กรมสุขภาพจิตเผยอุบลฯ-ศรีสะเกษ รับมือน้ำท่วมได้ดี เครียดรุนแรง 2% ห่วง! จว.ภาคกลาง

กรมสุขภาพจิตเผยอุบลฯ-ศรีสะเกษ รับมือน้ำท่วมได้ดี เครียดรุนแรง 2% ห่วง! จว.ภาคกลาง

วันที่ 3 ตุลาคม 2565 พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการประเมินและดูแลสภาพจิตใจผู้ประสบอุทกภัยว่า จากการติดตามประเมินผล และดูแลสภาพจิตใจของประชาชนพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมพบว่า บางพื้นที่ เช่น อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ฯลฯ ประชาชนค่อนข้างมีความยืดหยุ่นทางใจ มีพลังความเข้มแข็งทางจิตใจสูง หลังคัดกรองพบว่า มีความเครียดรุนแรงที่ต้องดูแลประมาณร้อยละ 2 เป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับประชาชนทั่วไปที่มีความเครียดในการดำรงชีวิตปกติอยู่แล้ว

“แน่นอนว่าความเครียดเล็กน้อย เป็นภาวะที่เจ้าตัวสามารถจัดการได้ ต้องการความช่วยเหลือน้อย ชุมชนดูแลกันเองได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องชื่นชมที่มีความเข้มแข็งมาก จากการวิเคราะห์พลังจิตใจที่มีสูง สามารถตั้งหลักสู้กับวิกฤตได้ว่าเพราะอะไร เราพบว่าความใส่ใจระหว่างกัน เราเห็นความใส่ใจระหว่างกันของเครือญาติ ของชุมชน ซึ่งทำให้พวกเขาเข้าสู่ภาวะของความปลอดภัยเร็ว ก็จะมีความสงบทางจิตใจเร็ว มีความหวังในการกอบกู้วิกฤตร่วมกัน” พญ.อัมพรกล่าว

อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ล่าสุด มีข้อมูลทางพื้นที่ภาคกลางที่กำลังระส่ำระสาย กรมสุขภาพจิตจึงเร่งลงพื้นที่ เมื่อช่วงวันเสาร์ อาทิตย์ที่ผ่านมา ลงพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา และรอบๆ ภาคกลาง

“ส่วนกรณีที่มีหลายคนคาดการณ์ว่า สถานการณ์จะรุนแรงกว่าที่เคยเผชิญนั้น การคาดการณ์ก็เป็นสิ่งที่ดีที่จะทำให้เราสามารถเตรียมตัวรับมือ การเตรียมตัวจะช่วยลดความเสียหาย ช่วยลดความเครียดได้ แต่ไม่ใช่คาดการณ์แล้วคิดว่าทุกอย่างจะเลวร้ายไปหมด ซึ่งที่ผ่านมา ช่วงน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 เราก็สามารถผ่านไปได้ ดังนั้น ตอนนี้เราก็จะผ่านไปได้เช่นกัน สำหรับผู้สูงอายุที่ห่วงบ้าน ห่วงข้าวของภายในบ้านนั้น ต้องเข้าใจกลไกของผู้สูงอายุที่อยู่บ้านหลังนั้นมาทั้งชีวิต มีความผูกพัน รู้สึกสำคัญเท่ากับชีวิตของท่าน ทำให้พบว่าหลายคนไม่ยอมทิ้งไปไหน ก็ขอให้ลูกหลานอย่าบังคับ หรือหักหาญด้วยความโกรธเคืองว่าต้องออกจากบ้าน ก็ขอให้มีสติในการสื่อสารด้วยคำพูดให้กำลังใจ ให้ความมั่นใจว่าบ้านจะอยู่ตรงนี้ จะมีเจ้าหน้าที่ดูแล และถ่ายภาพให้เห็นเป็นระยะ เพื่อให้ผู้สูงอายุรู้ว่าไม่ได้ทิ้งบ้านขาดไปไหน แต่ยังมีการติดตามได้เป็นระยะ ก็จะช่วยให้ผู้สูงอายุรับฟังและปรับตัวได้ รู้ว่าต้องไปอยู่ในที่ที่ปลอดภัยเพื่อกลับเข้ามาดูแลบ้านได้อีกครั้งหลังน้ำลด รวมถึงการสื่อสารถึงข้าวของเครื่องใช้ที่เสียหายก็เช่นกัน เพราะบางอย่างเป็นสิ่งที่มีคุณค่าทางจิตใจของผู้สูงอายุ การสื่อสารอย่าไปเน้นให้ผู้สูงอายุทำใจ ตัดใจ แต่ให้รับฟังความรู้สึกของท่านให้มาก กอดท่าน อย่าปฏิเสธการรับฟังเมื่อผู้สูงอายุแสดงความหม่นหมอง” พญ.อัมพรกล่าว

Advertisement

ทั้งนี้ พญ.อัมพรกล่าวว่า หลายครั้งที่เราก้าวข้ามการรับฟังความรู้สึกของคนรอบข้าง ผู้สูงอายุ ไปสู่การบอกให้ตัดอกตัดใจ ทำให้กลายเป็นว่ากระบวนการสื่อสารไม่เข้าอกเข้าใจกัน ทำให้ผู้สูงอายุยังเก็บความทุกข์เอาไว้ ลูกหลานสั่ง แนะนำว่าให้หยุดพูด แต่ให้ทำเช่นนั้น เช่นนี้ ก็จะกลายเป็นความเก็บกดทางอารมณ์ ขณะที่ลูกหลานอาจจะไม่เข้าใจผู้สูงอายุ ก็กลายเป็นความเกรี้ยวกราด โกรธ ทำให้สัมพันธภาพในครอบครัวเสีย เพิ่มเติมจากข้าวของที่เสียหายไปอีก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้อมูลของกรมสุขภาพจิต สรุปผลการช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบวิกฤตจากอุทกภัยโนรู ในเขตสุขภาพที่ 10 สรุปเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2565 รายงานว่า จ.อุบลราชธานี ได้รับการดูแลจิตใจ 302 คน ในจำนวนนี้มีผู้ป่วยจิตเวชอยู่ในเกณฑ์ได้รับการดูแล 14 คน ส่วน 269 คน มีภาวะเครียดน้อย ไม่พบภาวะซึมเศร้า เสี่ยงฆ่าตัวตาย ขณะที่ จ.ศรีสะเกษ ได้รับการดูแลจิตใจ 742 คน ในจำนวนนี้มีผู้ป่วยจิตเวชที่อยู่ในเกณฑ์การดูแล 30 คน ส่วน 537 คน มีภาวะเครียด และเครียดน้อย ไม่พบซึมเศร้า เสี่ยงฆ่าตัวตาย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image