สธ.ยันไทยเจอโอมิครอน BA.2.75.2 จริง! แต่ไม่น่ากังวล แนะ ปชช.อย่าตื่น ใช้ชีวิตตามปกติ

สธ.ยันไทยเจอโอมิครอน BA.2.75.2 จริง! แต่ไม่น่ากังวล แนะ ปชช.อย่าตื่น ใช้ชีวิตตามปกติ

วันนี้ (14 กันยายน 2565) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมด้วย ทนพ.พิไลลักษณ์ อัคคไพบูลย์ โอกาดะ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์เชี่ยวชาญ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงความคืบหน้าการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 ในประเทศไทย

นพ.ศุภกิจแถลงว่า เมื่อช่วง 1-2 วันที่ผ่านมา มีข่าวว่าพบผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ย่อยโอมิครอน BA.2.75.2 จำนวน 1 รายนั้น วันนี้จึงต้องสื่อสารข้อมูล โดยภาพรวมจากการเฝ้าระวังสายพันธุ์ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ตรวจเชื้อเบื้องต้นไปทั้งหมด 359 ราย ส่วนใหญ่ยังเป็น BA.4/BA.5 จำนวน 333 ราย โดย BA.2.75 มี 5 ราย ดังนั้น ภาพรวมประเทศเป็น BA.4/BA.5 ร้อยละ 93 ที่เหลือเป็น BA.1 BA.2 และ BA.2.75 โดยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พบว่าเป็น BA.4/BA.5 ร้อยละ 92 ส่วนภูมิภาคพบ ร้อยละ 94 ทั้งนี้ เมื่อถอดรหัสพันธุกรรมจำนวน 803 ราย พบว่าสายพันธุ์ BA.2.75 มี 9 ราย ส่วนใหญ่ยังเป็น BA.5 ที่ 688 ราย หรือประมาณร้อยละ 85 ของจำนวนทั้งหมด และเป็น BA.4 อีก 106 ราย ซึ่งข้อมูลสอดคล้องกับโลกที่ BA.5 พบมากขึ้น

นพ.ศุภกิจกล่าวว่า สำหรับข้อมูลการเฝ้าระวังสายพันธุ์ BA.2.75 และลูกหลานที่มีจุดต่อท้าย โดยการกลายพันธุ์เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ และนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกต่างจับตาการกลายพันธุ์ในตำแหน่งต่างๆ มีความหมายอย่างไร ว่าจะส่งผลต่อการแพร่ระบาด ความรุนแรง การหลบวัคซีนหรือไม่ ทั้งนี้ BA.2.75 เป็นตัวแม่ แต่เมื่อมาเป็น BA.2.75.2 ก็จะเพิ่มตำแหน่ง R346T และ F486S ซึ่งมีการสังเกตในห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ว่าจะมีผลต่อการแพร่ระบาด หรือความรุนแรงหรือไม่ นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลที่พูดกันถึง BJ.1 ซึ่งเป็นข้อมูลรวบของสายพันธุ์ BA.2.10.1 ซึ่งไม่ใช่พันธุ์ใหม่ แต่ยังเป็นลูกหลาน BA.2 ที่งอกออกมา และจริงๆ ก็มีตัวอื่นๆ อีก ซึ่งบางอันไม่มีปัญหาก็จบ สงบหายไป แต่เราก็มีระบบเฝ้าดู

Advertisement

“ข้อมูลในจีเสด (GISAID) ซึ่งเราได้จับตาดูข้อมูล BA.2.75 และลูกหลานพบในไทย จากการถอดรหัสพันธุกรรมมีทั้งหมด 9 ตัวอย่าง มี จ.แพร่ 2 ราย กรุงเทพมหานคร 5 ราย จ.ตรัง 1 ราย และ จ.สงขลา 1 ราย ซึ่งจังหวัดไม่ได้มีความหมาย ไม่ได้มีปัญหา เพียงแต่ถูกส่งข้อมูลมา โดยในกรุงเทพฯพบสายพันธุ์ย่อยของ BA.2.75 ซึ่งเราเจอ BA.2.75.1, BA.2.75.2, BA.2.75.3 อย่างละ 1 ราย ซึ่งหากจะนับว่าทั้ง 3 รายเป็นรายแรก ก็ได้ ที่เหลือใน 9 ราย ก็เป็นตัวแม่” นพ.ศุภกิจกล่าว

