กรมวิทยาศาสตร์ฯ ยันรายงานจีเสด ไทยพบโอมิครอน BQ.1 จริง! แต่เป็นการปรับข้อมูลใหม่
จากกรณีที่ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ โรงพยาบาล (รพ.) รามาธิบดี โพสต์เฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics Center for Medical Genomics ระบุว่า ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐ (CDC) ได้ออกมาเตือนถึงการระบาดของโรคโควิด-19 โอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BQ.1 และ BQ.1.1 ซึ่งเป็นรุ่นหลานของโอมิครอน BA.5 โดยจีเสด (GISAID) มีรายงานพบโอมิครอน BQ.1 ในประเทศไทยแล้ว 1 ราย นั้น
วันนี้ (19 ตุลาคม 2565) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการพบไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ย่อยโอมิครอน BQ.1 ในประเทศไทยรายแรก ว่า ผู้ป่วยรายนี้ เป็นชาวต่างชาติ อายุ 40 ปี เดินทางมาจากประเทศจีน เข้ารักษาในโรงพยาบาล (รพ.) แห่งหนึ่ง ในกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคม 2565 ไม่มีอาการป่วยและหายเป็นปกติแล้ว จากนั้น รพ.ให้ความร่วมมือกับกรมวิทยาศาสตร์ฯ ด้วยการส่งตัวอย่างเชื้อผู้ป่วยที่เดินทางมาจากต่างประเทศมาตรวจหาสายพันธุ์
“จากนั้น เราได้ส่งข้อมูลไปยังจีเสด (GISAID) ตั้งแต่เดือนกันยายน ซึ่งในขณะนั้น ข้อมูลเข้าได้กับสายพันธุ์ BE.1.1 ซึ่งเป็นลูกหลานจาก BA.5.3.1.1.1 โดยขั้นตอนทั้งหมดนี้ ก็จะใช้เวลาระยะหนึ่ง ต่อมา จีเสดเริ่มมีข้อมูลสายพันธุ์จากทั่วโลกมากขึ้น เมื่อวานนี้ (18 ตุลาคม 2565) จีเสดพบว่า ไวรัสดังกล่าวเข้าได้กับ BQ.1 ก็มีการปรับระบุสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของการติดตามข้อมูลไวรัส” นพ.ศุภกิจกล่าว
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ฯกล่าวว่า BQ.1 เป็นหนึ่งในหลายๆ ตัว ที่องค์การอนามัยโลกให้จับตา ซึ่งขณะนี้ ไทยพบ BF.7 / BN.1 / BQ.1 และ XBB ซึ่งเรียงตามการแพร่กระจายจากน้อยไปมาก
“ส่วน BQ.1.1 ยังไม่พบในไทย ฉะนั้น เราต้องเฝ้าระวังต่อเนื่อง เพราะยังคงพบสายพันธุ์ที่เหมือนเป็นแขนงต้นไม้ที่งอกไปเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม มาตรการฤดูหนาว ตามปกติแล้ว คนมักจะเป็นหวัด การแพร่เชื้อจะมากขึ้น แต่หากยังสวมหน้ากาก ล้างมือ เข้มงวดพอสมควร พร้อมกับฉีดวัคซีน ก็น่าจะช่วยให้ประเทศไทยไม่เหมือนต่างประเทศที่พบการระบาด เนื่องจากส่วนใหญ่เลิกสวมหน้ากากกันแล้ว วันนี้ ยังมีข้อมูลยืนยันว่า ยังเป็นตระกูลโอมิครอน ยังไม่มีหลักฐานความรุนแรงเพิ่มขึ้น อาจป่วยมากขึ้นได้ แต่อาการจะน้อย หรือไม่มีอาการ ซึ่งยังไม่มีใครเสียชีวิตจากสายพันธุ์ต่างๆ ที่เจอ” นพ.ศุภกิจกล่าว และว่า กรมวิทยาศาสตร์ฯจะนำเชื้อไวรัสมาเพาะ แล้วไปทดสอบกับภูมิคุ้มกันของวัคซีนที่ฉีดกันอยู่ในขณะนี้ ซึ่งตัวหลักจะเป็น XBB เพราะน่าจะแพร่เร็วพอสมควร
ผู้สื่อข่าวถามถึงสาเหตุที่ทำให้ รพ.เอกชน นำเชื้อของผู้ป่วยสายพันธุ์ BQ.1 มาตรวจหาสายพันธุ์ นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ขณะนี้ สธ.ได้ขอให้ รพ.ขนาดใหญ่ รวมถึง รพ.เอกชน ส่งตัวอย่างเชื้อจากผู้ป่วยโควิด-19 มาตรวจสายพันธุ์ ซึ่งไม่มีค่าใช้จ่าย เช่น ผู้ป่วยที่ฉีดวัคซีนเข็มล่าสุดใน 3 เดือน แล้วป่วยอาการรุนแรง ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศที่พบการระบาด ผู้ป่วยที่ชายแดน ซึ่งยังมีการตรวจหาสายพันธุ์สัปดาห์ละ 300 ตัวอย่าง และทำอย่างสม่ำเสมอ