อนุทิน เผยไทยรับการประเมินสมรรถนะตามกฎอนามัยระหว่าง ปท. ครั้งที่ 2 ใช้บทเรียนโควิดร่วม

อนุทิน เผยไทยรับการประเมินสมรรถนะตามกฎอนามัยระหว่าง ปท. ครั้งที่ 2 ใช้บทเรียนโควิดร่วม

วันนี้ (1 พฤศจิกายน 2565) ที่โรงแรม รอยัล ออร์คิด เชอราตัน นายอนุทิน ชาญวีรกูล
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.ณรงค์ สายวงศ์ รองปลัดสธ. นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ดร.ซามีรา อาสมา ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ องค์การอนามัยโลก ประจำสำนักงานใหญ่ นครเจนีวา และผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย
เปิดการจัดประเมินการปฏิบัติตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ โดยผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลก International Health Regulations Joint External Evaluation (IHR-JEE)

 

นายอนุทิน กล่าวว่า การระบาดของโรคโควิด-19 ช่วงที่ผ่านมา เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศที่ใหญ่ที่สุด แต่ประเทศไทยสามารถควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากมีศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้รับการประเมินโดยใช้เครื่องมือระดับสากลที่หลากหลาย เป็นประเทศแรกของโลกที่มีการดำเนินการ Intra Action Review (IAR) และเป็นประเทศที่ 3 ของโลก ที่ประสบผลสำเร็จในการทบทวนการเตรียมพร้อมกรณีภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขและสุขภาพถ้วนหน้า (UHPR) โดยองค์การอนามัยโลก เพื่อนำข้อเสนอแนะมาปรับใช้ในการปฏิบัติงานและเพิ่มขีดความสามารถ รวมถึงเตรียมความพร้อมและรับมือกับโรคระบาดใหญ่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้

Advertisement

“ขณะนี้พ้นการระบาดใหญ่แล้ว จึงเป็นเวลาที่เหมาะสมในการประเมินระบบสาธารณสุขของไทย
ภายใต้การปฏิบัติตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ (IHR) โดยในครั้งนี้ได้นำประสบการณ์ในการรับมือโรคโควิด -19 มาใช้ในการประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลกด้วย สำหรับการประเมิน IHR จะเกี่ยวข้องกับ
18 กระทรวง จากทั้งหมด 20 กระทรวง ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รับทราบถึงความสำคัญของการประเมินแล้ว และผลลัพธ์ที่ได้จากการประเมินครั้งนี้จะเป็นข้อมูลสำคัญในการพัฒนางานสาธารณสุขของไทยตามกฎอนามัยระหว่างประเทศต่อไป” นายอนุทิน กล่าว

Advertisement

ด้าน นพ.ธเรศ กล่าวว่า ประเทศไทยได้ปฏิบัติตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ พ.ศ.2548 (International Health Regulations: IHR 2005) ซึ่งเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศ เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่
15 มิถุนายน 2550 โดย ครม.กำหนดให้ทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ต้องมีการดำเนินการที่มีศักยภาพ
ตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ และการเตรียมความพร้อมสำหรับภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข โดยประเทศไทยประสบความสำเร็จอย่างดีในการรับการประเมินสมรรนะ IHR JEE รอบแรก เมื่อวันที่ 26-30 มิถุนายน 2560

“ส่วนการประเมินครั้งที่ 2 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม – วันที่ 4 พฤศจิกายน 2565 จะใช้เครื่องมือประเมินสมรรถนะ IHR-JEE ฉบับที่ 3 ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้นำบทเรียนในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มาปรับปรุง เพื่อช่วยเพิ่มคุณภาพในการประเมินสมรรถนะการเตรียมความพร้อมของประเทศต่างๆ โดยมีประเด็นทางเทคนิคที่จะต้องประเมิน 19 ด้าน เท่าเดิม แต่มีการแยก ยุบรวม หรือปรับแก้คุณลักษณะบางประการให้เหมาะสมยิ่งขึ้น เช่น แยกประเด็นทางเทคนิคด้านเครื่องมือทางกฎหมาย และประเด็นทางเทคนิคการเงินออกจากกัน ยุบประเด็นทางเทคนิคด้านการรายงานไปไว้กับประเด็นทางเทคนิคด้านการประสานงานกฎอนามัยระหว่างประเทศ รวมประเด็นทางเทคนิคด้านการเตรียมพร้อมในกรณีฉุกเฉินและประเด็นทางเทคนิคด้านศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน เป็นประเด็นเทคนิคด้านการจัดการเหตุฉุกเฉินด้านสุขภาพ เป็นต้น โดยกำหนดตัวชี้วัดเพิ่มขึ้นจาก 49 เป็น 56 ตัวชี้วัด และทดลองใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเข้าช่วยประเมินในครั้งนี้เป็นครั้งแรกของโลกด้วย” นพ.ธเรศ กล่าวและว่า ปัจจัยสำคัญหนึ่ง ที่ทำให้ประเทศไทยสามารถรับมือกับโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ การทำงานร่วมกับองค์การอนามัยโลกและประเทศสมาชิก ตามข้อกำหนด IHR อย่างเข้มแข็งมาต่อเนื่อง ซึ่งการรับการประเมินครั้งนี้ มีผู้แทนกระทรวงต่างๆ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย องค์กรพัฒนาเอกชน และเครือข่ายเข้าร่วมให้ข้อมูลกับทีมผู้เชี่ยวชาญองค์การอนามัยโลก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image