางไว้สนับสนุนราว 10 ล้านบาท ไม่รวมกับงบประมาณสำหรับการซ่อมบำรุง และยังมีงบกลางของแต่ละจังหวัดด้วย โดยจะมีการเตรียมซื้อยา เวชภัณฑ์ ถุงยังชีพที่จำเป็น ซึ่งจะเป็นการเตรียมงบประมาณเบื้องต้นเท่านั้น” นพ.เกียรติภูมิกล่าว

นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า สำหรับการดูแลประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบก็จะมีหน่วยแพทย์เคลื่อน ทีมปฏิบัติการรับมือภัยพิบัติในพื้นที่ (MCATT) ของกรมสุขภาพจิต หน่วยปฏิบัติการควบคุมโรคติดต่อ (CDCU) ของกรมควบคุมโรค รวม 85 ทีม ช่วยเหลือประชาชนแล้ว 6,000 กว่าราย และจะมีการติดตามต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม น้ำที่ท่วมขังเป็นการรอระบาย ใช้เวลา 1-2 วัน น้ำก็จะระบายออกไปหมด ดังนั้น ก็จะไม่ค่อยเกิดปัญหาโรคระบาดในภาวะน้ำท่วม แต่เราก็ได้เตรียมการไว้แล้ว

นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า ภาวะที่น้ำท่วมขณะนี้ไม่เกิดเป็นระยะยาว จึงไม่ส่งผลกระทบถึงเสียชีวิต แต่ส่วนใหญ่จะกระทบต่อทรัพย์สิน เช่น รถยนต์ โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานคร ทำให้ประชาชนเกิดความเครียดระยะสั้น เวลาเกิดฝนตกฟ้าร้องจะเกิดความวิตกกังวลได้ แต่ยังไม่พบสัญญาณที่จะส่งผลกระทบกับสุขภาพจิตระยะยาว ส่วนหนึ่งเพราะคนไทยมีการปรับตัวได้เร็ว ทั้งนี้ ถ้าเทียบกับสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 ซึ่งท่วมนานเป็นเดือน เมื่อติดตามต่อเนื่องไป 3 ปี ก็พบว่า มีภาวะจิตใจหลังเผชิญเหตุการณ์ความรุนแรง (Posttraumatic stress disorder : PTSD) ผลกระทบกับสุขภาพจิตระยะยาวอยู่ราวๆ ร้อยละ 10 ถือว่าน้อย กรณีที่เราพบปัญหาสุขภาพจิตน้อยเป็นเพราะได้รับการช่วยเหลือเร็ว มีการเยียวยา และคนไทยสามารถปรับตัวได้เร็ว ดังนั้น ปีนี้ก็คาดว่าจะไม่มาก

Advertisement

“ดังนั้น ในระยะนี้ขอให้ประชาชนมีการเตรียมตัวเอง เก็บของมีค่าต่างๆ เอาไว้บนที่สูง จัดเตรียมยา เวชภัณฑ์ สิ่งจำเป็นเอาไว้เผื่อกรณีฉุกเฉิน ซึ่งการเตรียมตัวเองเอาไว้เช่นนี้จะช่วยลดความวิตกกังวลจากปัญหาน้ำท่วมได้ แต่ต้องควบคู่กับเรื่องการบริหารจัดการน้ำอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ที่สำคัญคือต้องมีสติ เพื่อการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า พยายามหลีกเลี่ยงปัญหาใหม่ๆ เช่น การทะเลาะเบาะแว้ง หัวร้อน” นพ.เกียรติภูมิกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image