คลายข้อสงสัยสิทธิ บัตรทอง บริการอะไรที่ครอบคลุม/ไม่ครอบคลุม

30 บาทรักษาทุกโรค” หรือ “บัตรทอง” หรือ “หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นโครงการที่สืบเนื่องมาตั้งแต่ปี 2545 โดยปัจจุบันผู้ใช้สิทธิมากถึง 47.74 ล้านคน

ตลอดระยะเวลาเกือบ 2 ทศวรรษ บัตรทองมีพัฒนาการมาโดยตลอด ตั้งแต่การอำนวยความสะดวกประชาชนด้วยการใช้ “บัตรประชาชน” ใบเดียว แทนบัตรทอง ไปจนถึงการปรับเพิ่มงบประมาณ-สิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ใช้สิทธิ

ทุกวันนี้ การบริหารจัดการบัตรทองภายใต้การดูแลของ สปสช. ครอบคลุมเกือบจะทุกโรค 100% โดย สปสช.มีหน้าที่สนับสนุนงบประมาณให้หน่วยบริการ พร้อมทั้งจัดทำเกณฑ์-แนวทางการรักษา หน่วยบริการใดที่ต้องการรับงบประมาณก้อนนี้ ก็ต้องจัดบริการให้ตรงตามเกณฑ์-โรค ที่ สปสช.กำหนด

Advertisement

นั่นหมายความว่า ทุกหน่วยบริการที่เข้าในระบบบัตรทองจะมีตัวชี้วัดเดียวกัน ส่วนคุณภาพการให้บริการ-ความสะดวกสบาย ฯลฯ เป็นเรื่องที่ “หน่วยบริการ” จะต้องนำงบประมาณนั้นไปบริหารจัดการกันเอง

เราจึงเห็นว่า ผู้ใช้สิทธิบัตรทองสิทธิเดียวกัน แต่ได้รับบริการที่แตกต่างกันออกไป สุดแล้วแต่ผู้บริหารหน่วยบริการนั้นๆ จะมีศักยภาพเพียงใด อย่างไรก็ดี ในแง่ของสิทธิประโยชน์ ทุกวันนี้ อาจมีความสับสนว่า “บัตรทอง” ครอบคลุม หรือ ไม่ครอบคลุม บริการใดบ้าง

Advertisement

เรื่องนี้ มีคำอธิบายจาก “ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ” รองเลขาธิการ และโฆษก สปสช.

สิทธิประโยชน์‘บัตรทอง’คืออะไร?
สำหรับสิทธิประโยชน์บัตรทอง ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 จะกำหนดให้เป็น “ค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข” ตามมาตรา 3 เริ่มตั้งแต่ค่าบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ค่าตรวจวินิจฉัยโรค ค่าตรวจและรับฝากครรภ์ ค่าบำบัดและการบริการทางการแพทย์ ค่ายา เวชภัณฑ์ อวัยวะเทียม และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ค่าทำคลอด ค่าอยู่กินในหน่วยบริการ ค่าบริบาลเด็กแรกเกิด ค่ารถพยาบาล หรือค่าพาหนะรับส่งผู้ป่วย ค่าพาหนะรับส่งผู้ทุพพลภาพ ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจ และค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็นเพื่อการรับบริการสาธารณสุขตามที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กำหนด

“กล่าวโดยสรุป สิทธิประโยชน์บัตรทองครอบคลุมตั้งแต่จากครรภ์มารดาจนถึงเชิงตะกอน” ทพ.อรรถพรกล่าว และว่า ขณะเดียวกัน อยากให้นึกถึง 3 ข้อ ได้แก่ 1.ประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุข หมายถึงบริการหรือโรคที่สามารถใช้บริการได้ 2.วิธีการไปรับบริการ หมายถึงเมื่อป่วยเป็นโรคจะสามารถรับบริการได้ที่ใด และ 3.การเบิกจ่ายที่ สปสช.จ่ายให้แก่หน่วยบริการ เพราะทั้ง 3 ข้อนั้น เป็นส่วนประกอบที่จะทำให้ประชาชนผู้มีสิทธิสามารถใช้บริการได้อย่างสะดวกและเป็นไปตามที่กองทุนกำหนดไว้

ประเภท/ขอบเขตบริการสาธารณสุข อะไรใหม่?
สำหรับประกาศฉบับล่าสุด ประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง ประเภทและขอบเขตของบริการสาธารณสุข พ.ศ.2565 ที่เผยแพร่ราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2565 จะใช้เหมือนกันอย่างที่กฎหมายได้ระบุไว้ แต่สิ่งที่เพิ่มเติมมานั้นคือ “บริการสาธารณสุขด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกว่าด้วยการประกอบโรคศิลปะ”

“แม้ว่า สปสช.เองก็มีประกาศเก่าอยู่แล้ว แต่บอร์ด สปสช.ก็ได้มีการนำประกาศมาทบทวน และควบรวมทุกฉบับให้เป็นฉบับเดียวกัน” ทพ.อรรถพร กล่าวและว่า อย่างไรก็ดี แม้ในทุกๆ ปี สปสช.จะมีการประกาศสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมใหม่ๆ พอสมควร แต่ในปี 2565 จำนวนสิทธิประโยชน์ที่ถูกเพิ่ม-ขยายขึ้นนั้นมีจำนวนค่อนข้างมาก เช่น การคัดกรองผู้ป่วยโรคพันธุกรรมเมตาบอลิกในทารก การตรวจมะเร็งช่องปาก การผ่าตัดใส่รากฟันเทียมสำหรับผู้ที่ไม่มีฟันทั้งปาก การตรวจคัดกรองธาลัสซีเมีย และซิฟิลิสในคู่ของหญิงตั้งครรภ์เมื่อตรวจพบความผิดปกติ การให้ยาราคาแพง การตรวจคัดกรองการได้ยินในทารกแรกเกิด บริการผ้าอ้อมผู้ใหญ่ ฯลฯ ซึ่งหากเป็นสิทธิประโยชน์ที่เรียกว่า “บริการการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค” จะครอบคลุมคนไทยทุกคน

