จักกพันธุ์ มองกทม.ไม่ต่าง ‘อปท.’ รับ อดีตระบบไม่ดีพอ ชวนร่วมดันประเทศ ยึดประโยชน์ปชช.

จักกพันธุ์ มอง กทม.ไม่ต่าง ‘อปท.-เทศบาล’ ต้องผ่านการเลือกตั้ง ยอมรับอดีตระบบไม่ดีพอ ชวนร่วมดันประเทศ เพื่อประโยชน์ปชช.

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 21 กันยายน ที่อาคารชาเลนเจอร์ 2 อิมแพ็ค เมืองทองธานี นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นวิทยากรปาฐกถาพิเศษ “กรุงเทพมหานครเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน” ในการประชุมและสัมมนาทางวิชาการสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 2/2565 ประจำปี พ.ศ.2565 ระหว่างวันที่ 19-21 กันยายน 2565 ซึ่งจัดขึ้นโดย สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย

นายจักกพันธุ์ รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า กรุงเทพมหานคร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เทศบาล ล้วนแต่มีวิธีการแนวทางปฏิบัติ หรือกฎหมายที่ใช้กันอยู่ แทบจะเป็นเรื่องเดียวกัน จะแตกต่างกันแค่สถานที่เท่านั้น หลังจากที่มีการเลือกตั้งเข้ามาแล้ว การทำงานขององค์กรที่มาจากการเลือกตั้ง จะร่วมกันขับเคลื่อนงานตามนโยบายของผู้บริหาร ซึ่งได้กำหนดไว้เป็นแนวทางในการทำงาน เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนทุกคน รวมถึงเพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

โดยในส่วนของ กรุงเทพมหานคร มีนโยบายที่แยกตามหมวดหมู่แบ่งออกเป็น 9 ด้าน ประกอบด้วย โครงสร้างดี ปลอดภัยดี สิ่งแวดล้อมดี สร้างสรรค์ดี เดินทางดี บริหารจัดการดี เศรษฐกิจดี เรียนดี สุขภาพดี เริ่มจากเรื่องโครงสร้าง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ ทุกวันนี้ปัญหาเรื่องน้ำท่วมขัง ปัญหาเรื่องผังเมือง ปัญหาเรื่องการก่อสร้างอาคาร ไม่ว่าจะเป็นเมืองใหญ่เมืองเล็กปัญหาก็ยังมีเกิดขึ้น ต้องยอมรับว่าการพัฒนาของเราในอดีตที่ผ่านมา อาจจะไม่มีระบบระเบียบที่ดีพอ ทำให้ปัจจุบันเมืองใหญ่ๆ หลายเมือง จะต้องมีการแก้ไขปัญหาเรื่องระบบโครงสร้าง

Advertisement

นายจักกพันธุ์กล่าวว่า ต่อมา เรื่องการจราจรก็เป็นประเด็นสำคัญ การเดินทางที่ปลอดภัย มีการเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคม ประชาชนได้รับความสะดวกรวดเร็วในการรับบริการ ในขณะเดียวกันแนวคิดของประชาชนก็เป็นสิ่งสำคัญ เราสามารถเอาแนวความคิดนั้นมาปรับใช้ในการบริหารจัดการ เพราะฉะนั้น คำว่าสร้างสรรค์ดี คือการที่ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในพื้นที่สาธารณะ ที่สำคัญประชาชนทุกคนทุกกลุ่มทุกวัยต้องได้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ดังกล่าว ทั้งในเรื่องของศิลปวัฒนธรรม พักผ่อนหย่อนใจ ออกกำลังกาย ในด้านสิ่งแวดล้อม เริ่มจากฝุ่น PM2.5 ปัญหาขยะ ซึ่ง ในอนาคต เราต่างก็มีความคาดหวังว่า เด็กของเราต่อไปในอนาคตจะสามารถทำหน้าที่ต่อจากพวกเราได้ เพราะฉะนั้น ถ้าเรามีวิธีการ มีอุปกรณ์ มีหลักสูตรส่งเสริม เพื่อให้นักเรียนของเราเป็นเด็กที่มีความรู้ความสามารถ มีจิตสำนึกในการช่วยเหลือสังคม สุดท้ายแล้วมั่นใจว่าประเทศไทยของเราจะต้องมีการพัฒนาก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปมากกว่านี้

