‘ชัชชาติ’ ยัดกระสอบใส่กรงเหล็ก เพิ่มแข็งแรง ‘ปักธงแดง’ แจ้งเรือระวัง 28 จุดเสี่ยงท่วม – สั่งทุกเขตวางแผน 1 ปี

‘ชัชชาติ’ ยัดกระสอบใส่กรองเหล็ก ช่วยแนวกั้นแข็งแรง ‘ปักธงแดง’ แจ้งเรือระวัง 28 จุดเสี่ยงท่วม – สั่งทุกเขตวางแผน 1 ปี แนะไอเดียลดเผาพื้นที่เกษตร ใช้น้ำหมักจุลินทรีย์ย่อยฟางลดฝุ่น pm 2.5

เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 6 ตุลาคม ที่ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงภายหลังการประชุมหัวหน้าหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 10/2565 ถึงสถานการณ์น้ำ ใน กทม.

นายชัชชาติกล่าวว่า ประเด็นหลักของการประชุมในวันนี้ เป็นเรื่องการทบทวนถอดบทเรียนเรื่องน้ำท่วม โดยพรุ่งนี้ให้ทุกเขตประชุมร่วมกันอีกครั้ง ทบทวนเรื่องน้ำท่วมของปีนี้ เพราะเป็นเรื่องที่ใหม่ที่เกิดขึ้น ให้แต่ละเขตไปดูปัญหาในชุมชนย่อย เอาข้อมูลมาลงแผนที่ เพราะถนนเส้นหลักมีข้อมูลอยู่แล้ว แต่ปัญหาที่เจอเยอะคือชุมชนย่อย ที่เดิมไม่มีข้อมูล ผู้บริหารอยู่ศูนย์บัญชาการไม่เห็นปัญหา หากนำปัญหามาลงแผนที่ และระบุพิกัด GPS จะช่วยแก้ปัญหาได้รวดเร็วขึ้น เป็นการเอาเส้นเลือดใหญ่และเส้นเลือดฝอย มาระบุพิกัดไว้ด้วยกันในแผนที่ โดยให้มีประชาชนเป็นส่วนร่วมในการป้องกันพื้นที่ตนเอง

ทั้งนี้ นายชัชชาติเผยว่า ได้สั่งการให้ทุกเขตเตรียมแผนระยะยาว 1 ปี เพื่อแก้ปัญหาให้ครบถ้วนทุกด้าน พร้อมต้องรายงานความคืบหน้าทุกเดือน ว่าแผนงานป้องกันน้ำท่วมที่ทำไว้ในแต่ละเดือนได้ทำอะไรไปบ้าง มีความคืบหน้าอย่างไร

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงเรื่อง พื้นที่เอกชนที่มีปัญหาน้ำท่วม นายชัชชาติกล่าวว่า ขั้นแรกคือเชิญผู้พัฒนาโครงการที่ตามตัวได้มาพูดคุยก่อน ถ้าไม่ได้คงต้องหาทางที่ว่าสามารถยกให้ กทม.ได้หรือไม่ เพื่อให้ กทม.เข้าไปได้

Advertisement

“ถ้าไม่ได้จริงๆ เราอาจช่วยในกรอบของกฎหมายที่ทำได้ อาศัยกฎระเบียบที่มีอยู่ เช่น เรื่องเครื่องสูบน้ำ เราก็ไปช่วยได้ เรื่องทำถนนทำยากเพราะเป็นงบหลวง แต่เราก็เตรียมกระสอบทรายไว้ เราก็ให้ช่วยเหลือได้ ตอนนี้คงค่อยเป็นค่อยไป แต่จุดเริ่มควรมาจากตัวเองก่อน แต่ผมว่าอย่างน้อยให้รู้ว่าตรงนี้เป็นจุดอ่อน เตรียมไม้เตรียมอะไรเข้าไปก่อน เพราะถ้าเกิดเรารู้ล่วงหน้าก็จะตอบสนองได้ขึ้น เรารู้ว่าข้อมูลนี้ก็ดี พอเอาขึ้นออนไลน์ปุ๊ป ข้อมูลยังคงอยู่ รวมถึงเรื่องการอุดกระสอบทรายในท่อด้วยว่า จะทำอย่างไรให้มีข้อมูล รวมที่ไหน บล็อคแล้วที่ไหน ทำให้บริหารจัดการให้ดีขึ้น” นายชัชชาติกล่าว

นายชัชชาติกล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องจุดเสี่ยงน้ำท่วมใน กทม.มีทั้งหมด 3 ส่วน คือจุดแรก ชุมชนที่อยู่นอกคันกั้นริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมี 16 ชุมชน

“จุดนี้โดนน้ำท่วมแน่นอน เพราะไม่มีการป้องกันอะไรได้เลย ส่วนใหญ่ชาวบ้านนอกคันกั้น อาศัยประสบการณ์ในการปรับตัว ช่วงน้ำขึ้นก็ออกจากบ้าน น้ำลงแล้วก็กลับเข้าบ้าน

Advertisement

“จุดที่ฟันหลอก็ต้องเสริมกระสอบทราย อีกจุดคือจุดที่น้ำซึมเข้ามา ก็ต้องเอาน้ำไปลงท่อแล้วดูดน้ำออก ขณะเดียวกันจุดที่น้ำซึมเข้ามา ส่วนใหญ่เป็นคันกั้นน้ำที่เก่าแล้ว ต้องซ่อมแซมด้วยการตอกชีทไพล์ (Sheet pile) เสริมความแข็งแรงเพิ่มเติม” นายชัชชาติกล่าว

นายชัชชาติกล่าวต่อว่า จากประสบการณ์ปีที่ผ่านมา กระสอบทรายคันกั้นน้ำพัง เพราะเรือสัญจร ปีนี้จึงปรับด้วยการใช้กรงเหล็ก และนำกระสอบทรายใส่ในกรงเหล็กเพื่อให้มีความแข็งแรงมากขึ้น พร้อมปักธงแดง จุดที่มีการตั้งกระสอบทราย จำนวน 28 จุด แสดงสัญลักษณ์ว่าเป็นจุดเสี่ยง เรือที่สัญจรต้องมีความระมัดระวัง ขณะนี้เชื่อว่าสามารถป้องกันน้ำท่วมได้ เพราะระดับน้ำยังไม่สูงกว่าแนวป้องกัน ยังห่างจากแนวป้องกันอีกประมาณ 80 เซนติเมตร

นอกจากนี้ นายชัชชาติยังกล่าวถึงการรณรงค์งดเผาในพื้นที่การเกษตรว่า จะมีการรณรงค์งดเผาในพื้นที่ทำการเกษตร เพื่อแก้ปัญหา PM 2.5 โดยจะมีพื้นที่ 6 จุด ซึ่งปีที่แล้วจะมีการเผาเพื่อการเกษตรประมาณ 5,000 ไร่ ตนได้ส่งคนลงไปคุยในแต่ละเขตแต่ละจุดแล้ว ก็จะมีหลักการคือใช้น้ำหมักจุลินทรีย์ในการช่วยย่อยสลายฟางเพื่อไถกลบ ทำเครื่องอัดฟางเป็นแท่ง เพื่อให้เกษตรกรเอาฟางไปขายต่อได้ และได้เริ่มดำเนินการในเชิงลึกโดยมีเป้าหมายจะลดการเผาชีวมวลในเขตกรุงเทพฯ เพื่อจะได้ลดฝุ่น PM 2.5 ด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image