‘ชัชชาติ’ รับ เมื่อวานหนักจริง จ่อคุยกรมชลฯ แบ่งน้ำเขื่อนป่าสัก มาเจ้าพระยา ห่วงลาดกระบังท่วมซ้ำเติม

‘ชัชชาติ’ รับ เมื่อวานหนักจริง จ่อคุยกรมชลฯ แบ่งน้ำเขื่อนป่าสักมา ‘เจ้าพระยา’ ไหลออกอ่าวไทย หวั่นลาดกระบังท่วมซ้ำเติม

เมื่อเวลา 13.15 น. วันที่ 4 ตุลาคม ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำท่วมจากฝนตกหนักในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า วานนี้ (3 ตุลาคม) ฝนตกหนัก โดยเฉพาะที่เขตหลักสี่ ที่มีปริมาณน้ำฝนสูงกว่า 170 มิลลิเมตร (มม.) ที่เขตบางนา มีปริมาณน้ำฝนสูงกว่า 120 มม. โชคดีที่พร่องน้ำไว้เยอะ ทำให้ระบายน้ำได้ดีเป็นที่น่าพอใจ

โดยคลองเปรมประชากร ระดับน้ำสูง 1.40 เมตร ระบายออกแล้ว 15 เซนติเมตร ส่วนคลองลาดพร้าว ระดับน้ำสูง 1.20 เมตร ซึ่งระดับวิกฤตอยู่ที่ 0.80 เมตร ซึ่งถนนสายหลักน้ำแห้งเกือบหมดแล้ว เหลือแต่พื้นที่ในชุมชนที่ยังน้ำท่วมหนัก เช่น ถนนช่างอากาศอุทิศ, ถนนรามอินทรา ตามซอยฝั่งเลขคี่, ชุมชนการเคหะท่าทราย หลัง ม.ธุรกิจบัณฑิตย์, วงเวียนบางเขน

“ช่วงแรกน้ำจะลงช้าหน่อย เพราะมีการนำน้ำ Side Flow มาด้วย แต่พอลดไปถึงระดับนึงน้ำจะลดลงเร็วขึ้น จะเห็นได้ว่าที่น้ำท่วม 10-20 เซนติเมตร ใช้เวลาเป็นวัน แต่ก็มีผลกระทบกับประชากรบางกลุ่ม เช่น การระบายน้ำคลองเปรมประชากร ปกติจะดูดออกทางขวาไปทางคลองบางเขน เพื่อออกทางวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร เขตดุสิต เมื่อเช้าประชาชนในคลองบ่นว่าน้ำท่วมบ้านกันแล้ว ให้ชะลอหน่อย ต้องบริหารจัดการที่ดูแลซึ่งกันและกันด้วย” นายชัชชาติกล่าว

นายชัชชาติกล่าวอีกว่า ตอนนี้ประมาทไม่ได้ เพราะร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่านพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างไรก็ตาม มีความกดอากาศสูง หรือมวลอากาศเย็นเข้ามาปะทะ จะทำให้ร่องความกดอากาศต่ำดันลงไปด้านล่าง ซึ่งวันนี้ลมไม่ได้ปะทะในพื้นที่กรุงเทพฯ แม้ว่าจะมีฝนตกแต่ก็ไม่ทำให้ฝนตกแช่นาน ส่วนสถานการณ์น้ำเหนือดีขึ้นเล็กน้อย เพราะช่วงนี้มีน้ำตาย เพราะน้ำทะเลหนุนแค่ช่วงเย็น ทำให้สามารถสูบน้ำออกจากคลองได้ในช่วงกลางวัน

Advertisement

“เมื่อวานนี้ท่วมหนักจริง และก็ยากที่รับมือฝน 170 มม. ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย ต้องขอบคุณเจ้าหน้าที่ที่มีการทำงานอย่างเต็มที่ เมื่อวานก็มีความผิดพลาดที่ถนนแจ้งวัฒนะ เพราะเป็นจุดเชื่อมต่อ 2 จังหวัด ทั้งการดูแลคน การจราจร เราทำได้ไม่ดีพอ รวมถึงยังมีรถเสีย รถตาย หลายท่านไม่ทราบว่าเข้ามาจุดนี้มีน้ำลึก ต้องมีการปรับปรุงประชาสัมพันธ์ และการขนส่งคนให้ดีขึ้น” นายชัชชาติระบุ

นายชัชชาติกล่าวอีกว่า น้ำท่วมอาจจะเป็นปัญหาหนึ่ง แต่ปัญหาที่ตามมาคือการจราจร เพราะน้ำอาจจะท่วมอยู่จุดเดียว แต่รถติดพันทั้งกรุงเทพฯ ซึ่งจะต้องมีการปรับปรุงเรื่องการซ่อม การเคลื่อนย้ายรถเสีย การให้ข่าวล่วงหน้า ซึ่งได้มีการแจ้งปลัด กทม.ไปแล้ว นอกเหนือจากการบริหารจัดการน้ำ ต้องบริหารจัดการข้อมูลข่าวสารเพื่อแจ้งให้ประชาชนทราบเรื่องการเดินทาง ส่วนเรื่องถนนแจ้งวัฒนะ จะรับข้อคิดเห็นนำไปปรับปรุง เรื่องการบริหารจัดการ ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง กทม. จ.นนทบุรี และกรมทางหลวง ร่วมกัน

Advertisement

เมื่อถามว่าทาง กทม.จะมีการรับมือการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์อย่างไร ?

