‘จักกพันธุ์’ ตามเช็กกลิ่นขยะ ‘โรงงานกำจัดมูลฝอย 800 ตัน’ อ่อนนุช หลังปิดปรับปรุง เม.ย.65

‘จักกพันธุ์’ ตามเช็กกลิ่นขยะ ‘โรงงานกำจัดมูลฝอย 800 ตัน’ อ่อนนุช หลังปิดปรับปรุงตั้งแต่ เม.ย.65

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 1 ตุลาคม ที่เขตประเวศ นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ ติดตามการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโรงงานกำจัดมูลฝอยชุมชน เพื่อผลิตพลังงานขนาดไม่น้อยกว่า 800 ตัน/วัน ที่บริเวณศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช เขตประเวศ โดยได้เดินสำรวจความคืบหน้าการปรับปรุงและติดตั้งระบบต่างๆ ทั้งบริเวณจุดรับขยะ อาคาร RDF บริเวณระบบบำบัดอากาศด้านหลังโรงงาน และภายในอาคารขนถ่ายมูลฝอย เพื่อตรวจสอบการแก้ไขปัญหาผลกระทบเรื่องกลิ่น หลังจากที่ได้ปิดปรับปรุงโรงงานมาตั้งแต่เดือนเมษายน 2565

สำหรับการลงพื้นที่วันนี้มี นายอาฤทธิ์ ศรีทอง รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม ผศ.ดร.ประแสง มงคลศิริ กรรมการผู้อำนวยการบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด นายวรเศรษฐ์ วิศาลศักดิ์ ผู้อำนวยการเขตประเวศ นายศักดา พันธ์กล้า กรรมการตรวจสอบ นายณัฐวัฒน์ พอใช้ได้ ที่ปรึกษาบริษัทฯ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูลเพิ่มเติม

นายจักกพันธุ์กล่าวว่า จากการตรวจดูการปรับปรุงแก้ไขในทุกจุด พบว่ามีการพัฒนาไปมาก เช่น การติดตั้งม่านพลาสติกใสเพิ่มบริเวณจุดรับขยะ พร้อมทั้งปิดช่องว่างใต้ประตูอาคารต่างๆ เพื่อป้องกันกลิ่นที่จะออกจากตัวอาคารได้เพิ่มขึ้น การแก้ไขเพิ่มประสิทธิภาพระบบบำบัดภายในอาคารให้รองรับการบำบัดในทุกอาคารได้ในปริมาณรวมที่ 100,000 ลบ.ม./ชม.

Advertisement

“อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการแก้ไขปิดจุดเล็ดลอดบริเวณอาคาร RDF ให้เรียบร้อยทั้งหมด เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ ให้ทางโรงงานชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชน รวมทั้งจัดประชุมเพื่อรับทราบการทดลองเดินระบบ คาดว่าจะดำเนินการได้ในเดือนตุลาคมนี้ โดยได้กำชับเรื่องการนำขยะเข้ากำจัด ต้องเริ่มทดสอบในปริมาณน้อยไปหามาก และติดตามประเมินผลกระทบทุกระยะ” นายจักกพันธุ์ กล่าว

สำหรับโครงการบริหารจัดการมูลฝอยชุมชน เพื่อผลิตพลังงานขนาดไม่น้อยกว่า 800 ตัน/วัน เป็นโครงการที่สำนักสิ่งแวดล้อม กทม.ได้มอบให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ดำเนินโครงการโดยรับขยะจากกรุงเทพมหานคร เข้าสู่ระบบกำจัดด้วยวิธีเชิงกลชีวภาพ คัดแยกขยะนำน้ำขยะไปหมักให้เกิดก๊าซ เพื่อนำมาผลิตกระแสไฟฟ้าและได้ผลผลิตเป็นขยะเชื้อเพลิง RDF โดยเปิดดำเนินการช่วงปี 2563 และได้รับการร้องเรียนเรื่องกลิ่น ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานและกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้สั่งหยุดเดินระบบเพื่อปรับปรุงแก้ไข และมีการตั้งคณะกรรมการ ซึ่งมีตัวแทนจากภาคประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วม อาทิ สำนักอนามัย มูลนิธิบูรณะนิเวศ กรมควบคุมมลพิษ ร่วมเป็นคณะกรรมการเพื่อร่วมตรวจสอบ ให้คำแนะนำ ในการแก้ปัญหาลดผลกระทบต่างๆ ซึ่งทางโครงการได้เร่งแก้ไขมาเป็นลำดับ ซึ่งมีระบบต่างๆ ที่ปรับปรุงแล้วเสร็จเรียบร้อย ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการตรวจติดตามผลกระทบฯ ดังนี้

