ส่องไกด์ไลน์ เรียนออนไซต์ ยุคโควิด ‘โรคประจำถิ่น’

ส่องไกด์ไลน์ เรียนออนไซต์ ยุคโควิด ‘โรคประจำถิ่น’

หลังกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ประกาศยกเลิกโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา-2019 หรือโควิด-19 จากโรคติดต่อร้ายแรง เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดมีแนวโน้มคลี่คลายลง ตามมาด้วยศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) สั่งยกเลิก พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ให้กลับไปใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมานั้น หน่วยงานต่างๆ จึงต้องเร่งปรับมาตรการป้องกันโรค รวมถึงกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ยกเลิกประกาศ 3 ฉบับ คือ ประกาศ ศธ. เรื่อง มาตรการป้องกันและควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ประกาศ ศธ. เพิ่มเติมเรื่องดังกล่าว รวมทั้งยกเลิกประกาศ ศธ. เรื่อง หลักเกณฑ์การเปิดโรงเรียน หรือสถาบันการศึกษา

สอดคล้องกับข้อมูลจาก สธ.พบว่า อัตราผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะจำนวนผู้ติดเชื้อที่มีอาการรุนแรง หรือเสียชีวิต เฉลี่ยผู้เสียชีวิต 5-10 รายต่อวัน สาเหตุการเสียชีวิตส่วนใหญ่ มาจากผู้ติดเชื้อมีโรคประจำตัว หรือไม่ได้รับวัคซีน เป็นต้น และเมื่อดูจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมทุกกลุ่มอายุ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน-30 กันยายน พบจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 อายุ 0-18 ปี มีอัตราลงลดอย่างชัดเจน ส่วนอัตราการเสียชีวิตในกลุ่มอายุ 0-18 ปี ก็ต่ำมาก บางเดือนแทบจะไม่มีผู้เสียชีวิตเลย

ขณะที่วัคซีนโควิด-19 ของนักเรียนนั้น ข้อมูลวันที่ 3 ตุลาคม พบว่า กลุ่มอายุ 12-17 ปี ทั้งหมด 5,333,639 คน ได้รับวัคซีนเข็ม 1 จำนวน 4,723,369 คน คิดเป็น 88.56% วัคซีนเข็มที่ 2 จำนวน 4,386,081 คน คิดเป็น 82.23% วัคซีนเข็ม 3 จำนวน 1,140,580 คน ส่วนอายุ 5-11 ปี ทั้งหมด 5,002,698 คน ได้รับวัคซีนเข็ม 1 จำนวน 3,328,184 คน คิดเป็น 64.6% เข็มที่ 2 จำนวน 2,493,003 คน คิดเป็น 48.4% และเข็ม 3 จำนวน 56,807 คิดเป็น 1.1% ซึ่ง สธ.มองว่ายังมีความจำเป็นที่นักเรียนต้องได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นอยู่
ล่าสุด ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ. เปิดมาตรการดูแลนักเรียน โดยย้ำโรงเรียนยึดหลักความปลอดภัยเป็นสำคัญ แนวทางการป้องกัน แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 1.ให้ประกาศนโยบายมิติสุขภาพ พร้อมกับให้จัดสภาพแวดล้อมของสถานศึกษา ให้สะอาด ปลอดภัย 2.นักเรียนและบุคลากร ต้องปฏิบัติตามสุขอนามัยส่วนบุคคลขั้นพื้นฐานเป็นกิจวัตร คือ ล้างมือ สวมหน้ากากในสถานที่ที่มีคนแออัด ในพื้นที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก หรือมีความเสี่ยง ถ้าเสี่ยงสูง แนะนำตรวจ ATK หรือปรึกษาหน่วยบริหารด้านสาธารณสุขในพื้นที่ และรับวัคซีน และ 3.การเฝ้าระวัง ให้สถานศึกษาตรวจคัดกรองสุขภาพนักเรียนตามมาตรฐานงานอนามัยโรงเรียน พร้อมกับเฝ้าระวังและสังเกตการอาการป่วย ถ้ามีการป่วยเป็นกลุ่มก้อน ให้ประสาน ปรึกษา และส่งต่อสถานพยาบาล และกำกับติดตามและรายงานตามมาตรฐาน ผ่านออนไลน์อนามัยโรงเรียน

“กรณีติดเชื้อโควิด-19 ดังนี้ กรณีไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย จัดการเรียนการสอนที่เหมาะสม โดยไม่ปิดเรียน ปฏิบัติตามหลักการ Universal Prevention เน้นมาตราการ 6-6-7 เข้มการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ เว้นระยะห่าง กรณีที่ผู้ติดเชื้อโควิด-19 มีอาการปานกลางหรือรุนแรง ให้สถานศึกษาปฏิบัติตามแนวทางการดูแลรักษาของ สธ. และติดต่อหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ สำหรับเด็กที่ติดเชื้อแล้ว 5 วัน สามารถกลับมาเรียนได้ตามปกติ เพราะเชื้อลดน้อยลงแล้ว” รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ระบุ