นายชัชชาติกล่าวว่า เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์จะไหลออก 2 ส่วน คือ ด้านตะวันตก ที่แม่น้ำเจ้าพระยา และด้านตะวันออก ที่คลอง 13 ซึ่งต้องการพูดคุยกับทางกรมชลประทาน โดยทาง กทม.อยากให้มีการระบายน้ำออกทางแม่น้ำเจ้าพระยาให้มากที่สุด เพราะมีกำลังรับน้ำได้มากกว่าคลอง 13 ซึ่งถ้าระบายออกทางคลอง 13 มาก พื้นที่เขตลาดกระบังก็จะรับผลกระทบหนักอีก

“จุดที่น้ำระบายออกยากคือ ฝั่งตะวันออก แม่น้ำเจ้าพระยา 3,000 กว่าคิว เราพอรับได้ ถ้าเกิดแบ่งมาทางเจ้าพระยา ไหลออกอ่าวไทยก็จะดีกว่า วันนี้ต้องคุยกับกรมชลประทาน เพราะว่าท่านเป็นคนรับผิดชอบ” นายชัชชาติเผย

นายชัชชาติกล่าวต่อว่า ส่วนน้ำทางเหนือที่ไหลลงมามากกว่า 3,000 ลบ.ม./วินาที ยังไม่วิกฤตมาก แต่ปัญหาหลักคือน้ำขึ้น แต่ช่วงนี้ฐานน้ำขึ้นไม่ได้สูงมาก โดยเมื่อวานนี้มีระดับน้ำสูงกว่าปกติ 20 ซม. ทั้งนี้ กทม.ได้เปลี่ยนรูปแบบการรับมือการวางกระสอบทราย จากที่วางแบบธรรมดา ก็ใช้วิธีนำกล่องตาข่ายเหล็กมาช่วยเสริมความแข็งแรงของการวางกระสอบทราย ให้มีความมั่นคงมากขึ้น เพราะส่วนมากที่กระสอบทรายเสียหาย มาจากเรือขนาดใหญ่ที่แล่นผ่าน

ส่วนน้ำทะเลหนุนสูง จะเกิดขึ้นในวันที่ 7-9 ตุลาคม ต้องดูว่าจะมีการรวมกับน้ำเหนือ น้ำฝนด้วยหรือไม่ ยอมรับว่าคาดการณ์เตือนฝนตกล่วงหน้าลำบาก เพราะฝนก่อตัวในพื้นที่แล้วก็ตกเลย ซึ่งไม่ได้เห็นการคาการณ์ก่อน ส่วนหนึ่งมาจากภาวะโลกร้อนด้วยเช่นกัน

เมื่อถามว่า ได้มีการประสานกับกรมเจ้าท่า เรื่องการเดินเรือหรือไม่ ?

นายชัชชาติระบุว่า สำนักการระบายน้ำ ได้ประสานงานแล้ว แต่ก็ยังมีข้อเสนอเพิ่มเติมที่จะมีการปักธงเพื่อเตือนให้เรือรู้ว่าตรงนี้มีความเปราะบาง เช่น ใต้สะพานกรุงธนบุรี (สะพานซังฮี้) โดยเฉพาะเรือขนาดใหญ่ที่ขนดิน ขนทราย

ส่วนมาตรการ Work from Home ก็ให้แต่ละหน่วยงานทำด้วยตนเอง เพราะไม่รู้ว่าพนักงานมีการเดินทางอย่างไร ซึ่งแต่ละหน่วยงานน่าจะประเมินสถานการณ์ด้วยตัวเองดีกว่า หน้าที่ของ กทม.จะเตรียมการขนส่ง เสริมในจุดที่มีปัญหา

นายชัชชาติกล่าวต่อว่า เรื่องการนัดคุยกับผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี ยังไม่ได้มีการนัดหมายอย่างเป็นทางการ แต่อาจจะมีการพบเจอในการลงพื้นที่ ส่วนการทำงานของเจ้าหน้าที่มีความตื่นตัวทุกคน ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่มีการลงพื้นที่ เตรียมรถขนส่งประชาชนในชุมชนที่มีน้ำท่วมขัง

เมื่อถามว่า มีรายงานข่าวระบุว่ากล้อง CCTV ของ กทม. ไม่ได้อัพเดทภาพสถานการณ์น้ำท่วมแบบเรียลไทม์ ?

นายชัชชาติกล่าวว่า กล้อง CCTV ของ กทม.ไม่ได้มีการอัพเดทเรียลไทม์ทุกจุด ซึ่งจะมีการปรับปรุงให้ครอบคลุมพื้นที่

“แต่ตามหลักแล้วคนหน้างานจะรายงานข้อมูลได้ดีกว่า เพราะบางจุดไม่ได้มีกล้อง CCTV ซึ่งกล้อง CCTV อย่างเดียวก็บอกได้ยาก เพราะไม่ได้มีการระบุความสูงของน้ำท่วมขังด้วย กทม.ต้องเป็นผู้รวบรวมข้อมูลอัพเดทจุดน้ำท่วม ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนวางแผนการเดินทางได้ดีมากขึ้น” นายชัชชาติระบุ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image