เมนูเด็ด-ดนตรีดัง ซอฟต์เพาเวอร์อุทยานฯ ปลุกเที่ยว-มัดใจทัวริสต์

“ปกปัก รักษา ผืนป่า ของคนไทย ให้ยั่งยืน” คือหัวใจสำคัญของวาระครบรอบ 20 ปี กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2565 มี นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการ ทส.เป็นประธานวันคล้ายวันสถาปนากรมอุทยานฯ จัดขึ้นที่สำนักงานกรมอุทยานฯ

ในงานมีการจัดแสดงนิทรรศการแสดงผลงานของ 11 สำนักของกรมอุทยานฯ อาทิ สำนักอุทยานแห่งชาติ เรื่องระบบการจําหน่ายบัตรค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์ (E-ticket) ในอุทยานแห่งชาติ ที่จะมีการเปิดใช้งานระบบการจำหน่ายบัตรค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์ ในอุทยานแห่งชาติ นำร่อง 6 แห่ง ประกอบด้วย อุทยานฯอ่าวพังงา
อุทยานฯหมู่เกาะสิมิลัน อุทยานฯหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี อุทยานฯเขาใหญ่ อุทยานฯดอยอินทนนท์ และอุทยานฯเอราวัณ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการจัดเก็บเงินรายได้ให้เป็นไปตามระเบียบ/ข้อบังคับ ลดความเสี่ยงของเจ้าหน้าที่ที่จัดเก็บเงินไม่เป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนด ทั้งช่วยลดภาระงานให้กับเจ้าหน้าที่ เป็นต้น

นิทรรศการของสำนักสนองงานพระราชดำริ มาในเรื่อง “รวมพลังชุมชนสร้างป่าพัฒนากาแฟสร้างชีวิต สู่ความยั่งยืนบ้านปางขอน” ต.ห้วยชมภู อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย โครงการตามพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรควบคู่ไปกับการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ให้คนอาศัยอยู่กับป่าอย่างเหมาะสม กลมกลืนและยั่งยืนตลอดไป

สำนักฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่อนุรักษ์ โชว์เรื่อง “การจัดทำเขตบริหารเพื่อการอนุรักษ์เพื่อประกอบท้ายพระราชกฤษฎีกา” โดยขณะนี้ได้สำรวจการครอบครองที่ดินไว้แล้วทั้งสิ้น 227 ป่าอนุรักษ์ 4,265 หมู่บ้าน เนื้อที่ 4,273,726 ล้านไร่ ที่สำคัญมีการสาธิตเทคโนโลยีการรังวัดด้วยเครื่องมือรับสัญญาณดาวเทียมระบบ GNSS ที่สามารถทำการรังวัดด้วยวิธีการแบบจลน์ได้ค่าพิกัดทันทีที่เรียกว่าแบบ RTK (Real Time Kinematic) หรือ Static หรือ Rapid or fast Static (Differential Correction)

Advertisement

สำนักอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำ โชว์เรื่อง “ต้นน้ำสมบูรณ์ เกื้อกูลชุมชน” เป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียว “ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ” สร้างความชุ่มชื้น “ฝ่ายต้นน้ำลำธาร” ป้องกันดินพังทลาย “หญ้าแฝก” และชุมชนได้ประโยชน์ ขณะที่สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช มาในเรื่อง “ร่วมฟื้นฟูป่า ร่วมแบ่งปันคาร์บอนเครดิต พิชิตโลกร้อน” แสดงขั้นตอนการเข้าร่วมโครงการปลูกฟื้นฟูป่าในพื้นที่อนุรักษ์และการประยุกต์ใช้อากาศยานไร้คนขับเพื่อติดตามโครงการและการประเมิน carbon stock

สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า นำเสนอ “แผนยุทธศาสตร์ภายใต้แผนปฏิบัติการแห่งชาติเพื่ออนุรักษ์เสือโคร่ง พ.ศ.2565-2577” ขณะที่กองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา มาในเรื่อง “สัตว์ป่าควบคุม” บัญชีสัตว์ป่าน้องใหม่ที่คนไทยต้องรู้ ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ด้านสำนักป้องกัน ปราบปรามและควบคุมไฟป่า นำเสนอ “ป้องกัน ปราบปรามและควบคุมไฟป่าบนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน” นำเสนอนวัตกรรมที่จะใช้อนุรักษ์ คุ้มครองและบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้และควบคุมไฟป่าอย่างมีประสิทธิภาพ

Advertisement

ศูนย์ควบคุมมาตรฐานการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Smart Patrol) โชว์ “ครบเครื่องเรื่องการอนุรักษ์ SMART PATROL” ลาดตระเวนเชิงคุณภาพ ขณะที่ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร นำเสนอนิทรรศการ DNP DIGITAL TRANSFORMATION-โครงการพัฒนาระบบบัญชีข้อมูล (Data Catalog) กรมอุทยานฯ เพื่อนําไปสู่การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ (Open Data)/โครงการพัฒนาระบบติดตามการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ป่าไม้อัจฉริยะสำหรับ สนับสนุนการตัดสินใจ ของผู้บริหาร (Intelligent Forest Monitoring System : iForMS)/โครงการการจัดทำระบบการให้บริการข้อมูลภาพถ่ายทางอากาศจากอากาศยานไร้คนขับในพื้นที่ป่าอนุรักษ์
กองการต่างประเทศ นำเสนอภารกิจบทบาทหน้าที่ผลงานสำคัญและแผนงานสำคัญที่จะดำเนินการในปี พ.ศ.2566 และศูนย์ราชการสะดวก นำเสนอช่องทาง ขั้นตอนและสถิติการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องร้องทุกข์ของศูนย์ราชการสะดวก

