สธ.เผยข้อเสนอพัฒนาบุคลากรสาธารณสุขต่างด้าว ช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการของแรงงาน

สธ.เผยข้อเสนอพัฒนาบุคลากรสาธารณสุขต่างด้าว ช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการของแรงงาน

วันนี้ (30 ตุลาคม 2565) นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง (นายแพทย์ทรงคุณวุฒิระดับ 11) และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า จากข้อมูลของกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน ปี 2562 ประเทศไทยมีแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานทั่วราชอาณาจักร 3 ล้านกว่าคน ซึ่งกลุ่มแรงงานต่างด้าวมักมีปัญหาในการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพและไม่ได้รับบริการสุขภาพที่ได้มาตรฐาน รวมถึงมีความรอบรู้ด้านสุขภาพต่ำ เนื่องจากปัจจัยความแตกต่างด้านภาษาและวัฒนธรรม ทั้งนี้ ในการจัดบริการที่เป็นมิตรสำหรับคนต่างด้าว เน้นการดำเนินงาน 4 ด้าน คือ การพัฒนาระบบบริการ การพัฒนาบุคลากร การบริหารจัดการ และสิ่งสนับสนุน ซึ่งที่ผ่านมา มีการอบรมพนักงานสาธารณสุขต่างด้าว (พสต.) และอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) ในการดูแลช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวให้เข้าถึงระบบบริการสุขภาพที่เป็นมิตร

“โดยมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ได้ทำการศึกษาวิจัยเรื่อง “ปัจจัยจากระบบสุขภาพที่ส่งผลต่อการเข้าถึง ความเข้าใจและการประเมินข้อมูลสุขภาพของพนักงานและอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว ภายใต้การบริการที่เป็นมิตรสำหรับคนต่างด้าว : กรณีศึกษาจังหวัดสมุทรสาครและระนอง” เพื่อวิเคราะห์การดำเนินงาน พสต.และ อสต. พบว่า ประเทศไทยมีพัฒนาการเรื่อง พสต. และ อสต. มาอย่างยาวนาน เพื่อลดช่องว่างการสื่อสารและความแตกต่างด้านสังคมวัฒนธรรม ประเด็นสำคัญในการพัฒนาขีดความสามารถ คือ ความรอบรู้สุขภาพที่จะเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมสุขภาพในแรงงานต่างด้าวได้ โดยพบว่า พสต. มีความรอบรู้สุขภาพมากกว่าแรงงานต่างด้าวทั่วไปจากการอบรมและดูแลติดตาม/เป็นพี่เลี้ยงที่เข้มข้นกว่า ทำให้มีโอกาสได้รับข้อมูลสุขภาพจากเจ้าหน้าที่มากกว่า ซึ่งการพัฒนาขีดความสามารถของ พสต. และ อสต. ที่ผ่านมา มีจุดเด่นเรื่องหลักสูตรกลางที่เป็นมาตรฐานและการสนับสนุนสื่อในการพัฒนาขีดความสามารถ รวมถึงบางหน่วยงานคัดเลือก พสต. และ อสต. จากแรงจูงใจในการทำงานที่ไม่ใช่ตัวเงินร่วมด้วย เช่น ความเป็นจิตอาสา และความต้องการที่จะมีความรู้ด้านสุขภาพ” นพ.รุ่งเรือง กล่าว

โฆษก สธ. กล่าวว่า สำหรับจุดที่ต้องพัฒนาในการดำเนินการ คือ ความไม่แน่นอนของงบประมาณ ขาดระบบการติดตามและประเมินผลขีดความสามารถ โดยมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย คือ 1.ภาครัฐ โดยเฉพาะ สธ. ควรกำหนดแหล่งงบประมาณในการจ้าง พสต. ให้ชัดเจน กำหนดขีดความสามารถขั้นพื้นฐานที่ พสต. และ อสต. ควรมี เช่น ทักษะด้านภาษา ความเข้าใจศัพท์ทางการแพทย์ ทักษะการสื่อสาร ความเข้าใจความแตกต่างเรื่องสังคมวัฒนธรรม และความรอบรู้สุขภาพ เพื่อให้คัดเลือกคนที่มีคุณสมบัติตรงกับความต้องการ ช่วยลดปัญหาการขาดแคลน และเพิ่มความยั่งยืนของระบบ เช่น จ้างงาน พสต. ที่เป็นบุคลากรทักษะสูงจากประเทศต้นทาง 2.ควรวางแผนการอบรมและติดตามการทำงานของ พสต. และ อสต.อย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ และ 3.ควรให้ความสำคัญกับแรงจูงใจที่ไม่ใช่ตัวเงิน ในการจูงใจให้ พสต. และ อสต. อยู่ในระบบ เช่น การได้รับการยอมรับในชุมชน การให้สิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพและสวัสดิการ และการส่งเสริมให้พัฒนาขีดความสามารถตนเอง เช่น เปิดโอกาสให้เข้ารับการอบรมพัฒนาเป็นบุคลากรสุขภาพในระดับสูงขึ้นไปได้ เป็นต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image