นายจักกพันธุ์กล่าวต่อไปว่า จากนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครทั้ง 9 ด้านแล้ว ยังแบ่งออกเป็น 215 ข้อ แต่ความจริงขณะนี้ยังมีเพิ่มได้อีก จาก 215 ข้อ เป็น 216 217 218 ข้อ ซึ่งในบางข้อมั่นใจว่าเทศบาลก็ทำอยู่ไม่ต่างอะไรกับกรุงเทพมหานคร ในส่วนของโครงการแรกเลย นับจากวันแรกที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เข้ามารับตำแหน่งที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร โครงการปลูกต้นไม้ล้านต้น สร้างพื้นที่สีเขียว และกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง ที่จะช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ ช่วยดูดก๊าซพิษเป็นกำแพงกันฝุ่นได้ รวมถึงการดูแลต้นไม้ที่ปลูก การเลือกต้นไม้ที่ปลูกให้มีความเหมาะสมในพื้นที่ เพื่อให้ต้นไม้อยู่ร่วมกับประชาชนในพื้นที่นั้นๆ ได้ การทำแอพพลิเคชั่นเพื่อติดตามการเจริญเติบโตของต้นไม้ เพราะฉะนั้นจากตัวเลขนี้เขียนไว้ที่ดูเกินความเป็นจริง แต่ในขณะเดียวกันอาจจะมากกว่า 1 ล้านต้น ก็คือความร่วมมือร่วมใจของประชาชนที่จะมาทำงานร่วมกับกรุงเทพมหานคร ต่อมาเป็นเรื่องสวน 15 นาที ทั่วกรุง หรือระยะทางการเดินประมาณ 800 เมตร ซึ่งเป็นนโยบายที่กรุงเทพมหานครต้องการที่จะให้ประชาชนได้เข้าถึงสวนได้มากที่สุด แต่ในขณะเดียวกัน พื้นที่สวนใกล้บ้านมีน้อยมาก จึงมีความจำเป็นที่ต้องหาพื้นที่จัดทำสวนเพิ่ม ในเบื้องต้นสำนักงานเขตกับสำนักสิ่งแวดล้อมได้สำรวจแล้วได้พื้นที่ 30 แห่ง เป็นพื้นที่ของส่วนราชการและที่ดินของประชาชน ซึ่งมีความประสงค์ที่จะให้กรุงเทพมหานครพัฒนาเป็นสวนสาธารณะอย่างน้อยเป็นเวลา 7 ปี สวนบางแห่งกรุงเทพมหานครไม่ได้ใช้งบประมาณในการปรับปรุงเลย โดยได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนและประชาชนในพื้นที่ร่วมกันพัฒนา อย่างเช่น สวนสาธารณะในพื้นที่เขตคลองสาน เขตราษฎร์บูรณะ เขตจตุจักร เขตวัฒนา

Advertisement

 

เรื่องฝุ่น PM 2.5 เมื่อฝนเริ่มหมดไปเข้าเดือนธันวาคม ปัญหาเรื่องฝุ่นก็จะตามมา กรุงเทพมหานครได้มีการแจ้งเตือนประชาชนล่วงหน้า การตรวจวัดควันดำ การตรวจแพลนท์ปูน ปัจจุบันมีจุดตรวจฝุ่นอยู่ 79 จุด แต่ในขณะเดียวกันมีหน่วยงานอีกหลายแห่ง ที่มีเครื่องตรวจเหมือนกัน อย่างเช่น กรมอุตุนิยมวิทยา กรมควบคุมมลพิษ กรุงเทพมหานครก็เข้าไปขอเชื่อมระบบจาก 79 จุด ขณะนี้เพิ่มเป็น 532 จุด ซึ่งก็ยังไม่ใช่เป้าหมายสุดท้าย ที่เราตั้งเป้าไว้ว่าเราควรจะมีจุดตรวจฝุ่น PM2.5 หรือ PM10 ไม่น้อยกว่า 1,000 จุดต่อไปในอนาคต