และที่สำคัญไฮไลต์ของงานคือ การโชว์กิจกรรม Soft Power ด้านอาหารและวัฒนธรรมของสำนักอุทยานแห่งชาติ ที่สนับสนุนนโยบายสำคัญของรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ คือ เมนูเด็ดอุทยานแห่งชาติ

รัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ กล่าวว่า Soft Power อาหาร จะเป็นเรื่องโดดเด่นที่จะทำให้นักท่องเที่ยว จดจำ ประทับใจ และกลับมาเที่ยวใหม่อีกครั้ง ซึ่งแต่ละอุทยานฯจะมีความหลากหลาย แปลกแตกต่างกันไป บวกกับฝีมือของแม่ครัวประจำอุทยานฯในแต่พื้นที่ ที่ขึ้นชื่อว่า ไม่เป็นรองใคร จะเป็นเอกลักษณ์ และดึงดูดนักท่องเที่ยว ให้เข้ามาเที่ยวในอุทยานแห่งชาติได้มากยิ่งขึ้น

อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯกล่าวว่า โดยเบื้องต้นคัดเลือกมา 4 เมนูเด็ด เมนูแรกจากอุทยานฯออบขาน จ.เชียงใหม่ ได้แก่ แกงเผ็ดอะโวคาโด ซึ่งอะโวคาโดเป็นพืชที่ชุมชนรอบพื้นที่ปลูกกันมาก เนื้อสัมผัสนุ่มหนืดกับรสชาติเฉพาะตัวของอะโวคาโด ทำให้แกงเผ็ดไม่ว่าจะเป็นหมู ไก่ หรือเนื้อ มีความเข้มข้นและนุ่มลิ้นขึ้น กลิ่นหอมอ่อนๆ ของโหระพาและใบมะกรูด คงเอกลักษณ์ความเป็นอาหารไทย จะทานคู่กับข้าวสวยร้อนๆ หรือขนมจีนก็อร่อยไม่แพ้กัน เมนูที่สองจากอุทยานฯเจ็ดสาวน้อย จ.สระบุรี ได้แก่ สเต๊กเนื้อสันใน ซอสพริกไทยอ่อน เป็นเนื้อสันในวัวที่ได้จากชุมชนใน อ.มวกเหล็ก นำมาหมักกับเครื่องเทศทำให้เกิดความนุ่มไม่แพ้เนื้อวัวนำเข้าจากออสเตรเลีย

สเต๊กเนื้อสันใน ซอสพริกไทยอ่อน

เมนูที่สาม จากอุทยานฯหมู่เกาะอ่างทอง จ.สุราษฎร์ธานี ได้แก่ แกงส้มปูหน่อไม้ดอง ที่ได้จากวัตถุดิบล้ำค่าในท้องถิ่น ปูตัวโตเนื้อแน่นสดๆ จากทะเลอ่าวไทย แกงคู่กับหน่อไม้ดอง และเมนูที่สี่จากอุทยานฯหมู่เกาะระนอง จ.ระนอง ได้แก่ ใบโกงกางทอด น้ำพริกกะปิเกาะเหลา วัตถุดิบจากป่าชายเลนแห่งเมืองระนอง โดยนำใบโกงกางอ่อนใบที่ 2 จากยอดอ่อน ซึ่งมีรสเค็มมันและยังมีสรรพคุณเรื่องช่วยรักษาแผลในกระเพาะ แก้วิงเวียน อาเจียน นำมาท็อปหน้าด้วยกุ้งสับหรือหมูสับชุบแป้งทอดกรอบ ทานคู่กับน้ำพริกกะปิที่ใช้กุ้งเคยจากเกาะเหลาแหล่งผลิตกะปิอร่อยขึ้นชื่อ
ของระนอง

ส่วน Soft Power ด้านวัฒนธรรม Soft Power คือ การประกวดวงดนตรีโฟล์กซองอุทยานแห่งชาติ ซึ่งนิยมใช้เป็นสื่อกลางในการสื่อสารที่เชื่อมโยงกับชุมชนได้ดี โดยมี 14 วงจากอุทยานฯต่างๆ ส่งเข้าประกวดและได้ผ่านการคัดเลือกเหลือ 5 วงสุดท้ายมาชิงชนะเลิศ ปรากฏว่า วงใบตองกุง อุทยานฯภูพาน ได้รางวัลชนะเลิศ วงคาเรน อุทยานฯพุเตย ได้รองชนะเลิศอันดับ 1 วงกัวลาบารา อุทยานฯหมู่เกาะเภตรา รองชนะเลิศอันดับ 2 วง Bigcat อุทยานฯคลองลาน และวงคณะละเมอว่า อุทยานฯภูเวียง ได้รางวัลชมเชย

ส่วนรางวัล POPULAR VOTE ได้แก่ วง Bigcat อุทยานฯคลองลาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image