อนุทิน ตั้งเป้าไทยหลังโควิด เป็นศูนย์กลางสุขภาพโลก
วันนี้ (9 ตุลาคม 2565) ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) บรรยายพิเศษในงานประชุมวิชาการประจำปี 2565 แพทยสภา-ปธพ.ครั้งที่ 9 หัวข้อ “อนาคตระบบสาธารณสุขไทย หลังโควิด-19” โดยมีผู้สำเร็จหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์ สำหรับผู้บริหารระดับสูง รุ่นที่ 9 และ รุ่นที่ 10 สถาบันพระปกเกล้า เข้าร่วมรับฟังกว่า 300 คน
นายอนุทินกล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ทำให้ประเทศไทยและทั่วโลกต้องเผชิญความท้าทายหลายด้าน
มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และอาจสร้างวิกฤตการณ์ทางสาธารณสุขอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ประเทศที่มีระบบสาธารณสุขไม่เข้มแข็งพอจะฟื้นตัวได้ยาก ซึ่งที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับว่ามีความมั่นคงทางสาธารณสุขเป็นอันดับที่ 5 จาก 195 ประเทศทั่วโลก และมีการจัดตั้งสำนักงานเลขาธิการศูนย์อาเซียนด้านการรับมือกับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ (ACPHEED) เป็นการเตรียมพร้อมสำหรับวิกฤตครั้งต่อไปที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
นายอนุทินกล่าวว่า ด้วยความท้าทายต่างๆ ระบบสาธารณสุข จึงต้องพร้อมทั้งคน ของ และยุทธศาสตร์ ด้าน “คน” คือ บุคลากรทุกภาคส่วนที่มีความเชื่อมโยงกับการทำงานของกระทรวงสาธารณสุข ทั้งภายในและภายนอกองค์กร เช่น นโยบาย 3 หมอที่มีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เป็นหมอประจำบ้าน ทำงานร่วมกับหมอสาธารณสุข และหมอเวชปฏิบัติครอบครัว สื่อมวลชน ภาคเอกชน นักวิชาการ นักธุรกิจต่างๆ เป็นการขยายขอบเขตการให้บริการ ช่วยลดความแออัดของโรงพยาบาล ลดอัตราการป่วยหนัก การครองเตียง และงบประมาณ
ด้าน “ของ” คือ การเพิ่มขีดความสามารถของทรัพยากร เช่น สถานที่ที่ใช้สำหรับรักษา, ฐานข้อมูลดิจิทัล
ทางสุขภาพของประชาชนแบบไร้รอยต่อ, เทคโนโลยีเทเลเมดิซีน (Telemedicine) หรือแพทย์ทางไกล ช่วยลดภาระและค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาโรงพยาบาล ซึ่งวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา นำมาสู่โอกาสทางสาธารณสุข มีการพัฒนาระบบสาธารณสุขของชาติ บริหารงบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างการหมุนเวียนที่เป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจด้วย
ด้าน “ยุทธศาสตร์” มองว่าบทบาทของสาธารณสุขเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ภายใต้แนวคิด “Health for Wealth” นำ “ความเข้มแข็งทางสาธารณสุข” มาสร้าง “ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ”
โดยตั้งเป้าอนาคตอันใกล้ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางสุขภาพของโลก ทั้งการรักษา การผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์ Medical Tourism รวมถึงการเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาด้านการแพทย์ด้วย
“หลังโควิด-19 มั่นใจว่า ประเทศไทยจะมีรายได้เข้ามาอีกมาก ด้วยระบบสาธารณสุขของไทยที่ชาวต่างชาติให้ความเชื่อถือ จากการรักษาพยาบาลด้วยอุปกรณ์เครื่องมือการแพทย์ที่ทันสมัย มีมาตรฐานสูง ต้นทุนการใช้จ่ายคุ้มค่า ซึ่งต้องร่วมมือกันพัฒนาระบบสาธารณสุขไทยให้ยั่งยืน เพราะระบบสาธารณสุขที่ดี จะทำให้เป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ชาวต่างชาติจะเข้ามาประเทศไทย” นายอนุทินกล่าว