อว. ถ่ายทอดเทคโนโลยีผู้เลี้ยงโคเนื้อ ชูเนื้อไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก

อว. ถ่ายทอดเทคโนโลยีผู้เลี้ยงโคเนื้อ ชูเนื้อไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก

 

อว.เพื่อประชาชน อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคเพื่อประชาชน “ ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์” เลขานุการ รมว.อว. นำทีมลงพื้นที่วิสาหกิจชุมชนเลี้ยงโคเนื้อลำตะคอง อว.ปลื้ม ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อ เพิ่มรายได้ เกือบ 2 พันบาท/ตัว/เดือน พร้อมผลิตสูตรอาหารแปรรูปผลิตภัณฑ์ พัฒนาแพคเก็จจิ้งเพิ่มมูลค่าสินค้า ชูเนื้อไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก

เมื่อวันที่ 20 ต.ค. ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ เลขานุการ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) และโฆษก อว.พร้อมพล.อ.ต.ดร.ณัฐพัชร์ เรืองมณีญาต์ คณะทำงาน รมว.อว. นางวนิดา บุญนาคค้า ผอ.กองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กปว.) น.ส.ทิพวัลย์ เวชชการัณย์ ผอ.กลุ่มอุทยานวิทยาศาสตร์ กปว. และ ผศ.ดร.ปภากร พิทยชวาล ผอ.อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ลงพื้นที่วิสาหกิจชุมชนเลี้ยงโคเนื้อลำตะคอง อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ( NVK ฟาร์ม ) ต.หนองหญ้าขาว อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคฯ เข้ามาสนับสนุนผ่าน “โครงการพัฒนาศักยภาพการผลิตอาหารสัตว์สำหรับโคเนื้อคุณภาพสูง” ภายใต้กิจกรรมการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน (Tech transfer to Community) แผนงานการส่งเสริมการนำนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่เพื่อพัฒนาสังคมและชุมชน (Area-based Innovation for Community) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564

Advertisement

โดยได้ถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรม “การปรับปรุงคุณภาพวัตถุดิบอาหารสัตว์ และปฏิบัติการทำอาหารสัตว์แบบผสมเสร็จ TMR (Total Mixed Ration) ” มีการออกแบบสูตรอาหารแบบผสมเสร็จ (TMR) สำหรับการขุนโคเนื้อ มีนายอรรควัฒน์ วิริยะขจรเกียรติ และ น.ส.ธนกร บุญยฤทธิ์ ประทานวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงโคเนื้อลำตะคอง นำเยี่ยมชม

โดยนายอรรควัฒน์ กล่าวว่า วิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงโคเนื้อลำตะคอง ได้รับการสนับสนุนจากอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคฯ ที่นำองค์ความรู้และเทคโนโลยีทางการเกษตรใหม่ๆ มาช่วยเกษตรกร “ด้วยความคิดที่อยากให้คนไทยได้บริโภคเนื้อวัวที่ดีและมีคุณภาพในราคาย่อมเยา” จึงได้นำโคขุนสายพันธุ์ “แองกัส” ที่ได้รับการสนับสนุนน้ำเชื้อพ่อพันธ์ชั้นดีจากปศุสัตว์ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่เป็นที่ยอมรับในหลายๆประเทศให้เป็น “best on the table” ซึ่งมีลักษณะเนื้อเหนียวนุ่มมีกลินที่เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งต่อมามีการนำเข้าน้ำเชื้อโคขุนสายพันธุ์ ”วากิว” ทดลองเลี้ยงและพัฒนาสายพันธุ์ให้เหมาะกับสภาพแวดล้อมในชุมชนซึ่งปัจจุบันทางกลุ่มได้มุ่งเน้นไปที่การเลี้ยงโคขุนสายพันธุ์ลูกผสม “แองกัส” และ “วากิว” และพัฒนาสายพันธุ์อย่างต่อเนื่องเพื่อให้ได้เนื้อโคขุนที่มีคุณภาพดีและเป็นที่ยอมรับจากผู้บริโภคทั่วไปในอนาคต ปัจจุบันมีสมาชิกในกลุ่มรวม 250 คน

Advertisement

ดร.ดนุช เปิดเผยหลังการเยี่ยมชมว่า อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคฯ ได้ลงพื้นที่เพื่อสำรวจและเก็บตัวอย่างวัตถุดิบอาหารที่พบในท้องถิ่นที่มีศักยภาพในการใช้เลี้ยงสัตว์ เพื่อนำมาวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการและเป็นฐานข้อมูลสำหรับเกษตรกร และมีถ่ายทอดเทคโนโลยีการทำสูตรอาหาร TMR สำหรับการขุนโคเนื้อแต่ละระยะการขุน นอกจากนั้น ยังมีกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตร “การแปรรูปเนื้อโคขุนเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร”และ packeting ของผลิตภัณฑ์แปรรูป เนื้อเสียบไม้

เลขานุการ รมว.อว.กล่าวต่อว่า ปรากฎว่าผลกระทบหลังจากที่อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง จ.นครราชสีมาได้เข้าไปดำเนินการทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 1,575 บาท/ตัว/เดือน เกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อสามารถลดต้นทุนค่าอาหารได้ 2,219 บาท/ตัว ลดลงร้อยละ 26 ทั้งยังส่งผลกระทบทางด้านสังคม มีระบบความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยกันมากขึ้นเกิดการรวมกลุ่ม เกิดการต่อรองในการซื้อขาย นอกจากการเลี้ยงวัวแล้ว มีการนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ มีการสร้างรายในในชุมชน ชุมชนมีงานทำลดการเคลือนย้ายไปทำงานรับจ้างในกรุงเทพ หรือต่างจังหวัดและเกิดการพบปะของคนในชุมชนมากขึ้น

“นี่คือ อว.เพื่อประชาชน นี่คืออุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคเพื่อประชาชน ในการนำวิทยาศาตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยเกษตรกรให้มีรายได้เพิ่มขึ้น มีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ผมขอให้เกษตรกร ผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่รายย่อยเข้ามาใช้บริการอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคที่มีอยู่ทั่วประเทศ และผมจะนำผู้เข้าร่วมโครงการ U2T for BCG มาเข้ารับการบ่มเพาะเพื่อเป็นผู้ประกอบการให้มากขึ้น เพื่อช่วยพัฒนาเศรษฐกิจให้กับประเทศต่อไป” ดร.ดนุช กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image