‘ชัชชาติ’ ชงสภากทม. ‘เก็บ 15 บาท’ ส่วนต่อขยาย2 – ขอรัฐหนุนค่าก่อสร้าง ยันปมต่อสัมปทาน ไม่ควรอิงคำสั่ง คสช.

‘ชัชชาติ’ ชงสภา กทม. เก็บ 15 บาท ส่วนต่อขยาย 2 สายสีเขียว คาดเริ่ม ธ.ค. – ขอรัฐหนุนค่าก่อสร้าง ยัน ไม่ควรต่อสัมปทาน อิง คำสั่ง คสช.

เมื่อเวลา 11.50 น. วันที่ 25 ตุลาคม ที่ห้องประชุม ชั้น 19 อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลัง การประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 23/2565 เรื่อง การให้สภา กทม.พิจารณาอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 แบริ่ง-เคหะสมุทรปราการ และหมอชิต-คูคต และการขอความเห็นตอบกลับทางกระทรวงมหาดไทย ในวันพรุ่งนี้ (26 ตุลาคม)

นายชัชชาติกล่าวว่า เรื่องที่จะเสนอในสภา กทม.นั้นจะมีอยู่ 2 เรื่อง เรื่องแรกกรณีเก็บค่าโดยสารของส่วนต่อขยายส่วนที่ 2 โดย กทม.เสนอให้จัดเก็บค่าโดยสาร 15 บาทตลอดสาย ซึ่งหากสภา กทม.รับทราบ จะมีการสั่งการต่อไปยัง บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด หรือ เคที ให้มีการจัดเก็บค่าโดยสาร ซึ่งทางเคทีจะแจ้งกับ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพจำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี โดยจะใช้ระยะเวลาประมาณ 1 เดือนนับจาก สภา กทม.รับทราบ คาดว่าจะเก็บค่าโดยสารได้ในเดือน ธันวาคม 2565

“ปัจจุบันมีการนั่งฟรี การเพิ่มราคาขึ้น จะเห็นได้ว่าเพิ่มไปกว่านี้ไม่ได้แล้ว มีแต่ลดลง จะทำให้มีการคำนวณรายได้ในระดับหนึ่ง แต่ให้ราคานี้ทดสอบไปก่อน อาจจะมีการปรับอีกทีหนึ่ง แต่อย่างน้อยให้สภารับทราบก่อน” นายชัชชาติกล่าว

นายชัชชาติกล่าวต่อว่า เรื่องที่ 2 การตอบกลับหนังสือขอความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ของกระทรวงมหาดไทย เมื่อสภา กทม.ให้ความเห็นแล้ว จะมีการตอบกลับหนังสือ ต่อไป

Advertisement

ทั้งนี้ ฝ่ายบริหารมีความเห็นอยู่ 2 ประเด็น คือ 1.ไม่ควรมีการต่อสัมปทาน โดยคำสั่งคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คำสั่ง คสช.) ที่ 3/2562 แต่ควรต่อสัมปทานโดยใช้วิธีการตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 เพราะมีตัวแทนจากหลายหน่วยงานมาร่วมพิจารณา

ประเด็นที่ 2.ขอให้รัฐบาลกลางเป็นผู้อุดหนุนค่าก่อสร้างงานโยธา ส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงเนื่องจากรถไฟฟ้าสายอื่นๆ ก็ได้รับการอุดหนุนค่าก่อสร้างงานโยธาเช่นกัน

Advertisement

“รถไฟฟ้าทุกสายก็ช่วยโครงสร้างพื้นฐานหมด ถ้าโยนมาให้ประชาชนเป็นผู้ออกค่าโครงสร้างพื้นฐาน จะทำค่าโดยสารสูง แต่ถ้ารัฐช่วยออกจะให้ประชาชนสามารถจ่ายค่าโดยสารถูกลง รัฐบาลได้รับเงินกลับมาในรูปแบบภาษี แต่ถ้าโยนภาระให้ กทม. กทม.ก็ต้องเอาตรงนี้ไปคิดเป็นค่าโดยสาร ก็ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น” นายชัชชาติกล่าว

ด้าน รศ.ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวเสริมว่า ในการขออุดหนุนค่าก่อสร้างงานโยธานั้น เป็นกรณีปกติของการก่อสร้างรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ซึ่งปัจจุบันค่าก่อสร้างงานโยธา รถไฟฟ้าส่วนต่อขยายส่วนที่ 2 กทม.รับโอนหนี้จากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ประมาณ 5.9 หมื่นล้านบาท รวมดอกเบี้ย

รศ.ดร.วิศณุกล่าวอีกว่า หากรัฐบาลไม่เห็นด้วยในการอุดหนุน กทม.มีแนวทางคือ การเจรจาเพื่อที่จะโอนรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งเส้นให้กับรัฐบาล โดยมีเงื่อนไขบางประการ เช่น ของบประมาณชดเชย กำหนดเพดานค่าโดยสาร เป็นต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image