จิตแพทย์ ชี้ ผวาน้ำท่วม เกิดขึ้นได้ แนะ ตั้งศูนย์อพยพ ต้องให้คนในชุมชนได้อยู่ร่วมกัน

จิตแพทย์ ชี้ ผวาน้ำท่วม เกิดขึ้นได้ แนะ ตั้งศูนย์อพยพ ต้องให้คนในชุมชนได้อยู่ร่วมกัน

เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีประชาชนเกิดความเครียด วิตกกังวลเมื่อฝนตก เพราะห่วงน้ำจะท่วม ว่า แม้ว่าจะเป็นพื้นที่น้ำท่วม หรือยังไม่ท่วม ทุกคนก็ต้องเตรียมรับมือ ซึ่งความตื่นตัวดังกล่าวเป็นปฏิกิริยาธรรมชาติของมนุษย์ที่จะต่อสู้เมื่อมีสิ่งที่เข้ามาคุกคาม น้ำท่วมก็เป็นหนึ่งในสิ่งคุกคามชีวิตของเราทุกบ้าน ทุกครอบครัว เราก็ตื่นตัวสู้กับสภาวะเหล่านี้ แต่ปัญหาคือหากความตื่นตัวมันมากเกินไป จะกลายเป็นความว้าวุ่นใจ ทำให้นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ ก็จะทำให้จากที่เราตั้งรับได้ดี ก็จะตั้งรับได้ไม่ดี ฉะนั้น ในแง่ของสุขภาพจิตคือ เราต้องตื่นตัวแต่ไม่รุนแรงจนกลายเป็นสิ่งบ่อนทำลายสุขภาพจิตของเรา ทั้งนี้ เราจะต้องรู้ตัวว่าตัวเองอยู่ในกลุ่มความเครียดแบบใด แล้วมากเกินไปหรือยัง โดยกรมสุขภาพจิตมีแพลตฟอร์มประเมินความเครียดเบื้องต้นผ่าน Mental health check in ที่จะมีคำแนะนำต่างๆ เพื่อให้เราจัดการกับความเครียดอย่างเหมาะสม

“แม้ว่าความเครียดของเราจะอยู่ในระดับที่โอเค ยังมีความกังวลใจ ก็เป็นเรื่องธรรมดา แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ ความตื่นตัวมากเกินจนทำลายสุขภาพกาย สุขภาพจิต หากประเมินแล้วพบว่ามีความเครียดมาก ก็จะมีคำแนะนำต่างๆ เช่น การฝึกสมาธิคลายเครียด หายใจคลายเครียด เพื่อให้เราจัดการได้ดีขึ้น” นพ.ยงยุทธ กล่าว

นพ.ยงยุทธ กล่าวต่อว่า การเตรียมรับมือกับสถานการณ์ รู้จักวางแผนที่จะแก้ปัญหา ใช้คนในครอบครัวร่วมกันคิดว่าจะจัดการอย่างไร อย่าทะเลาะกัน ก็จะช่วยให้เราเตรียมรับมือได้ดีขึ้น ไม่ทำให้ความเครียดลุกลามกลายเป็นความเครียดมากเกินไป ทั้งนี้หลายคนมีความเครียดแต่ไม่รู้ตัวหรือไม่ยอมรับ จึงต้องอาศัยครอบครัวในการช่วยกันดูแลป้องกันและแก้ปัญหา และอย่าคิดไปว่าตอนนี้มีแค่เรา เพราะยังมีหน่วยงานที่คอยช่วยเหลือสนับสนุน เช่น รัฐบาลหรือองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ทำงานที่ทำงานร่วมกันช่วยเหลือประชาชนให้ใช้ทรัพยากรของชุมชนให้ดีขึ้นให้สถานการณ์ดีขึ้น เฉพาะครอบครัวเดียวหาทางออกด้วยตัวเองคงไม่ได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากชุมชน

“ถ้ากรณีน้ำท่วมมาก แล้วต้องไปอยู่ศูนย์อพยพก็ต้องไป หลายคนไม่ยอมไป เพราะไม่อยากทิ้งบ้าน ฉะนั้นหลักการของศูนย์อพยพจะต้องให้คนในชุมชนเดียวกันได้อยู่ร่วมกัน และได้ช่วยกันดูแลกัน เช่น ดูแลผู้สูงอายุ เด็ก อาหารการกิน สุขอนามัย ไม่ใช่รอให้คนนอกเข้ามาช่วยเหลือ เพราะการช่วยเหลือกันจะเกิดความเข้มแข็งภายใน คุณภาพการเผชิญหน้ากับความเครียดจะดีขึ้น เพราะหากเรารอรับความช่วยเหลืออย่างเดียว ก็อาจไม่พอใจกับความช่วยเหลือนั้น ยิ่งทำให้เกิดความโกรธ ความเครียดไปกันใหญ่ แต่ถ้าเรามีส่วนร่วมในการจัดการปัญหา ทุกคนจะรู้สึกเป็นเจ้าของปัญหา ร่วมกันแก้ไข ทำให้ความเครียดก็จะลดลงได้” นพ.ยงยุทธ กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image