เด็กเล็กติดโควิดพุ่ง กุมารแพทย์แนะผู้ปกครองพาไปฉีดวัคซีนป้องกัน ยันปลอดภัย

เด็กเล็กติดโควิดพุ่ง กุมารแพทย์แนะผู้ปกครองพาไปฉีดวัคซีนป้องกัน ยันปลอดภัย

วันนี้ (6 ตุลาคม 2565) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รศ.พญ.วนัทปรียา พงษ์สามารถ หัวหน้าสาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะตัวแทนราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวระหว่างการประชุมชี้แจงแนวทางการให้บริการวัคซีนโควิด-19 ในเด็กอายุ 6 เดือน ถึง 4 ปี ให้แก่ตัวแทนสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศ ว่า สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในเด็กเล็ก อายุ 6 เดือน แต่ไม่ถึง 5 ปี ขณะนี้พบจำนวนมาก และมีโอกาสติดเชื้อรุนแรง และเสียชีวิตได้ ประมาณร้อยละ 0.05 ดังนั้น เด็กกลุ่มดังกล่าวจำเป็นต้องรับวัคซีนป้องกัน โดยการรับวัคซีนโควิด-19 เด็กกลุ่มนี้ จะเป็นวัคซีนชนิด m-RNA เป็นไฟเซอร์ฝาสีแดงเข้ม ในเด็ก 1 คน จะต้องรับวัคซีน 3 เข็ม แบ่งเป็น เข็มที่ 1 ห่างจากเข็ม 2 ระยะเวลา 1 เดือน, เข็มที่ 2 ห่างจากเข็มที่ 3 ระยะเวลา 3 เดือน

จากข้อมูลการรับวัคซีนในสหรัฐอเมริกา ที่มีการฉีดให้เด็กเล็กไปแล้ว 1.5 ล้านคน ไม่พบรายงานอาการไม่พึ่งประสงค์ รวมถึงภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ จากการรายงานการฉีดวัคซีนโควิด-19 มีความปลอดภัย ไม่แตกต่างกับการรับวัคซีนพื้นฐาน ทั้งคอตีบ ไอกรน ในเด็กเล็ก ส่วนกรณีที่ผู้ปกครองวิตกกังวลว่า เด็กอาจเกิดอาการไม่ระบายตัว หลังรับวัคซีนโควิด-19 ก็ต้องยอมรับว่า มีเหมือนวัคซีนชนิดอื่นทั่วไป โดยเด็กอาจร้องงอแง หรือปวดที่จุดรับวัคซีนบาง แต่ไม่รุนแรง เพียง 1-2 วัน อาการก็กลับมาปกติ ผู้ปกครองไม่ต้องกังวล” รศ.พญ.วนัทปรียา กล่าว

รศ.พญ.วนัทปรียา กล่าวว่า เทียบประโยชน์ของการรับวัคซีนกับการไม่ได้รับวัคซีน จะพบว่า การรับวัคซีนมีประโยชน์มากกว่า เนื่องจาก ช่วยลดความรุนแรง เมื่อมีการติดเชื้อโควิด ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล (รพ.) ไม่ต้องเข้าไอซียู และยังลดทั้งภาวะมิสซี (MIS-C) ที่มักพบเกิดขึ้นในเด็กที่มีการติดเชื้อโควิด-19 แล้วไม่ได้รับวัคซีนถึง 1 ใน 3,000 คน

Advertisement

“ทั้งนี้ ภาวะมิสซีที่พบ มักเกิดขึ้นหลังจากเด็กมีการหายป่วยจากโควิด-19 ไปแล้ว 2-8 สัปดาห์ และการเกิดอาการลองโควิด แม้ในเด็กเล็กจะยังไม่มีรายงานภาวะลองโควิดอย่างชัดเจนเหมือนในผู้ใหญ่ แต่เชื่อว่าช่วยลดการเกิดลองโควิดได้แน่นอน สำหรับอาการลองโควิดที่มักพบในเด็ก คือ บางคนขาดสมาธิ บางคนมีอาการไอเรื้อรังสักระยะหนึ่ง อย่างไรก็ตาม แม้โควิด-19 จะปรับเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวังแล้ว แต่ การติดเชื้อในเด็กทั้ง เล็กและ โต ยังคงมีอยู่ โดยเป็นการตรวจพบจาก ATK ซึ่งหากพบว่า เด็กมีอาการไข้สูง 40-41 องศาเซลเซียส อย่านิ่งนอนใจ ให้รีบไปแพทย์ทันที” รศ.พญ.วนัทปรียา กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image