Advertisement

1.ปรับปรุงอาคารรับขยะให้เป็นระบบปิดทั้งหมด

2.ติดตั้งม่านพลาสติกเพิ่มบริเวณประตูทางเข้า-ออกรถขนถ่ายขยะ

3.ปรับปรุงระบบบำบัดกลิ่นในอาคารต่างๆ ของโรงงาน จำนวน 2 ระบบ ในปริมาณ 100,000 ลบ.ม./ชม.โดยระบบบำบัดกลิ่นตัวที่ 1 รองรับอัตราการไหลของอากาศจากการรวบรวมอากาศในอาคารรับขยะและอาคารคัดแยกขยะในปริมาณ 65,000 ลบ.ม./ชม. ส่วนระบบบำบัดกลิ่นตัวที่ 2 รองรับการบำบัดในอาคารเตรียมหมัก ในปริมาณ 35,000 ลบ.ม./ชม.

4.เตรียมใบอนุญาตประกอบกิจการให้กับทางคณะกรรมการตามที่ขอข้อมูลในการประชุมครั้งที่ผ่านมา ซึ่งประกอบด้วยใบ รง.88 รง.89 และ รง.106

5.ปรับปรุงความเร็วของม่านอากาศที่ติดตั้งบริเวณประตูทางเข้าออกของอาคารรับขยะและอาคารเก็บขยะเชื้อเพลิง 3.1-4.8 m/s และ 2.6-4.2 m/s

6.การทดลองเดินระบบและการรับขยะเข้ามาทดสอบ โดย กรอ.ได้กำหนดให้บริษัทฯ ทดลองระบบรวบรวมและบำบัดกลิ่นเป็นเวลา 21 วัน และให้รับขยะเข้ากำจัดไม่เกิน 400 ตัน/วัน

7.บริษัทได้จัดทำรายงานความปลอดภัยของโรงงานเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยมีระบบต่างๆ ในการแจ้งเตือนและป้องกันเหตุเพลิงไหม้

8.จัดทำตามตารางการทำงานและปรับปรุงการเดินรถขยะภายในโรงงาน เพื่อลดผลกระทบเรื่องเสียงในระหว่างการปฏิบัติงาน

9.การจัดการระบายน้ำ ภายในโรงงานโดยขุดลอกท่อระบายน้ำภายในโรงงาน เพื่อรองรับปริมาณฝน ไม่ให้กระทบต่อชุมชนโดยรอบ