Advertisement

ขณะที่ นพ.วิญญู จันทร์เนตร รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา กล่าวถึงมาตรการรับมือของสถานศึกษา หลังโควิดปรับสู่โรคประจำถิ่นว่า มาตรการ COVID Free Setting ของสถานศึกษาในช่วงที่เปิดเรียนออนไซต์ถือว่ามีความจำเป็นอย่างมาก แม้การระบาดของโรคได้พ้นจากการระบาดใหญ่ เปลี่ยนผ่านมาสู่การเป็นโรคประจำถิ่นแล้ว แต่ยังต้องเฝ้าระวัง เพราะเป็นโรคประจำถิ่นที่ตรวจพบได้ในพื้นที่อยู่แล้ว แต่จะระบาดไม่รุนแรง และหากพบการระบาดเป็นคลัสเตอร์ จะต้องเข้าไปควบคุมจัดการโดยเร็ว เพราะเด็กและเยาวชนถือเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงที่จะต้องกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด

มาตรการ COVID Free Setting อันดับแรกคือคนจะต้องปลอดภัย เมื่อเป็นไข้ ไม่สบาย ต้องหลีกเลี่ยงการไปพบปะสังสรรค์ หรือเข้าไปในที่รวมคนจำนวนมาก รวมทั้ง หมั่นตรวจ ATK รีเช็กตัวเองเป็นประจำ และนำมาตรการป้องกัน D-M-H-T-T มาใช้ ทั้งการ เว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ ตรวจวัดอุณหภูมิ และสแกนแอพพ์ไทยชนะ เมื่อเดินทางไปสถานที่ต่างๆ เพื่อจะได้ทราบความเสี่ยงติดโรคของตนเอง จะต้องเน้นย้ำประชาชนให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันเหล่านี้อย่างสม่ำเสมอ

ส่วนในสถานศึกษา ผู้บริหารมีอำนาจกำหนดมาตรการควบคุมป้องกันเพิ่มเติมได้ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ไม่เฉพาะแค่โควิด-19 เท่านั้นแต่รวมถึงโรคระบาดอื่นๆ ด้วย ผู้บริหารสถานศึกษามีอำนาจสั่งปิดสถานศึกษาหรือปิดชั้นเรียนหากพบการระบาด และแจ้งฝ่ายสาธารณสุขให้เข้าไปช่วยควบคุมโรคได้ด้วย ถือเป็นแนวทางป้องกันโรคที่ต้องถือปฏิบัติตามปกติอยู่แล้ว

Advertisement

“การดำเนินมาตรการเหล่านี้อย่างเคร่งครัด จะช่วยลดความเสี่ยงติดเชื้อ และยังช่วยคลายความกังวลใจให้กับพ่อแม่ผู้ปกครองได้อย่างมาก รวมทั้ง ช่วยป้องกันควบคุมโรคไม่ให้แพร่ระบาดในสถานศึกษาได้อีกด้วย” นพ.วิญญูกล่าว

สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา แสดงความห่วงใยว่า สถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ผ่านมา สร้างความกังวล โดยเฉพาะผู้ปกครองและโรงเรียน ถึงขั้นมีการสั่งให้ปิดการเรียนการสอน ปรับมาเรียนในรูปแบบออนไลน์ ถือเป็นความกังวลเกินกว่าเหตุ เพราะไม่มีความเข้าใจสถานการณ์โควิด-19 มากเพียงพอ ทำให้เกิดปัญหา Learning Loss หรือภาวะการเรียนรู้ถดถอย แม้จะเปิดเรียนออนไซต์ตามปกติแล้ว ยังไม่สามารถแก้ปัญหาคุณภาพการเรียนการสอนให้กลับมาได้ ถือเป็นบทเรียนที่ยิ่งใหญ่

ทั้งนี้ เมื่อมาตรการคลี่คลายลง อาจต้องเผชิญกับบทเรียนที่ 2 หากยังไม่มีความเข้าใจสถานการณ์ที่ถูกต้อง เพราะการเปิดประเทศ ยกเลิก ศบค. ล้วนเป็นเหตุผลทางการเมือง เศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว แต่ในส่วนของนักเรียนยังจำเป็นต้องมีมาตรการดูแล เพียงแต่ไม่จำเป็นต้องเข้มข้นเช่นที่ผ่านมา โดยจะต้องสอนให้เด็กรู้จักโควิด-19 อย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดความเข้าใจ เรียนรู้วิธีการดูแลตัวเองและผู้อื่น

“แม้จะประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังแล้ว แต่มาตรการดูแลเด็กยังคงต้องมี รวมถึงต้องให้ความรู้เด็กในการดูแลตัวเอง เพราะจากข้อมูล สธ.พบว่า เด็กช่วงอายุ 0-5 ขวบได้รับการฉีดวัคซีนค่อนข้างน้อย ขณะที่จำนวนเด็กที่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น หรือเข็ม 3 ยังอยู่ในปริมาณน้อย ส่งผลให้มีภูมิคุ้มกันที่ค่อนข้างต่ำ ดังนั้นเด็กเล็ก จึงถือเป็นกลุ่มเสี่ยง แม้มาตรการต่างๆ จะผ่อนคลายลง ยังคงต้องระวัง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมา” สมพงษ์กล่าว

จากนี้เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องปรับตัว ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับโควิด โดยไม่ประมาท แม้จะกลายเป็นโรคประจำถิ่นแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image