“ดังนั้น จะเห็นได้ว่าเรื่องการปลูกต้นไม้ เรื่องการเพิ่มพื้นที่สีเขียว การจัดทำสวน 15 นาที ก็เป็นนโยบายที่จะไปเสริมเกี่ยวกับเรื่องการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 อีกด้วย” นายจักกพันธุ์ระบุ

นายจักกพันธุ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาเรื่องขยะ ถือว่าเป็นปัญหากับทุกเมืองที่เป็นเมืองขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะกรุงเทพมหานคร หรือเมืองขนาดใหญ่ในประเทศไทย แต่ในละปี กรุงเทพมหานครต้องเสียงบประมาณในการกำจัดขยะเป็นจำนวนมาก จากแนวคิดเดิมๆ เรื่องการคัดแยกขยะ หรือการนำขยะไปใช้ใหม่ จึงยังเป็นเรื่องที่จำเป็นอยู่ ปัจจุบันมีหลายชุมชนและหน่วยงานต่างๆ ให้ความสำคัญในการคัดแยกขยะมากขึ้น ปัญหาอย่างหนึ่งที่แทบจะหายไปเลย เมื่อชุมชนนั้นมีการคัดแยกขยะ ก็คือเรื่องไข้เลือดออก บางชุมชนนำขยะเศษอาหาร มาทำเป็นน้ำหมักชีวภาพ โรงเรียนบางแห่งนำขยะไปผลิตเป็นก๊าซหุงต้มประกอบอาหารในโรงเรียน

ในส่วนของการจัดระเบียบทางเท้า จุดทำการค้าหาบเร่แผงลอย ปัจจุบันกรุงเทพมหานคร มีจุดทำการค้า 95 จุด ผู้ค้า 6,048 ราย กระจายไปทั่วพื้นที่ 21 เขต ในอดีตที่ผ่านมาจะถูกร้องเรียนถึงความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย เรื่องเศษขยะ ที่ผ่านมากรุงเทพมหานครได้ดำเนินจัดระเบียบผู้ค้า โดยได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งเรื่องร่ม และแผงค้าน็อคดาวน์ เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยในรูปแบบเดียวกัน เช่น จุดทำการค้าเขตราชเทวี เขตพญาไท เขตบางกอกน้อย ที่สำคัญผู้ค้ากับประชาชนที่ใช้ทางเท้าจะต้องอยู่ร่วมกันได้ทั้ง 2 ฝ่าย นอกจากนี้ ยังมีการจัดกิจกรรมดนตรีในสวน ซึ่งจัดไปแล้วไม่ต่ำกว่า 60 ครั้ง การพัฒนาห้องสมุดเคลื่อนที่

ขณะเดียวกันในอนาคตเราจะมีห้องสมุดออนไลน์ ให้ประชาชนสามารถที่จะเข้ามายืมหนังสือหรืออ่านหนังสือได้ โดยใช้ระบบเทคโนโลยีที่จะต้องมีการพัฒนาขึ้นต่อภายในอนาคต การจัดกิจกรรมย่านสร้างสรรค์นำร่อง 11 ย่าน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจของชุมชน

“เรื่องสำคัญที่สุดของพวกเราคือ ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพมหานคร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เทศบาล ถ้าเราสามารถที่จะร่วมมือกันจับมือกันได้ มั่นใจว่าการพัฒนาการปกครองส่วนท้องถิ่นของเรา จะขับเคลื่อนเดินหน้าพัฒนาให้เกิดประโยชน์กับประชาชนในประเทศไทยได้เป็นอย่างมาก” นายจักกพันธุ์ กล่าวทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image