10.ดำเนินการจัดตั้งกลุ่มไลน์คณะกรรมการติดตามฯ ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนบริษัท ผู้แทนประชาชน หน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อแจ้งความคืบหน้าการแก้ปัญหาและรับทราบข้อมูลต่างๆ จากผู้ได้รับผลกระทบอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ นายจักกพันธุ์ ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตประเวศ ประกอบด้วย เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ ชุมชนอ่อนนุช 40 ไร่ ซอยสุขาภิบาล 2 แยก 15 จำนวนบ้าน 430 หลัง ประชากร 3,000 คน มีอาสาสมัครชักลากขยะในชุมชน 1 คน การจัดเก็บและคัดแยกขยะของชุมชน ขยะทั่วไป เขตฯ จัดเก็บวันจันทร์ และวันเสาร์ เก็บซอย 1-5 ส่วนวันอังคาร วันพฤหัสบดี และวันเสาร์ เก็บซอย 6-10 โดยจะมีอาสาสมัครชักลากขยะจากบ้านเรือนประชาชนมารวมไว้ปากซอย รอรถขยะมาจัดเก็บ จึงไม่มีปัญหาเรื่องขยะตกค้าง ขยะรีไซเคิล ประชาชนแต่ละครัวเรือน จะคัดแยกไปขายยังร้านรับซื้อของเก่า ขยะเศษอาหาร มีการคัดแยกอยู่บ้างบางครัวเรือน โดยจะมีผู้เลี้ยงปลามารับยังบ้านที่คัดแยกไว้ทุกเช้า เพื่อนำไปให้อาหารปลา ขยะอันตราย เขตฯ จัดเก็บทุกวันที่ 1 และ 15 ของเดือน สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยก 4 ตัน ปริมาณขยะหลังคัดแยก 2.5 ตัน ปริมาณขยะลดลง 1.5 ตัน นอกจากนี้ เขตฯ เข้าไปสนับสนุนการคัดแยกขยะในชุมชน 40 ไร่ ดังนี้ 1.ประชุมร่วมกับผู้นำชุมชน กำหนดแนวทางการดำเนินการร่วมกัน 2.เจ้าหน้าที่เขตฯ ร่วมกับผู้นำชุมชน เดินเคาะประตูบ้านพบปะกับลูกบ้านโดยตรง เก็บข้อมูลการจัดการขยะแต่ละครัวเรือน 3.นำข้อมูลมาสรุปหาแนวทางแก้ไขหรือต่อยอดให้เกิดผลเป็นรูปธรรมและยั่งยืนต่อไป

เจาะลึกจุดเสี่ยงภัยทางเดินริมคลองปากน้ำ เสริมเทศกิจตรวจตรา

ต่อมาได้ตรวจจุดเสี่ยงภัยอาชญากรรม บริเวณทางเดินริมคลองปากน้ำลอดใต้ถนนกาญจนาภิเษก  ด้านหลังโรงเรียนคลองปักหลัก ซึ่งเป็นพื้นที่เปลี่ยวมีมุมอับลับตาผู้คน เขตฯ ได้ติดตั้งตู้เขียวและจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจตรวจจุดดังกล่าวอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง นอกจากนี้สถานีตำรวจนครบาลในพื้นที่ได้จัดเจ้าหน้าที่ตำรวจออกตรวจจุดดังกล่าวด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พัฒนาทำความสะอาดทางเดินริมคลอง ตัดแต่งต้นไม้ที่บดบังทัศนียภาพ ตรวจสอบไฟฟ้าส่องสว่าง เพื่อความปลอดภัยสร้างความอุ่นใจแก่ประชาชนที่ใช้ทางเดินริมคลอง

ปรับ ‘ถนนสวย’ ปลูกต้นพิกุลคู่ถนนพัฒนาการตัดใหม่

สำหรับการปรับปรุงภูมิทัศน์ถนนสวย เขตฯ ได้คัดเลือกถนนพัฒนาการตัดใหม่ (ปลูกต้นไม้ 1 ถนน 1 เขต) ตั้งแต่แยกถนนอ่อนนุช (ทางต่างระดับถนนพัฒนาการข้ามถนนอ่อนนุช) ถึงแยกถนนเฉลิมพระเกียรติ ร.9 (สามแยกวัดแก้ว) ระยะทาง 2.8 กิโลเมตร ช่องทางการเดินรถ 6 ช่องจราจร ฝั่งละ 3 ช่องจราจร มีเกาะกลาง ทางเท้ากว้าง 4-7 เมตร ต้นไม้ที่ปลูกแล้ว ได้แก่ ต้นพิกุล ปลูกบนเกาะกลาง และบนทางเท้าทั้ง 2 ฝั่ง รวมประมาณ 1,200 ต้น เขตฯ จะปรับปรุงภูมิทัศน์เกาะกลางถนน โดยการปรับปรุงดิน ปูหญ้า และปรับเปลี่ยนต้นไม้ที่ไม่ใช่ต้นพิกุลออก รวมถึงต้นที่แคระแกนไม่เติบโต จากนั้นจะปลูกต้นพิกุลทดแทน รวมถึงปลูกต้นพิกุลเพิ่มเติมเสริมช่องว่างที่ห่าง 15 เมตร ช่องละ 2 ต้น บนทางเท้าทั้ง 2 ฝั่งอีกด้วย