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกเฝ้าจับตาสายพันธุ์โควิด-19 โดยข้อมูลล่าสุดสิ้นเดือนสิงหาคม 2565 เทียบ 2 สัปดาห์ (ระหว่างวันที่ 15-21 สิงหาคม กับ วันที่ 22-28 สิงหาคม 2565) เห็นว่า BA.5 เพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากร้อยละ 84.8 เป็น ร้อยละ 86.8 ซึ่งคล้ายๆ ประเทศไทย ส่วน BA.4 สัดส่วนจากร้อยละ 6.8 ลดลงเหลือร้อยละ 4.2 ขณะที่ BA.2 จาก ร้อยละ 2.6 เป็นร้อยละ 2.5 ขณะที่ BA.2.75 จาก ร้อยละ 0.9 เป็น ร้อยละ 1.2 ขึ้นมาเล็กน้อย นี่คือสถานการณ์จริงระดับโลก ดังนั้น อย่าไปจับเฉพาะจุดว่า ที่นั่นเจอ 3 ราย

“หลายคนไปหยิบเอาข้อมูลบางอย่างขึ้นมา อย่าง BA.2.75 ที่มีเรื่องอำนาจการเพิ่มจำนวน โดยจากรายงานที่ส่งมาทั่วโลก และคนเอามาโพสต์แบบไม่มีข้อมูล โดยนำเมื่อมาเทียบกับ BA.5 ถึงร้อยละ 114 ซึ่งเท่าเศษๆ คนจึงกังวลว่า เร็วขึ้นอีกหรือไม่ ข้อเท็จจริงคือ อันนี้เป็นข้อมูลสันนิษฐาน แต่ของจริงต้องพิสูจน์ว่า จริงหรือไม่ ต้องดูสัดส่วนก่อน ซึ่งตอนนี้การตรวจการกลายพันธุ์ในโลก ณ ขณะนี้ ไม่ได้ทำมากเท่าเดิม บางประเทศไม่ได้ซีเรียส หน้ากากอนามัยก็ถอด แต่ของประเทศไทยไม่ได้นิ่งนอนใจ เราก็นำมาจับตาเฝ้าระวังในประเทศ” นพ.ศุภกิจกล่าว

นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ขอให้เชื่อมั่น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ร่วมกับเครือข่ายการตรวจสายพันธุ์ทั่วโลก ทำการเฝ้าระวังและส่งรายงานในระบบจีเสดอย่างสม่ำเสมอ

“หากอันไหนมีสัญญาณจากนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกว่า ต้องดูตรงไหนเป็นพิเศษ เราก็จับตาดู และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์สามารถตรวจจับได้ ไม่ได้ช้า ไม่ได้มีปัญหา ไม่ต้องกังวล สรุป คือ ณ วันนี้ ในประเทศไทยยังเป็น BA.5 พบสัดส่วนร้อยละ 85 ส่วน BA.4 พบร้อยละ 13 ส่วน BA.2.75 รวมถึงสายพันธุ์ย่อยเพียงร้อยละ 1 ดังนั้น ขออย่าตื่นตระหนกจากข้อมูลบางคนที่ไปโพสต์ในโซเชียลขอให้ตั้งสติ” นพ.ศุภกิจ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ทุกวันนี้ประชาชนควรใช้ชีวิตโดยไม่จำเป็นต้องไปสนใจสายพันธุ์โควิด-19 แล้วใช่หรือไม่ นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ใช่ ตอนนี้ยังไม่มีอะไรกังวลมากกว่าที่ผ่านมา ถ้าหากมีอะไรผิดปกติขึ้นมา กรมวิทยาศาสตร์ฯ มีการเฝ้าระวังก็จะทราบ เช่น สัดส่วนเพิ่มขึ้นเร็ว แต่ละสัปดาห์เพิ่มมาเป็นร้อยละ 5-10 ดูท่าไม่ดี เหมือนอย่างโอมิครอนก่อนหน้านั้น ที่มาเร็ว หรือมีความรุนแรง เช่น อัตราป่วยเสียชีวิตร้อยละ 1 แต่เพิ่มขึ้นก็ต้องเฝ้าระวัง ซึ่งทุกวันนี้ยังไม่มีสัญญาณลักษณะนั้น ก็ขอให้ใช้ชีวิตตามปกติไม่ต้องกังวลหรือซีเรียสเรื่องสายพันธุ์ ซึ่งทุกวันนี้ เราก็เข้มมาตรการมากกว่าทางฝั่งยุโรปหรือตะวันตก การสวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง ตรงนี้ ก็เพียงพอ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image