นอกจากนี้ รองเลขาธิการ สปสช.ยังระบุว่า สำหรับบริการที่เคยเป็นข้อยกเว้น และได้รับการเสนอให้เป็นบริการที่บุคคลมีสิทธิจะได้รับ ตามการจัดหมวดหมู่ในประกาศฉบับใหม่นั้น ได้แก่ การบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ที่ติดยาเสพติด หากผู้ที่ติดยาเสพติดสมัครใจเข้ารับบริการก็สามารถใช้สิทธิบัตรทองได้ ยกเว้นเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดที่มีกำหนดเกี่ยวกับการให้บริการบำบัดและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด หากถูกบังคับให้บำบัดส่วนนี้ จะไม่ใช่ สปสช.เป็นฝ่ายดูแล แต่จะกลายเป็นกระทรวงยุติธรรม

การบริการสาธารณสุขที่เกี่ยวกับอุบัติเหตุประสบภัยจากรถ ยกเว้นการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ รวมไปถึงการรักษาภาวะผู้ที่มีบุตรยากหรือการผสมเทียมตามที่ สปสช.กำหนดโดยความเห็นของคณะกรรมการ ยกเว้นการอุ้มบุญและการรักษาโรคเดียวกันที่ต้องใช้ระยะเวลารักษาตัวในโรงพยาบาลเกิน 180 วัน

บริการ/สิทธิประโยชน์ที่ยัง‘ไม่ครอบคลุม’
สำหรับสิทธิประโยชน์บัตรทองที่ “ไม่ครอบคลุม” อย่างแรกจะเป็นเรื่องของการศัลยกรรมความงาม หรือเป็นการกระทำใดๆ เพื่อความสวยงาม โดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ตามด้วยการตรวจวินิจฉัยหรือการรักษาที่อยู่ระหว่างการค้นคว้าทดลอง หรือเกินความจำเป็นจากข้อบ่งชี้ทางการแพทย์
นอกจากนี้ ยังรวมถึงการปลูกถ่ายอวัยวะที่ไม่อยู่ในรายการที่กำหนด แต่ก็มีบางบริการที่สิทธิประโยชน์ได้ให้ไปแล้ว เช่น การปลูกถ่ายหัวใจ การปลูกถ่ายตับในเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี ในกรณีเป็นโรคท่อน้ำดีอุดตัน การปลูกถ่ายตับในผู้ใหญ่ที่เป็นโรคตับแข็งระยะกลางหรือระยะท้าย นอกเหนือไปจากนั้นยังไม่ครอบคลุม และสุดท้ายคือ การบริการทางการแพทย์อื่นตามที่ บอร์ด สปสช.กำหนด

หมุดหมายในปีหน้า เน้น‘เข้าถึงบริการ’มากขึ้น
ทพ.อรรถพร ระบุว่า ทุกปีจะมีการรับฟังความคิดเห็น และจะมีการนำบางหัวข้อที่ได้มาศึกษาและดูต้นทุนความคุ้มค่า ซึ่งสิ่งที่คิดว่าต้องทำในปีหน้า หรือปีถัดๆ นั่นก็คือการทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้มากขึ้น แม้จะมีสิทธิประโยชน์ที่ครอบคลุม แต่ก็อาจจะมีประชาชนบางส่วนที่ยังเข้าไม่ถึง

“เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ สปสช.จะมองตรงนี้ เราพูดว่าครอบคลุมทุกอย่าง แต่ประชาชนเข้าไม่ได้ หรือว่ายังไม่สามารถใช้บริการได้ ติดขัดที่ตรงไหน”

นอกจากนั้นแล้ว จะเห็นว่าในขณะนี้มีเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้นมา สำหรับบริการการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคนั้น ก็จะพยายามดูว่าจะสามารถนำเทคโนโลยีที่มีความคุ้มค่ากับการที่จะใช้เงินจากรัฐบาลมากน้อยแค่ไหนเพื่อดูแลประชาชน

สุดท้าย สิ่งที่คิดว่าจะขยายนั่นก็คือ บริการใหม่ๆ หรือเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มีราคาแพง เพราะหากว่าไม่ครอบคลุมในส่วนนี้ ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อการเงินของครัวเรือนได้ ฉะนั้นก็จะพยายามพัฒนาดูว่ามีช่องทาง หรือวิธีการใดที่จะนำเข้ามาสู่ระบบบัตรทองได้ ขณะเดียวกัน ก็ไม่ได้หมายความว่า เมื่อเห็นว่ามีราคาแพงและจะสามารถนำเข้าได้ อาจจะต้องมีการทำให้ราคาถูกลงก่อน เพื่อนำเข้ามาในระบบได้ เพื่อที่จะใช้งบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดให้มีประโยชน์สูงสุด

“จริงๆ สิทธิประโยชน์ก็มีการปรับใหม่อยู่ตลอดเวลา ส่วนมากเวลาที่มีการปรับขยายเพิ่ม ก็จะมีการสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบ ซึ่งก็มีการประกาศทุกช่องทาง ประชาชน 47.74 ล้านคน ก็จะสามารถทราบได้ว่ามีสิทธิประโยชน์อะไรเพิ่มเติมในแต่ละปี” ทพ.อรรถพร ระบุ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image