ปรับปรุงสวนพัฒนาภิรมย์ เพิ่มสวน Dog Park

จากนั้นเดินสำรวจพื้นที่จัดทำสวน 15 นาที สวนพัฒนาภิรมย์ บริเวณใต้สะพานต่างระดับข้างถนนอ่อนนุชเชื่อมถนนพัฒนาการเก่ากับถนนพัฒนาการตัดใหม่ ซึ่งสวนดังกล่าวจัดทำโดยสำนักการโยธา ต่อมามอบให้เขตฯ ดูแลในส่วนของพื้นที่สีเขียว ส่วนที่เป็นทรัพย์สิน ยังไม่ได้ส่งมอบ โดยเขตฯ มีแนวคิดในการปรับปรุงสวนเดิมเป็นสวน 15 นาที มีลานกีฬาสำหรับเยาวชน และพัฒนาต่อยอดสวนใหม่ ปลูกต้นไม้เสริมให้ร่มรื่น รวมถึงจัดแบ่งทำเป็นสวน Dog Park ออกแบบทำฐานติดตั้งอุปกรณ์ออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุ และสำหรับเด็กเล่น (สนามเด็กเล่น) อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่อยู่แนวถนนพัฒนาการตัดใหม่ ถนนพัฒนาการเก่า ซอยอ่อนนุช 70/1 (หมู่บ้านเสรี) และฝั่งโรงเรียนงามมานะ ได้มีพื้นที่ออกกำลังกายและพักผ่อนหย่อนใจใกล้บ้านในระยะทาง 800 เมตร หรือเดินทาง 15 นาที

ตรวจพื้นที่ทำการค้าปากซอยอ่อนนุช 70 ขอ แยกขยะก่อนทิ้ง

จุดสุดท้ายตรวจความเรียบร้อยพื้นที่ทำการค้า บริเวณที่ว่างปากซอยอ่อนนุช 70 เป็นจุดทำการค้าที่ได้รับอนุมัติใหม่ จำนวน 1 จุด ผู้ค้า 53 ราย ซึ่งเป็นจุดเดิมที่ถูกยกเลิกจุดผ่อนผันไปเมื่อ 30 ก.ย.2559 ตามประกาศกรุงเทพมหานคร ลงวันที่ 18 กันยายน 2563 และประกาศสำนักงานเขตประเวศ ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2564 จากการลงพื้นที่พบว่า ผู้ค้าให้ความร่วมมือในการรักษาความสะอาดพื้นที่เป็นอย่างดี ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ลักษณะแผงค้าเป็นระเบียบเรียบร้อย มีรูปแบบเดียวกันทั้งหมด อย่างไรก็ตามพื้นที่ทำการค้าดังกล่าวยังขาดในเรื่องของไฟฟ้าและประปา กลุ่มผู้ค้าจึงขอความอนุเคราะห์มายังกรุงเทพมหานคร ให้ช่วยประสานในการติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าและมิเตอร์น้ำชั่วคราว เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ค้าในการดูแลรักษาความสะอาดพื้นที่ทำการค้าดังกล่าว นอกจากนี้รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ สร้างความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ค้าในเรื่องการคัดแยกขยะแต่ละประเภท พร้อมทั้งขอความร่วมมือผู้ค้าให้ช่วยกันคัดแยกขยะจากสินค้าที่นำมาจำหน่าย ก่อนนำไปทิ้งยังจุดคัดแยกขยะที่กำหนดไว้

ในการลงพื้นที่วันนี้มี นายวรเศรษฐ์ วิศาลศักดิ์ ผู้อำนวยการเขตประเวศ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตประเวศ สำนักสิ่งแวดล้อม ชาวชุมชนอ่อนนุช 40 ไร่ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image