กรมอนามัย เผยอุทกภัยทำโรคน้ำกัดเท้าระบาดกว่า 3.5 หมื่นคนทั่วไทย
วันที่ 14 ตุลาคม 2565 นายภิญญาพัชญ์ จุลสุข นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ สำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่น้ำท่วมของประเทศไทยว่า ขณะนี้หลายจังหวัดของประเทศไทยประสบปัญหาน้ำท่วม แบ่งเป็น พื้นที่ท่วมรุนแรง โดยมี 2 จังหวัดน่าเป็นห่วง คือ อุบลราชธานี และศรีสะเกษ และพื้นที่ท่วมซ้ำซาก คือ พระนครศรีอยุธยา และอ่างทอง ซึ่งระดับน้ำสูงมานานกว่า 1 เดือน ตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคมเป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม กรมอนามัย ได้เตรียมความพร้อมด้านสุขอนามัย อนามัยสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาลให้สอดรับกับประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยาตั้งแต่ก่อนเดือนสิงหาคม เช่น ถุงดำ ปูนขาว สารส้ม คลอรีนเม็ด คลอรีนผง คลอรีนน้ำ ฯลฯ เพื่อปรับปรุงคุณภาพน้ำ โดยกระจายไปยังศูนย์อนามัยในพื้นที่ที่ประสบน้ำท่วม ให้เจ้าหน้าที่เตรียมความพร้อม สำรวจอุปกรณ์เครื่องใช้ในศูนย์รวมถึงอุปกรณ์ช่วยเหลือยังชีพให้กับประชาชนเพื่อให้พร้อมสนับสนุนในช่วงแรกที่เหตุการณ์เกิดขึ้นเร็วได้
“ขณะที่ ทีมประสานงาน (operation) ของกรมอนามัย ได้ลงพื้นที่ศูนย์อพยพที่มีประมาณ 100 กว่าแห่งทั่วประเทศ เพื่อตรวจประเมินเชิงคุณภาพสุขาภิบาล เช่น ส้วม ว่ามีความสะอาด เพียงพอต่อผู้ที่อยู่ในศูนย์อพยพหรือไม่ ตรวจสอบน้ำอุปโภคและบริโภคที่ได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายต่างๆ จากข้อมูลเบื้องต้นใน จ.อุบลราชธานี ที่มีศูนย์อพยพจำนวนมาก ทีมประสานงานแจ้งว่า ขณะนี้พบปัญหาปริมาณคลอรีนที่ใช้ฆ่าเชื้อโรคในน้ำที่อยู่ในรถน้ำ ยังไม่ได้ตามมาตรฐาน ซึ่งกรมอนามัยได้ประสานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เพื่อนำคลอรีนไปเติมในน้ำให้ได้ตามมาตรฐานแล้ว ขณะที่เรื่องส้วม ปัญหาที่พบคือประชาชนไม่สามารถใช้ส้วมปกติได้ บางส่วนขับถ่ายลงแหล่งน้ำโดยตรง หรือถ่ายลงถุงน้ำมัดปากถุงทิ้งลงน้ำโดยตรง ทางกรมอนามัย จึงประสาน สสจ.เร่งให้ความรู้ประชาชน ให้ถ่ายลงในถุงน้ำ จากนั้นต้องโรยปูนขาวทุกครั้ง ปิดปากถุงแล้วรอหน่วยงานในพื้นที่เข้ามารับขยะไปกำจัดให้ถูกต้อง ลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดโรคในแหล่งน้ำ” นายภิญญาพัชญ์กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามถึงข้อมูลการรายงานผู้เจ็บป่วยจากเหตุการณ์น้ำท่วม นายภิญญาพัชญ์กล่าวว่า ข้อมูลจากเครือข่ายการเฝ้าระวังสาธารณภัย ณ วันที่ 14 ตุลาคม 2565 พบว่า ประชาชนมีปัญหาโรคน้ำกัดเท้าในพื้นที่สะสมตั้งแต่เดือนสิงหาคม มากกว่า 35,000 ราย นอกจากนั้น ก็มีโรคผื่นแพ้ โรคผิวหนัง อาการเจ็บป่วย อุจจาระร่วง อาหารเป็นพิษจากการรับประทานอาหารที่บูดเสีย ทั้งนี้ ทีมประสานงานของกรมอนามัยได้เข้าไปประสานงานร่วมกับระบบบัญชาการในจังหวัด เพื่อสนับสนุนเชิงสุขภาพ ดังนั้น ข้อมูลสุขภาพต่างๆ จะพูดคุยกันว่า หากพบปัญหา ทาง สสจ.ก็จะประสานสถานพยาบาลในพื้นที่เพื่อส่งยา อุปกรณ์ต่างๆ ให้กับประชาชน
“แต่สำคัญคือ การสร้างความรู้ให้ประชาชน 1.การรับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ สังเกตอาหารที่บูดเสีย เพื่อลดปัญหาอุจจาระร่วง 2.ดูแลความเป็นอยู่ ต้องไม่แออัดเกินไป ต้องมีการระบายอาการ และ 3.ให้ความรู้เรื่องพฤติกรรมสุขภาพ ซึ่งจะต้องช่วยกันระหว่างสาธารณสุขในพื้นที่กับประชาชน เพื่อสร้างพฤติกรรมอนามัยที่ถูกต้อง เช่น การล้างมือทุกครั้งเมื่อทานอาหาร ดูแลความสะอาดของส้วม น้ำที่ใช้ต้องสะอาด” นายภิญญาพัชญ์กล่าว