สปสช.-สภาเภสัชฯ-กทม.ดันร้านยาชุมชน คัดกรอง 13 โรค ตามอาการทุก 3 วัน

สปสช.-สภาเภสัชฯ-กทม.ดันร้านยาชุมชน คัดกรอง 13 โรค ตามอาการทุก 3 วัน บัตรทองรับยาได้เลย

วันนี้ (4 ตุลาคม 2565) นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย ผศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ภก.กิตติ พิทักษ์นิตินันท์ นายกสภาเภสัชกรรม ภก.ปรีชา พันธุ์ติเวช อุปนายกสภาเภสัชกรรมคนที่ 2 ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. และ ทพ.วิรัตน์ เอื้องพูลสวัสดิ์ ผู้อำนวยการ สปสช.เขต 13 กรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่เยี่ยมชมร้านยาฟาร์มาสโตร์ รัชโยธิน ที่ซอยพหลโยธิน 35 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นหนึ่งในร้านยาคุณภาพรูปแบบใหม่ ที่ร่วมให้บริการสุขภาพเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิ พื้นที่กรุงเทพฯ

ทั้งนี้ โครงการร้านยารูปแบบใหม่ Common illness เป็นร้านยาคุณภาพที่ใกล้ชิดกับประชาชน โดยร้านดังกล่าวเป็นหนึ่งในร้านที่สมัครเข้าร่วมหน่วยบริการปฐมภูมิในเครือข่าย สปสช. ที่เภสัชกรจะสามารถให้คำแนะนำกับประชาชนที่มีอาการ หรือเจ็บป่วยเบื้องต้น หรือส่งต่อไปยังแพทย์เชี่ยวชาญในเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิ ตามสิทธิ์ของผู้ป่วยบัตรทองได้ด้วย

นพ.จเด็จ กล่าวว่า ร้านยารูปแบบใหม่ Common illness จะมีสัญลักษณ์ “ร้านยาชุมชนอบอุ่น” หรือ “ร้านยาให้บริการดูแลอาการเจ็บป่วยเบื้องต้น” ติดป้ายเอาไว้ที่หน้าร้านยา ซึ่งจะมีบริการมากกว่าร้านยาทั่วไป โดยมีทั้งการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ให้คำปรึกษาด้านการใช้ยาและเวชภัณฑ์ พร้อมทั้งติดตามดูแลอาการโรคเบื้องต้น (Common illness) สำหรับประชาชนทุกสิทธิการรักษา

Advertisement

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง จะได้รับบริการยา และเวชภัณฑ์สำหรับผู้ป่วยโรคเรื้อรัง โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ขณะเดียวกัน ร้านยาชุมชนอบอุ่น จะมีเภสัชกรบริการแจกยาคุมกำเนิด และถุงยางอนามัย พร้อมทั้งให้คำแนะนำเพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อีกด้วย

เลขาธิการ สปสช. กล่าวอีกว่า ในปีงบประมาณ 2566 สปสช.ยังเพิ่มบริการในร้านยาอบอุ่นและเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิให้มากขึ้น รวมถึงแจกยาคุมฉุกเฉิน เพิ่มบริการตรวจดูการตั้งครรภ์ผ่านแผ่นตรวจปัสสาวะ บริการยาเม็ดเสริมธาตุเหล็กและกรดโฟลิก รวมถึงบริการคัดกรองปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

Advertisement

“เราพบว่า พฤติกรรมของประชาชน ส่วนใหญ่หากไม่ป่วยมาก จะเลือกไปร้านยามากกว่าโรงพยาบาล ร้านยาจึงมีความสำคัญในฐานะด่านแรกในการบริการผู้ป่วย โดยปัจจุบันมีร้านยาเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการปฐภูมิแล้วมากกว่า 200 แห่งทั่วกรุงเทพฯ ซึ่งร้านยามีความใกล้ชิดกับประชาชน กระจายไปยังชุมชนต่างๆ สปสช.จึงพยายามสร้างเครือข่ายร้านยาชุมชนอบอุ่นให้มีบริการสุขภาพที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่สะดวก และไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาล” นพ.จเด็จ กล่าว

ผศ.ทวิดา กล่าวว่า ปัจจุบัน กทม.มีศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง ศูนย์บริการสาธารณสุขสาขาอีก 73 แห่ง เมื่อรวมกับคลินิกชุมชนอบอุ่น ตลอดจนหน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะทาง เช่น ร้านยา คลินิกทันตกรรม คลินิกเวชกรรม จะทำให้มีหน่วยบริการปฐมภูมิรวมแล้ว 700 แห่ง

“คิดว่าสามารถดูแลคนกรุงเทพฯ ได้ สำหรับร้านยาที่สนใจเข้าร่วมเป็นเครือข่ายดูแลประชาชนในกรุงเทพฯ สามารถสมัครเข้าร่วมกับ สปสช.ได้ตลอดเวลา โดยที่ผ่านมา กทม.และ สปสช.ได้ทำงานร่วมกันตลอด เพื่อหาช่องทางขยายหน่วยบริการปฐมภูมิในรูปแบบต่างๆ ให้มากขึ้น ซึ่งในอนาคตจะมีการจัดหน่วยบริการปฐมภูมิเข้าไปในพื้นที่ที่ไม่มีหน่วยบริการตั้งอยู่ หรือมีตู้บริการพบแพทย์ผ่านระบบเทเลเมดิซีน (Telemedicine) หรือการแพทย์ทางไกลมากขึ้นด้วย” ผศ.ทวิดา กล่าว

ขณะที่ ภญ.ปาริชาติ ธัมมรติ เภสัชกรประจำร้านยาฟาร์มาสโตร์ รัชโยธิน กล่าวว่า การบริการร้านยาคุณภาพรูปแบบใหม่ Common illness หรือโรคเบื้องต้น จะบริการตรวจอาการและให้คำแนะนำโรคเบื้องต้นพื้นฐาน 13 กลุ่มโรคกับผู้ป่วยที่มาร้านยา ซึ่งเป็นโรคที่คนไข้หรือผู้ป่วยมักมาซื้อยาที่ร้านขายยา เช่น ไข้หวัดแบบติดเชื้อและไม่ติดเชื้อ โรคท้องเสีย โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อาการผื่นตามผิวหนัง เป็นต้น

“สำหรับขั้นตอนการให้บริการจะมี 2 รูปแบบ คือ 1.คนไข้ติดต่อไปยัง สปสช. จะมีเจ้าหน้าที่แนะนำให้รับบริการที่ร้านยาคุณภาพใกล้บ้าน 2.หากผู้ป่วยมาที่ร้านยาเอง เภสัชกรจะคัดกรองสิทธิคนไข้ว่าได้รับบริการตามสิทธิบัตรทองหรือไม่ หากมีสิทธิก็รับยาตามอาการพร้อมคำแนะนำได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย หรือแนะนำให้พบแพทย์ ในกรณีที่พบว่ามีอาการที่ต้องได้รับการรักษาจากแพทย์” ภญ.ปาริชาติ กล่าวและว่า เภสัชกรจะติดตามอาการของผู้ป่วยในวันที่ 3 ของการรักษา หรือที่ได้จ่ายยาให้กับผู้ป่วยทุกราย และร้านยาคุณภาพจะการจ่ายยาโดยพิจารณาจากอาการ ซึ่งเป็นการใช้ยาสมเหตุผล อีกทั้ง สปสช.ยังได้สนับสนุนเรื่องค่าใช้จ่าย ก็เชื่อว่าจะทำให้ประชาชนที่ใช้ยาในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอยู่แล้ว เข้าถึงบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image